xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ห้ามจำหน่ายโปรแกรมต้านไวรัส Kaspersky ของรัสเซีย ชี้เป็นภัยคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ประกาศแผนห้ามจำหน่ายซอฟต์แวร์แอนติไวรัสที่ผลิตโดยบริษัท Kaspersky Lab ของรัสเซีย โดย จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าการที่มอสโกมีอิทธิพลครอบงำบริษัทดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Kaspersky อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงอย่างร้ายแรง

แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า การที่ซอฟต์แวร์ตัวนี้สามารถเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ ได้อาจเปิดโอกาสให้มันขโมยข้อมูลเซนซิทีฟต่างๆ หรือแม้กระทั่งติดตั้งมัลแวร์และชะลอการอัปเดตที่สำคัญๆ นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าของ Kaspersky ก็มีทั้งผู้บริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ตลอดจนหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล

“รัสเซียแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขามีศักยภาพ... และมีเจตนาที่จะแสวงหาประโยชน์จากบริษัทสัญชาติรัสเซียอย่าง Kaspersky เพื่อรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันเป็นอาวุธ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงจำเป็นต้องทำในสิ่งที่เราประกาศวันนี้” ไรมอนโด แถลงต่อสื่อมวลชน

ด้าน Kaspersky ได้ออกมาแถลงตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ โดยบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ “มีพื้นฐานอยู่บนข้อกังวลทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และทฤษฎี และไม่ได้เกิดจากการประเมินความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ Kaspersky อย่างครอบคลุม”

ทางบริษัทยังแถลงผ่านอีเมลด้วยว่า Kaspersky ไม่เคยทำกิจกรรมใดๆ ที่คุกคามความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา และจะเดินหน้าต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อปกป้องปฏิบัติการของบริษัทเอาไว้


สถานทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ ทว่าที่ผ่านมา Kaspersky ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นธุรกิจที่บริหารจัดการโดยเอกชน และไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย

ข้อจำกัดใหม่ต่อการจำหน่ายซอฟต์แวร์ของ Kaspersky ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการห้ามดาวน์โหลดห้ามอัปเดต ห้ามขายซ้ำ และห้ามการออกใบอนุญาตให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. หรือ 100 วันหลังจากที่สหรัฐฯ เผยแพร่คำสั่ง เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลามากพอที่จะแสวงหาซอฟต์แวร์ทางเลือกอื่นๆ มาใช้งาน

แหล่งข่าวชี้ว่า ผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นที่มีการนำซอฟต์แวร์ของ Kaspersky เข้าไปใช้งานร่วมด้วยก็จะถูกห้ามจำหน่ายเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะบังคับใช้บทลงโทษ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังได้เพิ่มชื่อหน่วยงานในสังกัด Kaspersky จำนวน 2 แห่งในรัสเซีย และอีก 1 แห่งในสหราชอาณาจักรลงในบัญชีดำ ‘entity list’ โดยกล่าวหาว่าองค์กรเหล่านี้ร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองทหารรัสเซียเพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น