รัฐบาลญี่ปุ่นพบจำนวนผู้ติดเชื้อ “แบคทีเรียกินเนื้อ” ที่อันตรายและมีอัตราการตายสูงเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้
CNN รายงานว่า ตามข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบผู้ป่วยที่มีอาการช็อกจากพิษของสเตรปโตค็อกคัส (streptococcal toxic shock syndrome – STSS) มากถึง 977 ราย โดยกลุ่มอาการนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30%
สถิติของทางการญี่ปุ่นพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้แล้ว 77 คน ระหว่างช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในปีนี้ยังพุ่งทำลายสถิติ 941 คนในปีที่แล้ว และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติในปี 1999
ข้อมูลจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มอาการ STSS รวม 97 รายในปี 2023 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 6 ปี
STSS เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ยากทว่ามีอันตรายอย่างมาก โดยแบคทีเรียจะแพร่กระจายเข้าไปตามเนื้อเยื่อและกระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และอาเจียน รายที่อาการรุนแรงความดันโลหิตจะลดต่ำ มีภาวะบวมน้ำ (swelling) และอวัยวะภายในล้มเหลวพร้อมกันหลายส่วนเนื่องจากร่างกายเกิดสภาวะช็อก
“ต่อให้ได้รับการรักษาทันท่วงที STSS ก็ยังเป็นโรคที่อันตรายมาก โดยผู้ป่วยประมาณ 3 ใน 10 คนจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ” ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ระบุ
ผู้ป่วย STSS ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสกลุ่ม A ซึ่งทำให้เกิดอาการไข้และเจ็บคอในเด็ก ทว่าในบางเคสที่พบได้ยาก แบคทีเรียชนิดนี้อาจสร้างสารพิษซึ่งช่วยให้มันแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกจากพิษ (toxic shock) ได้
ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อแบคทีเรีย Strep A ยังอาจก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า (necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะ
CDC ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะนี้มักจะมีปัจจัยด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายมีความสามารถต่อสู้กับเชื้อได้น้อยลง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
อัตราการติดเชื้อ Strep A เคยลดน้อยลงในช่วงที่ทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดทางสังคมเพื่อควบคุมโควิด-19 แต่หลังจากที่มาตรการเหล่านี้ถูกผ่อนคลายลง หลายประเทศก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
เมื่อเดือน มี.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนการระบาดของโรค STSS โดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่นได้เผยแพร่รายงานประเมินความเสี่ยงที่พบว่า เคสผู้ป่วย “มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2023 และส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี”
ที่มา : CNN