รัสเซียเชื่อไม่มีอะไรต่างจากเดิม และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังคงเป็นศัตรูของเครมลิน หลังจากรัฐสมาชิก 32 ชาติของพันธมิตรทหารแห่งนี้ แต่งตั้ง มาร์ค รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังพ้นจากตำแหน่ง นั่งเก้าอี้เลขาธิการใหญ่คนถัดไปของกลุ่ม มอบงานให้เขาในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง ในขณะที่มอสโกยังคงทำสงครามในยูเครนและศึกเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในสหรัฐฯ
รุตต์ จะเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตคนปัจจุบัน ในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากบรรดาชาติมหาอำนาจซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวหอก เห็นพ้องในการเสนอชื่อเขาก่อนการประชุมซัมมิตผู้นำนาโต ในกรุงวอชิงตัน ในเดือนหน้า
"รุตต์ คือนักประสานงานเข้มแอตแลนติกตัวจริง เป็นผู้นำที่เข้มแข็งและเป็นผู้สร้างฉันทมติ" สโตลเทนเบิร์กกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากบรรดาผู้แทนทูตนาโตอนุมัติการเสนอชื่อแต่งตั้ง รุตต์ "ผมรู้ว่าผมกำลังออกจากนาโต ที่อยู่ในความดูแลของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ"
ด้าน รุตต์ บอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับตำแหน่งต่อจากสโตลเทนเบิร์ก ที่รับผิดชอบกุมบังเหียนนาโตมานานนับทศวรรษ "พันธมิตรแห่งนี้เป็นและจะยังคงเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงร่วมของเรา การเป็นผู้นำขององค์กรแห่งนี้คือหน้าที่รับผิดชอบที่ผมจะทำเล่นๆ ไม่ได้"
รุตต์ ซึ่งกุมอำนาจในเนเธอร์แลนด์มานานกว่า 14 ปี และจะสิ้นสุดภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ถูกมองในฐานะมือที่ปลอดภัยที่มีศักยภาพดูแลนาโตก้าวผ่านช่วงเวลาอันสำคัญยิ่ง
การแต่งตั้งเขาได้รับเสียงขานรับด้วยความยินดีจากพวกผู้นำทั่วพันธมิตรทหารเก่าแก่ 75 ปี ในนั้นรวมถึง ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี ที่ระบุว่า รุตต์ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเสรีภาพและความมั่นคง ขณะที่ทำเนียบขาวบอกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เชื่อว่า รุตต์ จะเป็นเลขาธิการที่ยอดเยี่ยมของนาโต
นอกเหนือจากที่ รุตต์ วัย 57 ปี จะต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นาโตมาช้านานจะกลับคืนสู่ทำเนียบขาว เขายังต้องรับมือกับแนวโน้มภัยคุกคามจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
วังเครมลินระบุในวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่าการแต่งตั้ง รุตต์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่นาโต จะไม่ก่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ สำหรับรัสเซีย ซึ่งยังคงมองพันธมิตรทหารแห่งนี้ในฐานะศัตรู "ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่ตัวเลือกนี้จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกรอบทั่วไปของนาโต ณ เวลานี้ พันธมิตรแห่งนี้ยังคงเป็นศัตรูของเรา"
ในฐานะผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครน นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ที่กำลังพ้นจากตำแหน่ง เป็นหัวหอกในการผลักดันจัดหาเครื่องบินเอฟ-16 แก่เคียฟ เพื่อช่วยยูเครนตีโต้กลับการรุกรานของรัสเซีย และในฐานะเลขาธิการนาโต เขาจะมีบทบาทสำคัญระดมกำลังพันธมิตรให้เดินหน้าสนับสนุนยูเครนต่อไป และหาทางออกเกี่ยวกับความพยายามของเคียฟ ที่หวังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพันธมิตรทหารแห่งนี้
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เขียนบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า "เราคาดหมายว่า เราจะทำงานร่วมกันเพื่อรับประกันการปกป้องประชาชนและเสรีภาพทั่วประชาคมยูโร-แอตแลนติกทั้งมวลของเรา จะเดินหน้าไปด้วยอัตราที่ดี"
ปฏิบัติการโจมตียูเครนของรัสเซียในปี 2022 ได้ทำให้พันธมิตรทหารแห่งนี้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านั้นบ่อยครั้งนาโตมีปัญหาในด้านเจตจำนงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น และผลักดันให้ชาติยุโรปทั้งหลายยกระดับการใช้จ่ายด้านกลาโหม
เวลานี้ รุตต์ จำเป็นต้องรับประกันว่า นาโต จะต่อสู้จัดการกับภัยคุกคามจากรัสเซีย ที่มีแนวโน้มลากยาวต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า และขณะเดียวกันก็ต้องจับการการแผ่ขยายอิทธิพลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีน และยิ่งไปกว่านั้น เขาอาจต้องเผชิญบททดสอบหนักกว่าเดิม ความท้าทายในการรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันของพันธมิตรทหารแห่งนี้ หากว่า ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เคยมีรายงานว่า ทรัมป์ คิดถอนสหรัฐฯ มหาอำนาจด้านการทหารออกจากนาโต ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง แต่เขายอมลดราวาศอกลงไป หลังจากได้พูดคุยกับบรรดาผู้นำทั้งหลาย ในนั้นรวมถึง รุตต์
ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในคราวนี้ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่นาโตอีกรอบ ด้วยการบอกว่าเขาจะยุให้รัสเซียโจมตีประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช้จ่ายด้ายกลาโหมอย่างเพียงพอ
ที่ผ่านมา นาโต ขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ สโตลเทนเบิร์ก มาแล้ว 2 รอบ หลังประสบปัญหาในการหาคนมาแทนที่เขากว่า 2 ปี ด้วยเบื้องต้นพันธมิตรหลายชาติหวังแต่งตั้งผู้หญิงหรือใครบางคนจากยุโรปตะวันออกเข้ามาทำหน้าที่นี้
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว รุตต์ ก็ได้รับเลือก และเขาจะกลายเป็นชาวเนเธอร์แลนด์รายที่ 4 ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพันธมิตรทหารแห่งนี้ นับตั้งแต่ นาโต ถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต
(ที่มา : เอเอฟพี)