xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์แอร์ไลน์สเสนอจ่ายชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบิน ‘ตกหลุมอากาศรุนแรง’ ขั้นต่ำรายละเกือบ 3.7 แสนบาท พร้อม 'คืนค่าโดยสาร' ทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สิงคโปร์แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) ยื่นข้อเสนอจ่ายเงินชดเชยเยียวยาขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 367,500 บาท) ให้แก่ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีเที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

สิงคโปร์แอร์ไลน์สแถลงวันนี้ (11 มิ.ย.) ว่า ทางสายการบินเสนอมอบเงินเยียวยา 10,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้โดยสารที่บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนผู้โดยสารที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงสามารถเจรจาเพื่อขอรับวงเงินชดเชยที่เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละราย

“ผู้โดยสารที่แพทย์ประเมินว่ามีอาการบาดเจ็บรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาในระยะยาว และขอรับการสนับสนุนด้านการเงิน จะได้รับเงินเยียวยาล่วงหน้า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 918,000 บาท) เพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วน” ทางสายการบินระบุ พร้อมย้ำว่าเงินดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงชดเชยเยียวยาขั้นสุดท้าย (final settlement) ด้วย

ผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี รายหนึ่งคาดว่าเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย และยังมีผู้โดยสารอีกหลายสิบคนที่ได้รับบาดเจ็บบนเที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์ ก่อนตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงขณะบินเหนือน่านฟ้าพม่าจนต้องเปลี่ยนเส้นทางมาลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 21 พ.ค.

ผู้โดยสารบนเครื่องหลายคนเล่าตรงกันว่า ใครก็ตามที่ไม่ได้รัดเข็มขัดในเวลานั้นถูกเหวี่ยงร่างลอยกระแทกกับเพดานห้องโดยสารจนเกิดความเสียหายหลายจุด ขณะที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ซึ่งรับดูแลผู้บาดเจ็บจากเที่ยวบินนี้ยืนยันว่า มีผู้โดยสารหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง สมอง และกะโหลกศีรษะ

สิงคโปร์แอร์ไลน์สแถลงว่า จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พบว่ายังมีผู้โดยสารที่พักรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 20 ราย


ทางสายการบินยืนยันว่าจะคืนค่าโดยสารให้ผู้โดยสารทุกคนบนไฟลต์นี้ และพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยกรณีเครื่องบินดีเลย์ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) และอังกฤษด้วย

กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ได้เผยแพร่ผลการสอบสวนเบื้องต้นซึ่งระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงอย่างกะทันหันซึ่งส่งผลให้เครื่องบินลดระดับความสูงลง 54 เมตรในเวลาเพียง 4.6 วินาที เป็นสาเหตุทำให้ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือที่ไม่ได้รัดเข็มขัดร่างลอยขึ้นจากพื้น

รายงานยังระบุด้วยว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ลำดังกล่าวน่าจะบินผ่านบริเวณที่กำลังเกิดกิจกรรมพาความร้อน (developing convection activity) ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่หมายถึงการก่อตัวของสภาพอากาศเลวร้าย

เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย อังกฤษ และสิงคโปร์ และมีลูกเรือปฏิบัติงานอยู่รวมทั้งสิ้น 18 คน

เหตุการณ์นี้ทำให้ความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัยเวลานั่งเครื่องบินกลับมาเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่มักอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถปลดเข็มขัดได้ในขณะที่เครื่องบินอยู่ในระดับคงที่ (cruise conditions) แม้จะมีคำแนะนำให้คาดเข็มขัดตลอดเวลาก็ตาม

ที่มา : รอยเตอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น