องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) มีคำสั่งวานนี้ (8 ก.ค.) ให้ดำเนินการตรวจสอบเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 2,600 ลำ หลังพบปัญหาเกี่ยวกับสายรัด (retention strap) ที่อาจส่งผลให้หน้ากากออกซิเจนไม่ทำงานในกรณีฉุกเฉิน
FAA มีคำสั่งตรวจสอบเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 MAX และ Next generation หลังได้รับรายงานเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าเครื่องผลิตออกซิเจนตรงที่นั่งผู้โดยสารหลุดออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถปล่อยออกซิเจนให้ผู้โดยสารได้ในกรณีที่แรงดันอากาศลดลง
หลังจากที่ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังสายการบินต่างๆ ให้ทำการตรวจสอบด้วยสายตาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดโบอิ้งแถลงเมื่อวันจันทร์ (8) ว่าได้แจ้งให้สายการบินลูกค้าทำการปรับเปลี่ยนสายรัดเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับเครื่องบินรุ่น 737 หลังมีนำกาวชนิดใหม่มาใช้เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2019 ซึ่งในบางกรณีทำให้เครื่องผลิตออกซิเจนขยับออกไปจากตำแหน่งเดิมประมาณ 0.75 นิ้ว
“เราได้เปลี่ยนกลับไปใช้กาวชนิดเดิมสำหรับเครื่องบินที่ส่งมอบใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องผลิตออกซิเจนจะติดตั้งตรงตำแหน่งที่เหมาะสม” โบอิ้ง ระบุ พร้อมเสริมว่าจากการตรวจสอบเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ รวมถึงเครื่องบินที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบ ไม่พบเครื่องผลิตออกซิเจนที่ทำงานล้มเหลวแต่อย่างใด
FAA ระบุว่า คำสั่งว่าด้วยความสมควรเดินอากาศ (airworthiness directive) นี้มีผลบังคับทันที และจะต้องมีการตรวจสอบแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 120-150 วันสำหรับกรณีของเครื่องบินโบอิ้ง 737 นอกจากนี้ FAA ยังห้ามไม่ให้สายการบินต่างๆ ติดตั้งชิ้นส่วนที่อาจจะมีข้อบกพร่องด้วย
ทั้งนี้ สายการบินต่างๆ จะต้องทำการตรวจสอบด้วยสายตา เปลี่ยนเครื่องผลิตออกซิเจนหรือสายรัดใหม่ และปรับตำแหน่งของเครื่องผลิตออกซิเจน หากพบว่ามีความจำเป็น
โดยเฉลี่ยแล้ว เครื่องบินโบอิ้ง 737 จะมีเครื่องผลิตออกซิเจนอยู่ 61 ตัว แต่ละตัวมีสายรัด 2 เส้น
ที่มา : รอยเตอร์