xs
xsm
sm
md
lg

นักการทูตรัสเซียชี้! สหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญา INF เพราะต้องการสร้างระบบอาวุธข่มขู่ ‘จีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุเมื่อวันจันทร์ (8 ก.ค.) ว่าการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมกองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty - INF) ที่ทำร่วมกับรัสเซียไว้ตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ก็เพื่อที่จะเปิดทางให้ตัวเองสามารถพัฒนาอาวุธไว้ข่มขู่ “จีน”

สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในปี 2018 ว่าจะนำอเมริกาถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF ที่ลงนามโดยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐฯ และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1987 โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้ 2 มหาอำนาจประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอีกบางประเภท

ต่อมา วอชิงตันได้ประกาศถอนตัวจาก INF อย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. ปี 2019

รยาบคอฟ ให้สัมภาษณ์กับ International Life ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ทางการของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเหตุผลที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเช่นนั้น “ได้ถูกเปิดเผย และมีความชัดเจนจนปฏิเสธไม่ได้”

“ชาวอเมริกันจำเป็นต้องถอนตัวจากสนธิสัญญาฉบับนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างระบบอาวุธไว้ข่มขู่สาธารณรัฐประชาชนจีน... และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราต้องมาพูดคุยกันอย่างจริงจังเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อเมริกาจะเริ่มประจำการขีปนาวุธพิสัยกลาง (medium-range weapons) ในเอเชีย-แปซิฟิกที่ไหนและเมื่อไหร่ แน่นอนว่าที่ยุโรปด้วย... แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือในเอเชีย-แปซิฟิก”

รยาบคอฟ ระบุด้วยว่า รัสเซียและจีนมองว่าการนำระบบอาวุธพิสัยใกล้และปานกลางของสหรัฐฯ เข้ามาประจำการในเอเชีย-แปซิฟิกย่อมมีจุดประสงค์ “เชิงยุทธศาสตร์” (strategic) โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากอาวุธเหล่านี้สามารถยิงโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียและจีนได้

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น