xs
xsm
sm
md
lg

เอาไงดี! สื่อ รบ.สหรัฐฯ อ้างนักวิเคราะห์ไม่เห็นด้วย ไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ
ไทยกำลังเดินหน้าสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS กลุ่มชาติกำลังพัฒนา ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) เครือข่ายเว็บไซต์และสถานีวิทยุด้านข่าวสารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ พร้อมอ้างว่าพวกผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความเคลือบแคลงใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องหรือไม่

สมาชิกกลุ่ม BRICS ต้องการสร้างทางเลือกอื่นขึ้นมาแทนดอลลาร์สหรัฐ และระบบการเงินโลกที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมา พวกเขาเคยริเริ่มโครงการด้านการเงินต่างๆ อย่างเช่นธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีของไทยเห็นชอบร่างใบสมัครในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม นับตั้งแต่นั้นความพยายามเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้ยื่นหนังสืออย่างป็นทางการกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ประธาน BRICS ในปัจจุบัน ในการแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS

ในถ้อยแถลง นายมาริษ บอกว่ามันเป็นประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS "ไทยมองว่า BRICS มีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศของเรา"

"เพื่อผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศกับบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและทางพลังงาน" ถ้อยแถลงระบุ

บรรดาสมาชิกกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมดของโลก 100 ล้านล้านดอลลาร์ ทางกลุ่มบอกว่าต้องการให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่มีตัวแทนที่ใหญ่โตขึ้นในระดับโลก โดยอ้างว่าพวกชาติตะวันตกในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก ครอบงำองค์กรการเงินโลกอย่างเช่น เวิลด์แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่ม BRICS ถูกมองในฐานะฝ่ายต่อต้านตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในนั้นรวมถึงกรณีที่จีนและรัสเซียกำลังหาทางลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งและมอสโก ต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ในนั้นรวมถึงปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกงของจีน และประเด็นอธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงสงครามของรัสเซียในยูเครน

วอยซ์ออฟอเมริกา อ้างคำสัมภาษณ์ของนายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า BRICS เริ่มกลายเป็นความพยายามทางการเมืองต่อต้านตะวันตกมากจนเกินไป "แรกเริ่มของ BRICS เริ่มต้นในฐานะรูปแบบหนึ่ง เป็นกลุ่มภูมิเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าทางกลุ่มกลายมาเป็นกลุ่มก้อนหมู่คณะทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเดิม รูปแบบของ BRICS กำลังเปลี่ยนไป กลายมาเป็นแนวร่วมภูมิรัฐศาสตร์ต่อต้านตะวันตก"

นายมาริษ ยืนยันว่าแต่ละประเทศล้วนแต่ตัดสินใจเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเอง และไทยต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกราย แม้มีความเห็นต่างกันก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทาง นายฐิตินันท์ เชื่อว่าความพยายามเข้าร่วมกลุ่มของไทยนั้นเกิดจากการถูกชี้นำผิดๆ และหลงไปตามวาระของรัฐสมาชิกสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย "รัฐบาลตะเกียกตะกายที่จะสร้างผลงาน ตามมุมมองของผม BRICS คือเส้นทางที่ถูกชี้นำผิดๆ ที่จะโชว์ผลงาน มันกลับนำพาไทยตกอยู่ในวาระของประเทศอื่นๆ ไทยต้องการวางตัวเป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่"

จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ปักกิ่ง คือปัจจัยหลักสำหรับเหตุผลว่าทำไมไทยถึงอยากเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

ทั้งนี้ จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 135,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว และนักท่องเที่ยวชาวจีนยังมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวของไทยด้วย

เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกาว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือสิ่งล่อใจสำคัญที่ทำให้ไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

(ที่มา : วอยซ์ออฟอเมริกา)


กำลังโหลดความคิดเห็น