xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทอีวีจีนสามารถแบกรับภาษีที่อียูจัดเก็บเพิ่มขึ้นได้ -ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันยืนยัน พร้อมหยันปักกิ่งที่บอกจะไปฟ้อง WTO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา


รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น ซีกัล ซึ่งเป็นรุ่นราคาถูกที่สุดของค่ายบีวายดี ตั้งราคาขายกันที่คันละ 9,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในประเทศจีน (ภาพจาก Wikimedia Commons, Quzhouliulian)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Chinese EV firms can absorb EU tariffs: expert
By JEFF PAO
14/06/2024

ราคาหุ้นของพวกบริษัทรถยนต์ในยุโรปหล่นลงเป็นแถว สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องที่ว่า จีนจะตอบโต้เอาคืนอย่างไรบ้างกับกันการที่สหภาพยุโรปขึ้นภาษีศุลกากรเอากับรถอีวีนำเข้าจากแดนมังกร โดยที่เรื่องนี้ทั้งเยอรมนีและพวกบริษัทเยอรมนีต่างก็คัดค้านไม่เห็นด้วยกับอียู

อัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่สหภาพยุโรปบังคับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน แม้อยู่ในระดับปรับสูงขึ้นจากเดิมเยอะทีเดียว แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่โตอะไรต่อการนำเข้ารถอีวีจีนอยู่ดี ทั้งนี้ตามความเห็นของอดีตที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป (general counsel) แห่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the United States Trade Representative หรือ USTR)

พวกผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน สามารถแบกรับการขึ้นภาษีศุลกากรที่ไม่ได้สะดุดตาอะไรนักหนาคราวนี้ของอียู และยังคงสามารถทำผลกำไรในยุโรปได้ นี่เป็นความเห็นของ เกรตา เพช (Greta Peisch) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับหุ้นส่วน (partner) รายหนึ่งในฝ่ายแนวปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Practice) อยู่ที่สำนักงานกฎหมายอเมริกัน “วิลลีย์” (Wiley) ที่กล่าวระหว่างเธอให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์

“พวกบริษัทจีนกำลังขายรถอีวีของพวกเขาในประเทศจีนด้วยราคาซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งขายในยุโรป เมื่อคุณเอาราคาตั้ง 2 ตัวนี้มาเปรียบเทียบกัน เราย่อมพอจะมองเห็นได้ว่ามันมีช่องทางความเป็นไปได้มากมายทีเดียวสำหรับที่พวกบริษัทจีนจะแบกรับภาษีศุลกากรที่ถูกจัดเก็บสูงขึ้นเช่นนี้” เธอแจกแจง

“แม้กระทั่งถ้าหากภาษีที่ปรับขึ้นนี้ เกิดมีการขึ้นไปอย่างเต็มที่ นั่นคืออยู่ที่ราวๆ 38% พวกเขาก็จะยังคงสามารถขายรถอีวีของพวกเขาในยุโรป โดยได้อัตราผลกำไรในระดับเดียวกับที่พวกเขาจะทำได้ถ้าขายในประเทศจีน” เธอบอก

เธอมองว่า การที่ราคาของรถอีวีในตลาดจีนเวลานี้อยู่ในระดับที่ถูกกดลงจนต่ำเอามากๆเช่นนี้ ก็เพราะมีการสั่งสมเพิ่มความสามารถผลิตกันขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลานี้จีนไม่สามารถแบกรับได้หวาดไหวอีกต่อไปแล้ว เธอยกตัวอย่างว่า บริษัทบีวายดีขายรถอีวีรุ่นหนึ่งในจีนในราคาประมาณคันละ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2023 บีวายดีตั้งราคา [1] รถอีวี รุ่น ซีกัล (Seagull) ที่เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (ซับคอมแพกต์ subcompact) และเป็นรุ่นราคาถูกที่สุดของแบรนด์บีวายดี เอาไว้ที่คันละ 11,400 ดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับการจำหน่ายในจีน ซีกัล ให้พลังโดยเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 55 กิโลวัตต์ และมีแถวแบตเตอรีที่ปล่อยไฟฟ้าออกมาในระดับ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถวิ่งได้ 305-405 กิโลเมตรต่อการชาร์จแต่ละครั้ง ขณะที่แบตเตอรีที่ติดตั้งมาทำให้อีวีรุ่นนี้ชาร์จไฟได้สูงถึง 80% ภายในเวลา 30 นาทีเท่านั้น

เมื่อเดือนที่แล้ว บีวายซีเสนอขาย [2] รถอีวี ซีกัล ของตนที่อยู่ในเอดิชั่น ออเนอร์ (Honor Edition) ราคาคันละ 9,700 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้นในเมืองจีน รายงานของพวกสื่อมวลชนบอกว่า บริษัทวางแผนนำเอารถรุ่น ซีกัล นี้ไปเปิดตัวในยุโรป ทว่าจะตั้งราคาเอาไว้ที่คันละประมาณ 20,000 ยูโร (21,475 ดอลลาร์สหรัฐฯ) กระนั้นก็ยังราคาถูกกว่าพวกรถอีวียุโรปรุ่นใกล้เคียงกัน ซึ่งตอนนี้ตั้งราคา [3] กันที่ราวๆ คันละ 25,000 ถึง 30,000 ยูโร

ในความเป็นจริงแล้ว ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเอากับรถอีวีนำเข้าของค่ายบีวายดีในอัตรา 17.4% เท่านั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นข่าวดีจนทำให้หุ้นของบีวายดีซึ่งซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง พุ่งขึ้นไป 5.82% สู่ระดับราคา 232.8 ดอลลาร์ฮ่องกง (29.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อหุ้น ในวันที่ 13 มิถุนายน และมีส่วนทำให้ดัชนีหุ้นหั่งเส็ง ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญของตลาดฮ่องกง ยังคงสามารถขยับสูงขึ้นไปได้ 0.97% ในวันนั้น ไปอยู่ที่ระดับ 18,112

เสียงคัดค้านจากเยอรมนี

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเปิด [4] การสอบสวนเป็นระยะเวลา 13 เดือน ในประเด็นที่ว่ามาตรการอุดหนุนต่างๆ ของภาครัฐแดนมังกร ได้ช่วยเหลือทำให้พวกผู้ผลิตรถอีวีจีนประสบชัยชนะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในยุโรปไปได้สำเร็จในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาหรือเปล่า ทั้งนี้ EC ยังมีอำนาจที่จะประกาศบังคับใช้อัตราภาษีต่อต้านการอุดหนุนเป็นการชั่วคราว (provisional anti-subsidy duties) ได้ หลังจากการสอบสวนเริ่มต้นไปได้เป็นเวลา 9 เดือน

EC ประกาศในวันที่ 12 มิถุนายน [5] ว่า พวกเขาได้ “ข้อสรุปเป็นการชั่วคราวแล้ว” ว่าบริษัทผู้ผลิตรถอีวีจีนจะต้องเจอการขึ้นภาษีศุลกากรตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นไป หากการเจรจาหารือกับทางพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีน ไม่สามารถนำไปสู่หนทางแก้ไขที่มีประสิทธิผล

ตามการตัดสิน “ชั่วคราว” ของ EC คราวนี้ พวกผู้ผลิตรถอีวีจีนที่ให้ความร่วมมือกับการสอบสวน จะถูกเก็บภาษีสูงขึ้นเฉลี่ยแล้ว 21% ขณะที่พวกซึ่งไม่ให้ความร่วมมือจะถูกเก็บในอัตรา 38.1%

ทั้งนี้ ภาษีเพิ่มพิเศษนี้จะจัดเก็บจากรถอีวีนำเข้าของบีวายดีในอัตรา 17.4% , ของค่ายจีลี่ 20%, และของค่าย เอสเอไอซี 38.1% โดยเป็นการบวกเพิ่มจากอัตราภาษีศุลกากร 10% ซึ่งอียูจัดเก็บจากรถยนต์นำเข้าอียูทุกๆ คันอยู่แล้ว นี่จึงหมายความว่า ผู้ผลิตอีวีจีนบางรายอาจจะเจอกับภาษีศุลกากรในอัตรา 48.1% กันเลยทีเดียว

สำหรับพวกบริษัทรถยนต์ที่ไม่ได้เป็นบริษัทจีน ทว่าผลิตอีวีบางส่วนในประเทศจีนนั้น ก็จะได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในกรณีของ เทสลา อาจจะเจอกับ “อัตราภาษีที่คำนวณออกมาแบบเป็นเฉพาะราย” สืบเนื่องจากบริษัทแห่งนี้ได้ยื่นเรื่องขอเป็นพิเศษเอาไว้

รายงานของพวกสื่อมวลชนระบุ [6] ว่า เยอรมนีได้ใช้ความพยายามเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เพื่อขอร้อง EC ให้คงอัตราภาษีศุลกากรสำหรับรถอีวีเอาไว้ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการจุดชนวนให้จีนตอบโต้แก้เผ็ด

กระทั่งหลังการประกาศของ EC ในวันที่ 12 มิถุนายน รัฐมนตรีขนส่ง โวลเกอร์ วิสซิง (Volker Wissing) ของเยอรมนี ได้โพสต์ข้อความ [7] ทางแพลตฟอร์ม X ว่า “การขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อเป็นมาตรการลงโทษของทาง EC เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนบรรดาบริษัทเยอรมนีตลอดจนพวกผลิตภัณฑ์ระดับท็อปของพวกเขา”

ขณะที่บริษัทเยอรมนีหลายรายระบุว่า พวกเขาวิตกกังวลว่าการขึ้นภาษีศุลกากรของอียูคราวนี้ จะสร้างผลพ่วงต่อเนื่องอย่างรุนแรงให้แก่เศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งพึ่งพาอาศัยการส่งออกอย่างสูง

เกรตา เพช ผู้บริหารระดับหุ้นส่วนรายหนึ่งในฝ่ายแนวปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ อยู่ที่สำนักงานกฎหมายอเมริกัน “วิลลีย์”  ซึ่งในอดีตเคยที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป แห่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ภาพจาก Wiley.law)
เพช ซึ่งบทบาทสำคัญๆ ของเธอในตอนที่ทำงานอยู่กับ USTR นั้น รวมไปถึงการร่วมมือประสานงานกับพวกหุ้นส่วนยุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีศุลกากรเพื่อจัดการกับสิ่งที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นปัญหาความสามารถผลิตล้นเกินองจีน ให้ความเห็นกับเอเชียไทมส์ว่า เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายข้อใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เยอรมนีและพวกบริษัทเยอรมนีพากันคัดค้านเรื่องที่อียูเพิ่มภาษีศุลกากรเอากับรถอีวีจีน

“บริษัทเยอรมนีจำนวนมากได้ไปทำการลงทุนขนาดมหึมากันในประเทศจีน และจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ว่าพวกเขาย่อมมีความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินการด้านภาษีศุลกากรของอียู รวมทั้งเรื่องที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้อาจส่งผลอย่างไรต่อตลาดของพวกเขาในประเทศจีน” เธอบอก “พวกเขาต่างอยู่ในประเภทที่ทึกทักเอาไว้ว่า จีนกำลังจะดำเนินการตอบโต้แก้เผ็ดอยู่รอมร่อแล้ว”

“แต่ในความเห็นของดิฉันแล้ว ทั้งเยอรมนีและพวกบริษัทเยอรมนีออกจะสายตาสั้นไปหน่อย เพราะดิฉันคิดว่าถึงยังไงจีนก็ต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากพวกผู้ขายชาวยุโรปเหล่านี้ในตลาดของจีนเอง ขณะเดียวกับที่พยายามสอดแทรกเข้าไปในตลาดของอียู” เธอกล่าวต่อ “ในระยะสั้น พวกผู้ผลิตเยอรมนีเหล่านี้ยังคงสามารถทำงานได้มากมายในประเทศจีน แต่พวกเขายังจะได้รับการต้อนรับในแดนมังกรอีกหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายๆ ปี?”

เธอแนะนำว่าพวกบริษัทเยอรมนีควรที่จะวางแผนเอาไว้สำหรับการพัฒนาระยะยาวของพวกเขา ก่อนที่ประเทศจีนจะเริ่มต้นนำเอาประดาเพลเยอร์ท้องถิ่นเข้ามาแทนที่พวกเขา

หุ้นของพวกบริษัทรถยนต์ยุโรปพากันร่วง [8] ทั้งในวันที่ 12 และ 13 มิถุนายน สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องที่ว่าจีนอาจจะตอบโต้ภาษีใหม่ของอียูกันอย่างไรต่อไป

การตอบโต้ของประเทศจีน

ในวันที่ 13 มิถุนายน ปักกิ่งประกาศว่าจะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อตอบโต้ หลังจากอียูตัดสินใจบังคับเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มจากรถอีวีจีน

“ฝ่ายจีนจะติดตามใส่ใจอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากนี้ไปของฝ่ายยุโรป และจะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันถูกต้องชอบธรรมของบรรดาบริษัทจีน” กระทรวงพาณิชย์แดนมังกรแถลงเช่นนี้ในวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะที่ หลิน เจี้ยน (Lin Jian) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน สำทับว่า [9] การสอบสวนเพื่อต่อต้านการอุดหนุนเช่นนี้ของอียู เป็นพฤติการณ์ตามแบบฉบับของลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ซึ่งเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริง ตลอดจนกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO)

“เราหนุนเร้าอียูให้สนใจรับฟังทัศนะที่สมเหตุสมผลและปราศจากอคติจากแวดวงหลากหลายต่างๆ, แก้ไขการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนในทันที, ยุติการพลิกผันประเด็นทางการค้าให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง, แก้ไขความเขม็งเกลียวทางเศรษฐกิจและทางการอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยผ่านการสนทนาและการปรึกษาหารือกัน, ตลอดจนหลีกเลี่ยงการทำอันตรายต่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และการสนทนาและความร่วมมือกันระหว่างจีนกับอียู” หลิน แถลง

ทางด้าน ซุน เสี่ยวหง (Sun Xiaohong) เลขาธิการสาขารถยนต์ ของหอการค้าจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (China Chamber of Commerce for Import and Export of Machinery and Electronic Products) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ [10] ไชน่าเดลี่ สื่อหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีนว่า จีนมีมาตรการตอบโต้เยอะแยะมากมายที่สามารถใช้แก้เผ็ดความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ของ EC ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ได้สอดคล้องกับหลักการต่างๆ ของ WTO

เขาบอกว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของอียูไร้เหตุผล และไม่เป็นผลดีสำหรับการพัฒนาการค้า เขากล่าวด้วยว่า ข้อเท็จจริงเรื่องที่ เทสลา กำลังได้รับการยกเว้นชั่วคราวจากการถูกเก็บภาษีเพิ่มคราวนี้ แสดงให้เห็นว่าอียูมุ่งตั้งเป้าใช้อัตราภาษีศุลกากรนี้เพื่อเล่นงานกิจการจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เขากล่าวต่อไปว่า จีนยังคงมีความปรารถนาที่จะเจรจากับอียูเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามการค้าแบบเต็มพิกัด

ขณะที่ เพช แสดงความคิดเห็นในการให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ โดยบอกว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนเลยว่า จีนจะตั้งข้อกล่าวและแสดงเหตุผลข้อโต้แย้งอย่างไรได้บ้าง ถ้าหากแดนมังกรจะยื่นคำร้องต่อทาง WTO เพื่อคัดค้านการดำเนินการทางภาษีศุลกากรของอียู

“เพียงแค่พูดว่า ‘ลัทธิกีดกันการค้า’ ยังไม่ได้ทำให้มัน (การขึ้นภาษีของอียู) ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ WTO” เธอบอก “พวกเขาจะต้องค้นหาแสดงให้เห็นวิธีการอย่างเฉพาะเจาะจง ในเรื่องที่ระบุว่าอียูไม่ได้กระทำตามกฎระเบียบเหล่านี้ และจากสิ่งที่เห็นกันอยู่ตรงหน้านี้ ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าวิธีการ (อย่างเฉพาะเจาะจงที่จีนสามารถใช้กล่าวหาอียูได้) จะเป็นยังไง”

เชิงอรรถ

[1] https://insideevs.com/news/663595/byd-seagull-ev-priced-11400-usd-gets-10000-orders-first-day/
[2] https://electrek.co/2024/03/06/byd-launches-cheaper-seagull-ev-9700-price/
[3] https://www.notebookcheck.net/Tesla-competitor-BYD-bringing-its-cheapest-Seagull-EV-to-Europe-as-Biden-prepares-to-slap-100-tariff-on-Chinese-cars.836193.0.html
[4] https://asiatimes.com/2023/09/trade-war-tech-war-chip-warev-war/
[5] https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_24_3231
[6] https://www.politico.eu/article/france-germany-conflict-eu-chinese-ev-electric-vehicle-duties/
[7] https://www.euractiv.com/section/electric-cars/news/german-car-industry-government-react-against-eu-ev-tariffs-as-bmw-faces-21-duty/
[8] https://www.swissinfo.ch/eng/european-auto-stocks-fall-on-uncertainty-over-china%27s-tariff-response/80579301
[9]https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202406/t20240613_11435680.html
[10] https://www.chinadaily.com.cn/a/202406/13/WS666a4766a31082fc043cc32d.html

(ภาพจากแฟ้ม) รถอีวีจำนวนมากของบีวายดี เข้าแถวรอการขนถ่ายลงเรือเพื่อส่งออก ณ ท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองซูโจว เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกขอ งจีน ในภาพนี้ซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024
หมายเหตุผู้แปล

หลังจากสหภาพยุโรปประกาศในวันที่ 12 มิถุนายน ขึ้นภาษีศุลกากรเป็นการชั่วคราวเอากับรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนแล้ว ทางฝ่ายจีนมีการเคลื่อนไหวสำคัญๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้หลายประการ จึงขอเก็บความรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ของสำนักข่าวรอยเตอร์ มาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้:


จีนกล่าวหาอียูเพิ่มความตึงเครียดไม่ยอมเลิก จนอาจจุดชนวนระเบิด‘สงครามการค้า’
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์

China says escalation by EU could trigger 'trade war'
By Joe Cash, Reuters
21/06/2024

สหภาพยุโรปอาจเป็นผู้จุดชนวนให้เกิด “สงครามการค้า” ขึ้นมา ถ้าพวกเขายังคงทำให้ความเขม็งเกลียวระหว่างอียูกับจีนบานปลายขยายตัวต่อไป กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเช่นนี้เมื่อวันศุกร์ (21 มิ.ย.) พร้อมกับกล่าวหาสหภาพยุโรปด้วยว่า กระทำการอย่างผิดกฎหมาย ในระหว่างดำเนินการสอบสวนมุ่งต่อต้านการอุดหนุน (anti-subsidy probe) เอากับพวกผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จีน ที่ดำเนินมาได้ 8 เดือนเต็มแล้ว

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EC) ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู ได้เสนอให้ขึ้นภาษีศุลกากรซึ่งจัดเก็บจากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศจีนในอัตราสูงสุดไม่เกิน 38.1 ถึงแม้ปักกิ่งแสดงการประท้วงคัดค้าน จนกำลังทำให้สายสัมพันธ์การค้าหล่นวูลลงไประดับต่ำสุดครั้งใหม่ และเกิดความเสี่ยงที่จะมีการดำเนินการลงโทษตอบโต้แก้เผ็ดกันไปมา

“ฝ่ายยุโรปยังคงทำให้ความเขม็งเกลียวทางการค้าบานปลายขยายตัวออกไป และอาจเป็นการจุดชนวนให้เกิด ‘สงครามการค้า’ ขึ้น” คำแถลงที่ถือว่าออกโดยโฆษกของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุ พร้อมกับบอกด้วยว่า “ความรับผิดชอบนั้นตกอยู่กับทางฝ่ายยุโรปโดยสิ้นเชิง”

คำแถลงฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมา ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนการเดินทางมาถึงปักกิ่งของรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี โรเบิร์ต ฮาเบค (Robert Habeck) โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าเขาจะมาอธิบายการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเมื่อเร็วๆ นี้ของทางอียู รวมทั้งพยายามที่จะขจัดปัดเป่าความเสี่ยงของการที่จะถูกจีนใช้มาตรการตอบโต้เอาคืน ซึ่งอาจสร้างอันตรายต่อธุรกิจต่างๆ ของเยอรมนี

อันที่จริง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา พวกผู้ผลิตรถยนต์จีน ได้หนุนเร้าปักกิ่งให้เล่นงานกลับ ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับพวกรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินของยุโรปที่นำเข้าแดนมังกร โดยเฉพาะพวกรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ๆ

ทั้งนี้ พวกผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนีจะเป็นพวกที่มีโอกาสถูกเล่นงานสูงที่สุด หากจีนตัดสินใจดำเนินการเคลื่อนไหวตอบโต้เอาคืนใดๆ โดยที่ยอดขายของพวกเขาเกือบหนึ่งในสามทีเดียว มาจากระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดมหึมามูลค่า 18.6 ล้านล้านดอลลาร์ของแดนมังกร เมื่อปีที่แล้ว

รถยนต์อียูส่งออกไปยังจีนรวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 19,400 ล้านยูโร (20,800 ล้านดอลลาร์) ในปี 2023 ขณะที่สหภาพยุโรปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนราวๆ 9,700 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ทั้งนี้ตามตัวเลขของหน่วยงานสถิติของอียู

ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งจีน (China Passenger Car Association) ระบุว่า ยุโรปส่งออกรถยนต์นั่งที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 2.5 ลิตรมายังจีนรวมทั้งสิ้น 196,000 คันในปี 2023 สูงขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า ถึงแม้ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2024 นี้ ยุโรปส่งออกรถยนต์ประเภทดังกล่าวมาแดนมังกรเป็นจำนวน 44,000 คัน ลดต่ำลง 12% จากระยะเดียวกันของปี 2023 ก็ตามที

เมื่อโฟกัสเฉพาะที่พวกผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนี นอกจากพวกเขาสามารถทำยอดขายถึงราว 30% ในประเทศจีนดังกล่าวข้างต้น เยอรมนียังเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตรขึ้นไปมายังจีนรายใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยตามข้อมูลด้านศุลกากรของจีนแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้ รถยนต์เยอรมนีเครื่องยนต์เบนซินกำลังแรงเช่นนี้ ถูกขนส่งมายังจีนเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์แล้ว

รถยนต์จากยุโรปนำเข้าสู่จีนรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ล้วนแล้วแต่เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ 2.5 ลิตรขึ้นไปของพวกผู้ผลิตเยอรมนี ได้แก่ รถเอสยูวี GLE Class และรถยนต์นั่ง S Class ของค่ายเมอร์ซิเดส เบนซ์ และรถรุ่นคาเยนน์ (Cayenne) ของค่ายปอร์เช่ ทั้ง 3 รุ่นนี้รวมกันมีสัดส่วนสูงเป็นกว่าหนึ่งในห้าของรถแบรนด์ยุโรปนำเข้าแดนมังกรในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ตามข้อมูลที่ติดตามและรวบรวมโดยธนาคาร ไชน่า เมอร์ชานต์ส แบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล (China Merchants Bank International)

จากนี้ “ดูเหมือนสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมาก็คือ ปักกิ่งจะขึ้นภาษีศุลกากรที่อาจจะสูงถึง 25% เอากับพวกรถยนต์ผลิตในยุโรปที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ขนาด 2.5 ลิตรขึ้นไป” นี่เป็นความเห็นของ จาค็อบ กุนเทอร์ (Jacob Gunter) หัวหน้านักวิเคราะห์ของ MERICS ซึ่งเป็นสถาบันด้านจีนศึกษา ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเบอร์ลิน

“ประการแรก มันจะแสดงให้พวกท่านผู้ชมภายในประเทศเห็นว่า รัฐบาลกำลังเล็งจุดมุ่งหมายตรงแน่วไปที่การค้าด้านรถยนต์ ในการตอบโต้กับการขึ้นภาษีของอียู ประการที่สอง มันจะสร้างความรู้สึกสำนึกถึงความเร่งด่วน ทำให้พวกผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนีส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักเพื่อให้การขึ้นภาษีเหล่านี้ถูกยกเลิกไป โดยผ่านวิธีการล็อบบี้ที่บ้าน (ที่เยอรมนีเอง)” เขากล่าวต่อ

จีนเรียกว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

อียูกำลังใช้นโยบายทางการค้าที่หันไปในทางปกป้องคุ้มครองตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากความวิตกกังวลกับโมเดลการพัฒนาของจีนที่โฟกัสอยู่ที่การผลิต และขับดันด้วยการระดมทุนโดยวิธีการกู้ยืมก่อหนี้ ซึ่งอาจทำให้ได้เห็นพวกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปท่วมท้นด้วยสินค้าแดนมังกรราคาถูก ขณะที่พวกกิจการจีนมองหาหนทางเพิ่มพูนยอดขายในต่างแดนสืบเนื่องจากอุปสงค์ความต้องการภายในบ้านตัวเองอ่อนตัว

ทว่าจีนวิจารณ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อพวกข้อกล่าวหาที่ว่ากิจการของแดนมังกรได้ผลประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนข้อกล่าวหาที่ว่าจีนมีปัญหาความสามารถผลิตล้นเกิน และโต้แย้งว่าการผงาดขึ้นมาได้ของพวกเขาในอุตสาหกรรมรถอีวีทั่วโลก ตลอดจนในด้านแผงวงจรแสงอาทิตย์ ตลอดจนเรื่องแบตเตอรีนั้น แท้ที่จริงแล้วมีแรงขับดันมาจากการสร้างนวัตกรรม และการมีห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์แบบ

“เมื่อตอนที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อัวร์ซูลา) ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประกาศว่า เธอจะสอบสวนยานยนต์พลังงานใหม่ของประเทศจีน ... ผมก็มีความรู้สึกแบบหยั่งรู้ขึ้นมาเลยว่ามันไม่ได้เป็นแค่ประเด็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย” เป็นคำกล่าวของ จาง เยี่ยนเซิน (Zhang Yansheng) หัวหน้านักวิจัย แห่งศูนย์เพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน (China Center for International Economic Exchanges)

“โดยส่วนตัว ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมเลยที่จะเริ่มต้นสงครามภาษีศุลกากรขึ้นมา เพียงด้วยการพิจารณาเรื่องอัตราการใช้สอยความสามารถผลิต และอุปสงค์ความต้องการที่ไม่เพียงพอเท่านั้น” เขากล่าวต่อ

“เราสามารถมองเห็นได้ว่า จีนได้นำเอานโยบายแพกเกจหนึ่งเข้ามาใช้อยู่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกระบุว่าเป็นเรื่อง ‘ความสามารถการผลิตล้นเกิน’ ดังนั้นในปีนี้, ปีหน้า, และในตลอดอีก 4 ปีข้างหน้า อัตราการใช้สอยความสามารถการผลิตของจีนจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ” เขาระบุ

ขณะที่คำแถลงของกระทรวงพาณิชย์จีนย้ำว่า ทางกระทรวงเชื่อว่าอียูไม่ได้กำลังเล่นตามกฎกติกา พร้อมกับกล่าวหาสหภาพยุโรปว่ากำลังใช้ “เครื่องมือสอบสวนเพื่อการกำหนดภาษีตอบโต้การอุดหนุน” (countervailing duties investigation tool) อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม, บกพร่องล้มเหลวไม่กระทำตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ด้วยการริเริ่มการสอบสวนเรื่องรถอีวีขึ้นมาอย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง, และ “กำลังข่มขู่และกำลังใช้อำนาจบังคับ” กิจการต่างๆ ของจีนให้ยอมส่งมอบข้อมูลข่าวสารอย่างเกินเลย

โดยที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือในวันที่ 20 มิถุนายน เหอ หยาตง (He Yadong) โฆษกของกระทรวงพาณิชย์จีน ได้ระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรป “เรียกร้องในลักษณะที่ตนเองได้รับมอบอำนาจ” ให้พวกผู้ผลิตรถยนต์จีนต้องส่งข้อมูลข่าวสารในจำนวนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต สำหรับการสอบสวนเพื่อการกำหนดภาษีต่อต้านการอุดหนุน” เมื่อถูกทางสถานีวิทยุแห่งรัฐของจีนสอบถามว่า ทางอียูได้หาทางที่จะล้วงความลับของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจีนหรือเปล่า

(ในการเก็บความรายงานข่าวนี้ ผู้แปลได้นำเอาข้อมูลจากข่าวอีกชิ้นหนึ่งชองสำนักข่าวรอยเตอร์ คือ เรื่อง Chinese automakers seek retaliatory tariffs on EU cars, state media reports เพิ่มเข้ามาด้วย)
กำลังโหลดความคิดเห็น