xs
xsm
sm
md
lg

กิจการในภาคบริการของญี่ปุ่นอย่าง ‘ลอว์สัน’- ‘ยูนิโคล’ คือพวกที่เจ็บหนักสุดจากนโยบายของโตเกียวที่จะตัดขาดแยกทางกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เสี่ยวเฉิน ซู



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Japan’s service firms to hurt the worst in China split
By XIAOCHEN SU
31/05/2024

แรงขับดันของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะนำเอาอุตสาหกรรมการผลิตหย่าร้างแยกขาดจากจีน กำลังมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกกิจการด้านบริการของภาคบริษัทธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นกิจการที่เวลานี้กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูบนแผ่นดินใหญ่แดนมังกร

ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงความปรารถนาที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน ท่ามกลางความเป็นปรปักษ์กันทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอเมริกาซึ่งกำลังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกที

ตั้งแต่ตอนต้นปี 2020 แล้ว คณะรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้มอบ [1] เงินอุดหนุนชดเชยเป็นมูลค่า 70,000 ล้านเยน (ราว 446.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับให้พวกบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลับไปญี่ปุ่น

การเปลี่ยนแปลงแก้ไข [2] พระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการค้าต่างประเทศในปีเดียวกันนั้น ก็ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถเพ่งเล็งตรวจสอบการค้าที่ทำกับจีนในรายการซึ่งมีความอ่อนไหวต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยการใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่บ่อยครั้งทีเดียวมีการร่วมมือประสานงานกับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางสหรัฐฯ [3] และทางยุโรป [4] อีกด้วย

อย่างไรก็ดี งานศึกษาวิเคราะห์ [6] หลายๆ ชิ้น [5] กลับตั้งข้อสังเกต [7] ว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศที่ทั้งหยั่งรากลึกและครอบคลุมรอบด้าน คืออุปสรรคอย่างมีสาระสำคัญทีเดียวต่อความพยายามในการหย่าร้างแยกขาดจากกัน แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับจีนในปัจจุบันมีลักษณะเด่นชัดมากที่สุดในเรื่องการมีห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ที่เกาะเกี่ยวพัวพันกันอย่างแน่นหนาและสลับซับซ้อน

ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น [8] จีนคือผู้ที่ซื้อสินค้าออกของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากกว่า 21% ขณะเดียวกันก็เป็นผู้จัดหาจัดส่งสินค้าจำนวนมากกว่า 24% ของสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นก้าวเดินไปข้างหน้า ดังนั้นการที่ญี่ปุ่นจะตัดขาดแยกทางจากจีนได้อย่างแท้จริง ตัวเลขเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องลดต่ำลง

อันที่จริง จากพาดหัวข่าวต่างๆ จวบจนถึงเวลานี้ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นกำลังมีการหย่าร้างแยกทางจากจีนแล้ว ถึงแม้เป็นไปอย่างช้าๆ และคืบหน้าไปอย่างระวังระวัง สืบเนื่องจากปัจจัยหลากหลายประการ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือความกลัวที่จะถูกปิดตายตัดขาดจากตลาดสหรัฐฯซึ่งสินค้าญี่ปุ่นสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามเป็นกอบเป็นกำ ในเมื่อวอชิงตันกำลังเพิ่มการแซงก์ชั่นทางด้านเทคโนโลยีและด้านการค้าเอากับจีน อีกทั้งเริ่มต้นปิดประตูหนทางในการยักย้ายถ่ายเทและความพยายามวกอ้อมเล็ดลอดอย่างอื่นๆ ของจีน ซึ่งมุ่งหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเหล่านี้

ขณะที่พวกกิจการญี่ปุ่นที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีน มีเพียง 27% [9] แสดงความปรารถนาที่จะขยายสายสัมพันธ์เหล่านี้ออกไปอีก ก็มีพวกบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นจำนวนมากทีเดียวกำลังแสดงความปรารถนา [10] ที่จะไปจัดตั้งโรงงานสถานที่ทางการผลิตแห่งใหม่ๆ ขึ้นในสหรัฐฯ กิจการเหล่านี้หลายๆ แห่งโดยที่โดดเด่นเป็นที่จับตามองกันมาก อาทิเช่น โตโยต้า และ พานาโซนิค ยังได้รับการอุดหนุนชดเชย [11] จากสหรัฐฯสำหรับการที่พวกเขาเข้าไปขยายกิจการเพิ่มมากขึ้นในแดนลุงแซม

สภาพที่ เจแปนอิงค์ (Japan Inc) หรือภาคบริษัทธุรกิจของญี่ปุ่น หันเหตีจากจีนเช่นนี้ ยังมีปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวเร่งอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่สินค้าของพวกเขาไร้ความสามารถยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในการแข่งขันในตลาดจีน เป็นต้นว่า ส่วนแบ่งการตลาดของพวกรถยนต์ญี่ปุ่นในจีนกำลังหล่นลงสู่ระดับต่ำเตี้ยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย นั่นคือเหลือเพียง 17% [12] เมื่อปีที่แล้ว จากแรงขับดันของการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วไปสู่ยุคของรถยนต์อีวี ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดแล้วทำออกมาโดยพวกผู้ผลิตจีนอย่างเช่น บีวายดี

เรื่องนี้เองเร่งรัดให้ มิตซูบิชิ ต้องยุติ [13] การผลิตของตนในจีน เวลาเดียวกันทั้ง โตโยต้า และ นิสสัน ต่างต้องเข้าเป็นหุ้นส่วน [14] กับพวกกิจการท้องถิ่นของจีนเพื่อความอยู่รอด การที่พวกผู้ผลิตรถญี่ปุ่นกำลังประสบความพ่ายแพ้ในการสู้รบปรบมือกับพวกผู้ผลิตรถอีวีจีนเช่นนี้ ชวนให้ย้อนระลึกถึงการที่พวกผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในครัวเรือนของญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งสามารถพบเห็นได้ทุกหนทุกแห่งในห้างร้านต่างๆ ของจีน เวลานี้กลับกำลังถูกบดบังรัศมีโดยพวกกิจการผู้ผลิตแดนมังกรอย่าง ไฮเออร์, เสี่ยวมี่, และ ไฮเซนส์

นอกจากนั้นแล้ว การที่พวกชาติหุ้นส่วนทางการค้ารายอื่นๆ ของสองประเทศนี้ ก็มีการจัดขบวนหาพวกรวมกลุ่มกันใหม่กันในวงกว้างออกไป ยังกลายเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งเช่นกันซึ่งสนับสนุนให้ญี่ปุ่นหย่าร้างแยกขาดจากจีน ทั้งนี้อัตราเติบโตในตลาดจีนที่กำลังเชื่องช้าลง ผสมกับความกลัวที่สหรัฐฯกับอียูจะใช้มาตรการแซงก์ชั่นแดนมังกรเพิ่มมากขึ้น กำลังปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกไปในหนทางซึ่งสามารถลดการค้าของญี่ปุ่นที่ทำกับแดนมังกรได้จริงๆ

ข่าวคราวหลายหลาก อย่างเรื่องที่ ทีเอสเอ็มซี (TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี ลิมิเต็ด บริษัทกิจการโรงงานการผลิตของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก) ไปจัดตั้ง [15] พวกโรงงานและสถานที่ทางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ๆ ของตนทั้งในญี่ปุ่น, อินเดีย, เม็กซิโก, และอาเซียน มันก็คือความพยายาม [16] ที่จะดึงลากให้พวกอุตสาหกรรมการผลิตถอยห่างออกจากจีน เช่นเดียวกับกระแสที่พวกบริษัทสหรัฐฯกำลังหวนกลับบ้าน [17] ซึ่งแม้เป็นเรื่องที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ทว่าก็มีความมั่นคงสม่ำเสมอ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างชี้ไปถึงอนาคตที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งที่ “เมด อิน ไชน่า” ให้ลดน้อยลงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าพวกบทวิเคราะห์เหล่านี้ ต่างอิงอยู่กับแนวโน้มในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตและพวกสินค้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ทว่ากลับละเลยภาคส่วนที่ใหญ่โตมากอีกภาคส่วนหนึ่งของสมการ ซึ่งจะต้องมีส่วนร่วมสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดในท้ายที่สุดว่า การหย่าร้างแยกขาดจากจีนของญี่ปุ่นในองค์รวมนั้น ประสบความสำเร็จหรือว่าเจอกับความล้มเหลว

ขณะที่พวกอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นซึ่งผลิตสินค้าในจีนเพื่อสนองตลาดจีน สามารถขบคิดได้ว่าพวกเขาจะยังคงสามารถขายในจีนได้ต่อไปแม้เมื่อโรงงานต่างๆถูกโยกย้ายไปยังที่อื่นๆแล้ว แต่สิ่งเดียวกันนี้ไม่สามารถพูดได้ว่าจะเกิดขึ้นเช่นกันกับกิจการญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งเวลานี้กำลังเป็นผู้ดำเนินการภัตตาคาร, ร้านค้า, สำนักงานที่ปรึกษา, และคลินิกต่างๆ ที่มุ่งรองรับพวกลูกค้าชาวจีนซึ่งตั้งฐานอยู่ภายในประเทศจีน

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พวกบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตรวมแล้วคิดเป็นเพียงประมาณ 40% [18] ของกิจการญี่ปุ่นทั้งหมดประมาณ 12,000 แห่งซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ในจีนในปัจจุบัน การละเลยไม่สนใจการมีอยู่ของอุตสาหกรรมภาคบริการญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่โตมากนี้ ย่อมทำให้ภาพที่วาดออกมาเกี่ยวกับแนวโน้มการหย่าร้างแยกขาดจากกันและผลลัพธ์ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ กลายเป็นภาพที่ไม่มีความสมบูรณ์

อันที่จริงแล้ว เพียงด้วยการมองอย่างไม่จริงจังอะไรนัก ก็จะพบว่า พวกผู้ประกอบการด้านบริการของญี่ปุ่นกำลังฝังรากหยั่งลึกยิ่งขึ้นในประเทศจีน ไม่ได้กำลังถอนรากถอนโคนออกจากแดนมังกรกันเลย ในท่ามกลางการพูดจาเกี่ยวกับการหย่าร้างแยกขาดกันทั้งหมดนี้ ตัวอย่างเช่น พวกเชนร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นต่างมีการปรากฏตัวในจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ [19] นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่าย “ลอว์สัน” (Lawson) ที่จำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นมาเกือบเป็น 3 เท่าตัวในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ยักษ์ใหญ่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่นรวดเร็วทันใจอย่าง “ยูนิโคล” (Uniqlo) ก็มีจำนวนร้านค้าในจีนเพิ่ม [20] จาก 711 ร้านในปี 2019 เป็น 925 ร้านในปี 2023 เชนภัตตาคาร “ไซเซริยะ” (Saizeriya) ขยับขยายจากที่มีอยู่ 120 ร้าน [21] เมื่อปี 2016 ขึ้นเป็น 387 ร้าน [22] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้ดำเนินการศูนย์ช็อปปิ้งมอลล์ “อีออน” (Aeon) เวลานี้ดำเนินกิจการศูนย์ช็อปปิ้งในจีนอยู่ 22 แห่ง [23] หลังจากเปิดสาขาแห่งแรกของตนเมื่อปี 2010

การปรากฏตัวในจีนอย่างปักหลักลงรากลึกยิ่งขึ้นของกิจการเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในระดับหรืออยู่ในขนาดเดียวกันกับที่สามารถพบเห็นได้ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าประเทศไหน ความสำเร็จแบบที่เกิดขึ้น “เฉพาะในจีนเท่านั้น” ของอุตสาหกรรมภาคบริการญี่ปุ่นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เจิดจ้าบาดตาแตกต่างจากด้านอื่นๆ อย่างชัดเจนยิ่ง

ในบรรดาร้านค้าที่ตั้งอยู่ต่างแดนของ ลอว์สัน จำนวน 7,344 แห่ง [24] มีถึง 6,588 แห่งทีเดียวซึ่งอยู่ในจีน หรือเท่ากับ 86% ขณะที่อัตราส่วนเช่นเดียวกันนี้ของ ยูนิโคล, ไซเซริยะ, และ อีออน คือ 57% (925 แห่งจากทั้งหมด 1,634 แห่ง) [25], 81% (387 แห่งจาก 478 แห่ง) [26], และ 59% (22 แห่งจาก 37 แห่ง) [27] ตามลำดับ

ในเวลานี้ซึ่งจำนวนประชากรของญี่ปุ่นกำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กิจการเหล่านี้มีความเร่งด่วนมากขึ้นทุกทีที่จะต้องขยายตัวในต่างแดน ทว่าการไร้ความสามารถของพวกเขาที่จะค้นหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดจีน ก็ทำให้การหย่าร้างแยกขาดจากกันกลายเป็นข้อเสนอที่สร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

เวลาเดียวกับที่ เจแปน อิงค์ สำรวจค้นหาเส้นทางต่างๆ ที่ผิดแผกไปจากเดิมเพื่อให้ตนเองลดการพึ่งพาอาศัยจีนในทางเศรษฐกิจให้น้อยลงนั้น มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องให้ความใส่ใจเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมาก กับพวกกิจการในภาคอุตสาหกรรมบริการ ไม่ใช่เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นความช่วยเหลือในรูปมาตรการอุดหนุนต่างๆ และสรรค์สร้างยุทธศาสตร์นานาประการเพื่อลดทอนการค้าขายในรูปสินค้ากับจีนลงมา พวกเขาก็ควรทุ่มเทพลังงานในระดับมากพอๆ กัน สำหรับการช่วยเหลือบรรดากิจการให้บริการของญี่ปุ่น ในการบริหารจัดการกับระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่โตมโหฬารให้แก่ผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขา

เสี่ยวเฉิน ซู Ph.D เป็นที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางธุรกิจและการศึกษา ซึ่งตั้งฐานอยู่ในมอลตา ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานอยู่ในญี่ปุ่น, แอฟริกาตะวันออก, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เชิงอรรถ

[1]https://asia.nikkei.com/Economy/Japan-reveals-87-projects-eligible-for-China-exit-subsidies
[2]https://www.hoganlovells.com/en/publications/japans-revisions-to-the-foreign-exchange-and-foreign-trade-act#:~:text=On%207%20June%202020%20revisions,8%20May%202020%20effective%20date).
[3]https://www.spf.org/iina/en/articles/sato_01.html
[4]https://www.mayerbrown.com/en/insights/publications/2023/02/japan-and-the-netherlands-agree-to-new-restrictions-on-exports-of-chipmaking-equipment-to-china
[5]https://www.rieti.go.jp/en/china/23051601.html#:~:text=Since%20China%20is%20Japan's%20largest,stagnated%20over%20the%20last%20thirty
[6]https://www.9dashline.com/article/decoupling-from-china-is-not-so-easy-for-japan-and-korea
[7] https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/why-japan-s-de-risking-response-china-incoherent
[8]https://wits.worldbank.org/CountrySnapshot/en/JPN
[9]https://www.jetro.go.jp/ext_images/_Reports/01/20839957f6d40fe4/20230021rev2.pdf
[10]https://www.reuters.com/world/japan/japan-inc-makes-renewed-us-push-china-fears-mount-2024-04-17/
[11]https://www.economist.com/business/2024/05/28/japanese-businesses-are-trapped-between-america-and-china
[12] https://www.just-auto.com/analyst-comment/globaldata-covers-auto-china-2024-japanese-car-brands-cooperate-with-china-to-further-auto-intelligence/#:~:text=Japanese%20automakers'%20market%20share%20in,in%20China%20in%20the%20future.
[13]https://www.cnn.com/2023/10/25/cars/japan-mitsubishi-ending-china-production-intl-hnk/index.html#:~:text=Mitsubishi%20Motors%20will%20stop%20producing,joint%20venture%20in%20mainland%20China.
[14]https://mainichi.jp/english/articles/20240426/p2g/00m/0bu/006000c#:~:text=Toyota%20announced%20an%20agreement%20to,which%20opened%20the%20same%20day.
[15]https://www.reuters.com/technology/taiwan-chip-firms-flock-japan-china-decoupling-accelerates-2024-02-21/
[16] https://www.scmr.com/article/shift-from-china-is-leading-to-india
[17]https://www.forbes.com/sites/jimvinoski/2024/01/25/covid-is-fading-but-reshoring-isnt/
[18]https://www.tdb.co.jp/report/watching/press/pdf/p220705.pdf
[19] https://tnc-cn.com/blog/10330
[20]https://www.fastretailing.com/jp/ir/financial/outlets.html
[21] https://36kr.jp/208968/
[22] https://36kr.jp/272617/
[23] https://www.aeonmall.com/facility?overseas=china&overseabtn=&s=
[24]https://www.lawson.co.jp/company/corporate/data/sales/
[25]https://www.fastretailing.com/jp/ir/financial/outlets.html
[26]https://www.gakujo.ne.jp/2025/shareindex#:~:text=%E5%85%A8%E5%9B%BD%E3%81%AB1%2C069%E5%BA%97%E8%88%97%E3%80%81%E6%B5%B7%E5%A4%96,%E3%81%97%E3%81%A6%E3%81%84%E3%82%8B%E3%80%8C%E3%82%B5%E3%82%A4%E3%82%BC%E3%83%AA%E3%83%A4%E3%80%8D%E3%80%82
[27] https://www.aeonmall.com/facility?overseas=&overseabtn=&s=
กำลังโหลดความคิดเห็น