xs
xsm
sm
md
lg

‘ซัมมิตสันติภาพ’เคียฟได้แค่ประณามรัสเซีย ไร้แผนยุติสงคราม-ไร้เจ้าภาพประชุมรอบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ (กลาง) เข้าร่วมวาระอภิปรายทั่วไป ในการประชุมซัมมิตสันติภาพในยูเครน ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.)
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – มหาอำนาจตะวันตกและพันธมิตรในที่ประชุมสุดยอดที่สวิตเซอร์แลนด์ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ไม่สามารถโน้มน้าวประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดให้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์สุดท้าย รวมทั้งยังไม่มีประเทศไหนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพซัมมิตครั้งต่อไป ด้านมอสโกได้ทีออกมาเย้ยในวันจันทร์ (17 มิ.ย.) ว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ที่จัดการหารือโดยไม่ให้แดนหมีขาวเข้าร่วม

มากกว่า 90 ประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นเวลา 2 วันที่รีสอร์ตบนเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) และแม้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ของยูเครนเรียกงานนี้ว่า “การประชุมซัมมิตสันติภาพ” แต่มอสโกกลับไม่ได้รับเชิญ

เวลาเดียวกัน การที่จีนปฏิเสธไม่เข้าร่วม ส่วนบราซิลก็ขอเข้าร่วมในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” เท่านั้น ขณะที่อีก 12 ชาติซึ่งแม้เข้าประชุมด้วย แต่งดลงนามในแถลงการณ์สุดท้าย โดยที่ประเทศเหล่านี้มีทั้ง อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และแอฟริกาใต้ เหล่านี้กลายเป็นการตอกย้ำว่า ซัมมิตครั้งนี้จะไม่ช่วยให้เคียฟบรรลุเป้าหมายในการโน้มน้าวพวกประเทศใหญ่ๆ ในกลุ่มชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และชาติกำลังพัฒนา ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกขานกันว่า “ซีกโลกใต้” (Global South) ให้ร่วมโดดเดี่ยวรัสเซีย

ด้านรัสเซียไม่พลาดโอกาสในการเย้ยหยันกิจกรรมนี้ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของทำเนียบเครมลิน กล่าวในวันจันทร์ว่า ผู้ที่ไปร่วมประชุมต่างไม่รู้ว่า ตัวเองกำลังทำอะไรและมีบทบาทอะไร

กระนั้น เห็นกันว่าที่ประชุมนี้ยังคงเปิดโอกาสให้ยูเครนสามารถโชว์ว่าได้รับสนับสนุนจากพวกพันธมิตรตะวันตก ซึ่งจำเป็นสำหรับการเดินหน้าสู้รบกับรัสเซียที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก

ผู้นำระดับประมุขประเทศหรือประมุขฝ่ายบริหาร ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มีอาทิ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา ส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสไปแทน แม้เซเลนสกี้ป่าวประกาศเชิญแกมกดดันอย่างเปิดเผยให้ไบเดนมาด้วยตนเองก็ตาม

สถานการณ์แนวรบในยูเครน ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก นับจากปลายปี 2022 แม้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตไปแล้วนับหมื่นนาย และถือเป็นการสู้รบนองเลือดที่สุดในยุโรปนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ระหว่างกล่าวปิดประชุม ประธานาธิบดีวิโอลา แอมเฮิร์ด ของสวิตเซอร์แลนด์ เตือนว่า หนทางข้างหน้ายังยาวไกลและท้าทาย

หลังจากยูเครนประสบความสำเร็จในช่วงต้นของสงคราม ด้วยการขับไล่การโจมตีของรัสเซียออกจากรอบเมืองหลวง อีกทั้งยึดดินแดนคืนได้จำนวนหนึ่งในปีแรกของสงคราม แต่แล้วการปฏิบัติการตอบโต้กลับครั้งใหญ่ของยูเครนเมื่อปีที่แล้วที่ใช้รถถังและอาวุธทันสมัยที่ตะวันตกบริจาคให้กลับจบลงด้วยความล้มเหลว ขณะที่รัสเซียยังคงยึดดินแดน 1 ใน 4 ของยูเครนและรุกคืบอีกครั้งอย่างช้าๆ

ยกเว้นการเจรจากันที่นครอิสตันบูล ของตุรกี ในช่วงต้นๆ ของสงคราม ซึ่งยุติลงด้วยความล้มเหลว ภายหลังยูเครนถอนตัวออกจากการพูดจา จากนั้นมาก็ยังไม่มีการเจรจาสันติภาพ หรือกระทั่งเจรจาหยุดยิงกันอีกเลย

เห็นได้ชัดว่า จากการที่การประชุมซัมมิตคราวนี้ ไม่มีแนวทางชัดเจนในการยุติสงคราม เซเลนสกี้จึงหันมาเน้นย้ำปัญหาเชิงปฏิบัติ เช่น ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ และการปกป้องซัปพลายอาหารจากยูเครน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนั้น แถลงการณ์สุดท้ายของที่ประชุม ได้เรียกร้องให้ยูเครนกลับเข้าเป็นผู้ควบคุมโรงงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซียและฟื้นฟูท่าเรือต่างๆ ในทะเลอาซอฟ ทว่างดแตะต้องประเด็นยากๆ เช่น ข้อตกลงหลังสงครามสำหรับยูเครนจะออกมาในลักษณะใด ยูเครนจะได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือไม่ หรือวิธีถอนทหารที่ได้ผลสำหรับทั้งสองฝ่ายควรเป็นอย่างไร

ผู้นำบางประเทศยังเดินทางกลับก่อน ขณะที่การเจรจาในวันอาทิตย์เปลี่ยนไปที่ประเด็นความปลอดภัยด้านอาหารและพลังงานนิวเคลียร์

รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย ขณะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตสันติภาพในยูเครน ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.)
นอกจากนั้นยังไม่มีประเทศใดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบียที่ถูกเสนอให้รับไม้จัดซัมมิตครั้งหน้า โดยเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮัน อัล ซาอุด รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า ริยาดพร้อมให้ความช่วยเหลือในกระบวนการสันติภาพ แต่ข้อตกลงที่เป็นไปได้จะต้องอิงกับการประนีประนอมที่ยากลำบาก

ยูเครนนั้นเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากดินแดนของตน ขณะที่มอสโกต้องการให้เคียฟยอมรับการปกครองของตนในดินแดนที่ยึดได้

สัปดาห์ที่แล้ว ปูตินย้ำว่า รัสเซียจะไม่พักการสู้รบจนกว่าเคียฟจะถอนทหารทั้งหมดออกจาก 4 แคว้นที่มอสโกควบคุมบางส่วนและประกาศเข้าผนวกเป็นดินแดนของรัสเซียแล้ว ทว่า เคียฟประณามว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเท่ากับขอให้ตนเองยอมแพ้

รัฐมนตรีต่างประเทศ ดมีโตร คูเลบา ของยูเครน อธิบายจุดยืนของเคียฟว่า “แน่นอนอยู่แล้วว่า เรา ...เข้าใจอย่างสมบูรณ์ว่าเวลาจะต้องมาถึง เมื่อมันจะมีความจำเป็นที่จะต้องพูดจากับรัสเซีย แต่จุดยืนของเรานั้นกระจ่างชัดเจนมาก นั่นคือ เราจะไม่ยินยอมให้รัสเซียพูดจาด้วยภาษาของการยืนคำขาดอย่างที่พวกเขากำลังพูดจาอยู่ในเวลานี้”

พวกผู้นำตะวันตกในที่ประชุมซัมมิตสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ แสดงท่าทีรับรองเรื่องที่เคียฟปฏิเสธ ไม่ยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขของรัสเซียดังกล่าวข้างต้น

“การนำเอาสันติภาพไปพัวพันกับการกำราบปราบปรามจะเป็นการสร้างแบบอย่างที่เป็นอันตรายสำหรับทุกๆ คน” เป็นคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี แห่งอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น