xs
xsm
sm
md
lg

คว่ำบาตรบ้อท่า! เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวรุ่งเรืองจน ‘เวิลด์แบงก์’ ปรับสถานะให้เป็น ‘ประเทศรายได้สูง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกใช้กับรัสเซียในช่วง 2 ปีกว่าๆ หลังเกิดสงครามในยูเครนดูเหมือนจะยังไม่สามารถบ่อนทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งเฟื่องฟูจัดถึงขนาดที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพิ่งประกาศปรับสถานะแดนหมีขาวให้เป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” (high-income country)

ธนาคารโลกได้ประกาศอัปเกรดรัสเซียจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.ค.) ตามรายงานจากทีมนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินแห่งนี้

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัสเซียได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางทหารในปี 2023” รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุ

ปีที่แล้ว พลเมืองรัสเซียมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 14,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวเมื่อวัดตามรายได้ประชาชาติ (GNI)

คำประกาศของเวิลด์แบงก์ถือเป็นการยืนยันข้อมูลจากฝ่ายรัสเซียที่ระบุว่า กิจกรรมการสู้รบเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยทำให้อุปสงค์ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และบริการต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมาก และช่วยให้อุตสาหกรรมบางภาคส่วนของรัสเซียกลายเป็น “ผู้ชนะ” ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จากเศรษฐกิจในช่วงสงคราม

มูลค่าการค้าของรัสเซียขยับเพิ่มขึ้นเกือบ 7% ในปีที่แล้ว ขณะที่กิจกรรมในภาคการเงินและการก่อสร้างก็เติบโต 6.6% และ 3.6% ตามลำดับ

จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ GDP ที่แท้จริง หรือ real GDP ซึ่งหมายถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงโดยไม่นำผลของเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องของรัสเซียอยู่ที่ 3.6%

พัฒนาการเช่นนี้ส่งผลให้ชาวรัสเซียที่เคยมีฐานะยากจนบางคนลืมตาอ้าปากได้ด้วย และทำให้การประเมินว่าสงครามจะจบอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

ธนาคารโลกได้อัปเกรดสถานะให้กับ 7 ประเทศ รวมถึงดาวน์เกรดเวสต์แบงก์และกาซา ซึ่งนอกเหนือจากรัสเซียแล้วก็ยังมี “บัลแกเรีย” และ “ปาเลา” ที่ถูกเลื่อนสถานะจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (upper-middle-income countries) สู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ยูเครนเองก็ได้รับการปรับสถานะจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (lower-middle-income country) กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง หลังตัวเลข real DGP เติบโตถึง 5.3% จากที่เคยทรุดลงไปถึง 28.8% ในปี 2022

ที่มา : business insider
กำลังโหลดความคิดเห็น