กระทรวงกลาโหมเยอรมนีประเมินว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาทหารรับใช้ชาติเพิ่มอีกอย่างน้อย 75,000 นาย เพื่อให้สอดรับกับพันธกิจขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ท่ามกลางการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือภัยคุกคามจากรัสเซีย ตามรายงานของนิตยสารสปีเกล (Speigel) วานนี้ (7 มิ.ย.)
อย่างไรก็ดี การเพิ่มกำลังพลคาดว่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อยสำหรับรัฐบาลเยอรมนีซึ่งต้องหางบประมาณมาสนับสนุนรายจ่ายกลาโหมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากรัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. ปี 2022 และเริ่มจะมีการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับการรื้อฟื้นระบบเกณฑ์ทหารขึ้นมาแล้ว
ปีที่แล้ว บรรดาผู้นำนาโตได้ร่วมลงนามในแผนป้องกันร่วมครั้งแรกหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางตอบโต้ของกลุ่มพันธมิตรหากรัสเซียเปิดฉากโจมตี
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ เนื่องจากนาโตไม่เคยต้องร่างแผนลักษณะนี้มานานหลายสิบปีแล้ว แม้กระทั่งในช่วงสงครามอัฟกานิสถาน หรือสงครามอิรักก็ตาม และก่อนหน้านี้ เป็นที่เชื่อกันว่ารัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียตไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอด (existential threat) ของตะวันตกอีกต่อไป
ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารของนาโตได้ถอดแผนดังกล่าวออกมาเป็นข้อบังคับต่างๆ รวมถึงกำหนดเกณฑ์วัดความขาดแคลนกำลังพล อาวุธ และเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ป้องกันการโจมตีจากรัสเซีย ซึ่งตามการประเมินของพวกนายทหารระดับสูงเยอรมนีเชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2029
นักการทูตยุโรปคนหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับรอยเตอร์ว่า ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านี้ ชาติพันธมิตรในกลุ่มนาโตจะต้องเจรจากันว่าประเทศใดจะรับหน้าที่ “เติมเต็ม” ศักยภาพด้านใดด้านหนึ่งที่ขาดไป และยังต้องยกระดับการป้องกันภัยทางอากาศ จำนวนขีปนาวุธพิสัยไกลในคลังแสง และศักยภาพในด้านโลจิสติกส์อีกด้วย
หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง รัฐนาโตหลายประเทศได้ลดจำนวนระบบป้องกันภัยทางอากาศลงเหลือแค่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามด้านขีปนาวุธอย่างจำกัดจากบางประเทศ เช่น อิหร่าน เท่านั้น
เยอรมนีเคยมีระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) อยู่มากถึง 36 หน่วยในยุคที่ประเทศยังถือเป็นแนวรบด่านหน้าของสงครามเย็น ทว่าปัจจุบันได้ลดลงเหลือเพียง 9 หน่วยเท่านั้น
ในส่วนของกองทัพเยอรมนี หรือ Bundeswehr นั้นมีการประเมินกันว่า จำเป็นต้องจัดหากำลังพลเสริมอีกอย่างน้อย 75,000 นายเพื่อเติมเต็มความพร้อมของนาโตในการที่จะปฏิบัติตามแผนป้องกันร่วมที่วางเอาไว้ ตามรายงานของสปีเกลซึ่งอ้างว่าได้ข้อมูลมาจาก “เอกสารลับ” ของกระทรวงกลาโหมเมืองเบียร์
แหล่งข่าวทางทหารอีกคนยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจจะ “ไม่เพียงพอ” ด้วยซ้ำ เนื่องจากเยอรมนีน่าจะต้องกลายเป็นยุทธบริเวณหลักและศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นจริง โดยแหล่งข่าวรายนี้คาดว่าเยอรมนีอาจต้องการกำลังพลเพิ่มอีกเป็นตัวเลข “ห้าหลักกลางๆ” นอกเหนือไปจากตัวเลข 75,000 ที่ประเมินไว้
ปัจจุบันกองทัพเยอรมนีมีทหารอยู่ราว 180,000 นาย และเจ้าหน้าที่พลเรือนอีก 80,000 คน
ล่าสุด ทางกระทรวงกลาโหมเยอรมนียังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้
นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ได้เสนอร่างงบประมาณปฏิรูปกองทัพสูงถึง 100,000 ล้านยูโรในปี 2022 และคาดว่าเยอรมนีจะสามารถทำตามคำมั่นสัญญาใช้จ่ายงบทางทหารอย่างน้อย 2% ของ GDP ตามที่รับปากไว้กับนาโตได้เป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามเย็น
ที่มา : รอยเตอร์