พวกผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เลื่อนการตัดสินใจว่าควรออกหมายจับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโยอาฟ กัลแลนท์ รัฐมนตรีกลาโหมหรือไม่ ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามในกาซา ท่ามกลางเสียงเดือดดาลคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าวจากบรรดาชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
การเลื่อนการตัดสินใจในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากไอซีซีอนุญาตให้สหราชอาณาจักรยื่นข้อโต้แย้งทางกฎหมาย คัดค้านขอบเขตอำนาจศาลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
จากเอกสารของศาลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันพฤหัสบดี (27 มิ.ย.) สหราชอาณาจักรยื่นคำร้องกับไอซีซี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า "ศาลสามารถใช้ขอบเขตอำนาจเหนือพลเมืองอิสราเอลได้หรือไม่ เนื่องจากปาเลสไตน์ไม่สามารถใช้เขตอำนาจศาลกับพลเมืองชาวอิสราเอล ภายใต้ข้อตกลงออสโล"
ศาลไอซีซีกำลังดำเนินการสืบสวนคำกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่างๆ ในดินแดนของปาเลสไตน์ และโดยฝีมือของฝ่ายปาเลสไตน์ในดินแดนของอิสราเอล นับตั้งแต่ปี 2021 ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลแห่งนี้
ข้อโต้แย้งของสหราชอาณาจักรชี้ว่าในตอนนั้นศาลไอซีซีเคยวินิจฉัยว่า จำเป็นต้องมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสียก่อนเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของอิสราเอล ที่ว่าคำร้องขอเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีไอซีซีขององค์การปาเลสไตน์ ละเมิดข้อตกลงออสโลหรือไม่ เช่นเดียวกับตอนที่อัยการของศาลไอซีซีรายหนึ่งร้องขอออกหมายจับพลเมืองอิสราเอล
สหราชาอาณาจักรโต้แย้งว่าพวกเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ไม่อาจมีขอบเขตอำนาจศาลเหนือพลเมืองอิสราเอล ภายในเงื่อนไขของข้อตกลงออสโล และไม่สามารถถ่ายโอนขอบเขตอำนาจไปยังศาลไอซีซี เพื่อดำเนินคดีกับชาวอิสราเอล
"คำร้องของสหราชอาณาจักร ระบุว่าตามมาตรการ 19(1) ของธรรมนูญกรุงโรม จำเป็นต้องมีข้อสรุปในเบื้องต้นของขอบเขตอำนาจศาล เพื่อคลี่คลายประเด็นในการขอออกหมายจับใดๆ" ศาลไอซีซีระบุในวันพฤหัสบดี (27 มิ.ย.)
พวกผู้พิาพกษาระบุด้วยว่าศาลจะเปิดรับข้อโต้แย้งจากฝ่ายอื่นๆ คนให้ความสนใจในประเด็นทางกฎหมายจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม
อ้างอิงข้อมูลจากสื่อมวลชน การอนุมัติคำร้องของสหราชอาณาจักร อาจทำให้การตัดสินใจออกหมายจับพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลต้องเลื่อนออกไปเป็นเวลานานหลายเดือน ในขณะที่ คาริม ข่าน อัยการของไอซีซีเป็นคนยื่นขอออกหมายจับ เนทันยาฮู และกัลแลนท์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ข่าน แถลงในตอนนั้น ว่า เขาขอออกหมายจับ เนทันยาฮู และกัลแลนท์ สืบเนื่องจากต้องสงสัยอาชญากรรมต่างๆ "ที่ใช้การขุดรากถอนโคน ก่อความอดอยาก เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการทำสงคราม ในนั้นรวมถึงปฏิเสธการป้อนสิ่งของบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม และจงใจเล็งเป้าหมายเล่นงานพลเมืองในความขัดแย้ง"
คำแถลงดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากอิสราเอล และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีอิสราเอล ที่เรียกคำกล่าวหาของศาลที่มีต่ออิสราเอล ว่า "น่าเจ็บแค้นเป็นอย่างยิ่ง"
ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ว่า รัฐบาลของไบเดน มีความตั้งใจทำงานร่วมกับสภาคองเกรสในความเป็นไปได้ที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่ศาลไอซีซี ตอบโต้ที่อัยการของศาลแห่งนี้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับพวกผู้นำอิสราเอล
อิสราเอลประกาศสงครามกับฮามาส หลังจากพวกนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้เปิดฉากโจมตีเล่นงานทางใต้ของประเทศอย่างไม่ทันตั้งตัวในเดือนตุลาคม สังหารผู้คนไปมากกว่า 1,200 ราย และจับตัวประกันราว 250 คน ปฏิบัติการแก้แค้นของอิสราเอลก่อความเสียหายทำลายล้างเป็นวงกว้างในกาซา คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์มากกว่า 37,000 คน และอีกกว่า 86,000 ได้รับบาดเจ็บ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)