คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนสูงสุดของยุโรป ชี้ชาวยูเครนที่หลบหนีการรุกรานของรัสเซียได้รับการเลือกปฏิบัติที่ “ดีกว่า” ผู้ลี้ภัยจากสงครามและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ พร้อมเรียกร้องให้รัฐสมาชิกมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ที่พลัดถิ่นฐานอย่างเท่าเทียมกัน
รายงานประจำปีของคณะกรรมาธิการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสีผิวของสภายุโรป (ECRI) ระบุว่า บรรดารัฐยุโรป “มีความพยายามอย่างน่าชื่นชม” ที่จะช่วยเหลือชาวยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการพบว่าผู้ลี้ภัยที่มาจากยูเครนยังคงถูกเลือกปฏิบัติแตกต่างกันตามเชื้อชาติ ตัวอย่างเช่น ที่พักอาศัยที่รัฐจัดหาให้แก่ชาวโรมา (Roma) ซึ่งถือสัญชาติยูเครนมักมีคุณภาพต่ำกว่าที่หาให้แก่พลเมืองยูเครนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเผชิญความยากลำบากไม่ต่างกัน
ในช่วงที่สงครามปะทุใหม่ๆ สหภาพแอฟริกา (African Union) เคยร้องเรียนว่าพลเมืองของชาติแอฟริกันในยูเครนถูกปฏิเสธสิทธิในการข้ามแดนเพื่อหนีภัยจากการสู้รบ
ECRI ให้ข้อมูลเสริมอีกว่า ศูนย์รับลงทะเบียนและให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนยังมีคุณภาพที่แตกต่างจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้ที่ขอลี้ภัยจากสถานที่อื่นๆ
“เราควรจะต้อนรับทุกคนจากทุกสถานที่ให้เหมือนกับที่ต้อนรับชาวยูเครน” โยฮัน ฟรีสเตด เลขาธิการบริหาร ECRI ระบุในงานแถลงข่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ชาวยูเครนได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลดีเป็นพิเศษเนื่องจากพวกเขา “ผิวขาว” ใช่หรือไม่? เบอร์ทิล คอตติเยร์ ประธาน ECRI ก็ตอบรับแบบอ้อมๆ ว่า “ถ้าเป็นคนที่เหมือนหรือคล้ายๆ กับเรา ทุกอย่างก็มักง่ายกว่าเสมอ”
ECRI ย้ำว่า ผู้ที่พลัดถิ่นฐานทุกคนควรได้รับการปกป้องและช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา
ตามข้อมูลของ ECRI อาชญากรรมความเกลียดชังที่กระทำต่อชาวยูเครนแม้จะมีอยู่บ้าง ทว่าในภาพรวมสังคมยุโรปยังคงยืนหยัดเคียงข้างคนยูเครน และการใช้ถ้อยคำโจมตี รวมถึงโดยนักการเมือง มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้พลัดถิ่นฐานจากภูมิภาคอื่นๆ มากกว่า
ปัจจุบันมีชาวยูเครนที่พลัดถิ่นฐานอยู่ทั่วยุโรปประมาณ 6 ล้านคน
รายงานฉบับนี้ยังพบว่า การแสดงความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว
“ชาวมุสลิมถูกโยนบาปจากเหตุโจมตีครั้งนี้ เพราะคนมักจะเหมารวมชุมชนมุสลิม และมองว่ามุสลิมเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง” ECRI ระบุ
หลายประเทศในยุโรปยังเผชิญกระแสต่อต้านชาวเซมิติก (anti-Semitism) ที่รุนแรงขึ้น โดยมีตั้งแต่การใช้ถ้อยคำเกลียดชัง การขู่สังหาร การทำลายอาคารสถานที่ของคนยิว และการทำร้ายร่างกายคนยิว
“การวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลไม่ถือว่าเป็นการต่อต้านชาวเซมิติกก็จริง แต่การเรียกร้องให้สังหารคนยิวนั้นใช่” ECRI ระบุ
ที่มา : รอยเตอร์