ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ 2 คนตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการทำหน้าที่ในศาลสูงสุดฮ่องกงเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) เพียง 1 สัปดาห์หลังจากมีการตัดสินเอาผิด 14 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในข้อหาล้มล้างการปกครอง (subversion) ท่ามกลางความพยายามของจีนที่จะใช้กฎหมายความมั่นคงกวาดล้างฝ่ายต่อต้าน
ผู้พิพากษา ลอว์เรนซ์ คอลลินส์ (Lawrence Collins) และผู้พิพากษา โจนาธาน ซัมป์ชัน (Jonathan Sumption) ระบุในคำแถลงวานนี้ (6) ว่า พวกเขาได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาแบบไม่ถาวร (non-permanent judges) ประจำศาลอุทธรณ์สูงสุดฮ่องกง (Court of Final Appeal - CFA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ผมได้ลาออกจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์สูงสุดเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในฮ่องกง แต่ผมยังคงมีความเชื่อมั่นสูงสุดในศาลและความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่ละท่าน” คอลลินส์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Financial Times
ซัมป์ชัน ยืนยันกับรอยเตอร์เช่นกันว่า เขาเองก็ได้ยื่นหนังสือลาออกแล้ว และจะออกคำแถลงชี้แจงในสัปดาห์หน้า ในขณะที่ คอลลินส์ ยังไม่ได้ตอบคำขอสัมภาษณ์ของรอยเตอร์
การคงไว้ซึ่งผู้พิพากษาต่างชาติในศาลอุทธรณ์สูงสุดฮ่องกงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหลักนิติธรรมที่ช่วยค้ำจุนภาพลักษณ์ของเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้เอาไว้ในสายตาชาวโลก
แอนดรูว์ เฉิง (Andrew Cheung) หัวหน้าผู้พิพากษาชาวฮ่องกง ระบุว่าตนรู้สึก “เสียดาย” ที่ผู้พิพากษาชาวอังกฤษทั้งสองตัดสินใจเช่นนี้
“ผู้พิพากษาทุกท่านและเจ้าหน้าที่ตุลาการทุกคนจะยังคงทำหน้าที่ตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ และธำรงความยุติธรรมตามหลักกฎหมาย โดยปราศจากความกลัว การลำเอียงเข้าข้าง การหวังผลประโยชน์ส่วนตน หรือการหลอกลวง” เฉิง กล่าววันนี้ (7)
ผู้พิพากษา เฉิง ระบุด้วยว่า เวลานี้ศาลอุทธรณ์สูงสุดฮ่องกงมีคณะผู้พิพากษาไม่ถาวรที่เป็นคนท้องถิ่น 4 คน และผู้พิพากษาไม่ถาวรอีก 8 คนจากเขตอำนาจศาล common law อื่นๆ ในจำนวนนี้รวมถึงผู้พิพากษาในต่างแดน 2 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้ว 1 คน และเดือน พ.ค. ปีนี้อีก 1 คน
ด้านเนติบัณฑิตยสภาฮ่องกง (Hong Kong Bar Association) ก็ได้ออกคำแถลงวันนี้ (7) ว่า ทางองค์กร “เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการลาออก (ของผู้พิพากษาอังกฤษ) จะไม่กระทบต่อศักยภาพในการทำงานของศาลสูงสุด” พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของระบบตุลาการฮ่องกง
ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้พิพากษาอังกฤษที่ตัดสัมพันธ์กับศาลสูงสุดฮ่องกงไปแล้วหลายราย หลังจากที่จีนนำกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มาบังคับใช้ในปี 2020 ตามหลังเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี 2019
โรเบิร์ต รีด (Robert Reed) หนึ่งในผู้พิพากษาชาวอังกฤษที่ลาออกในปี 2022 กล่าวในขณะนั้นว่า หากเขายังคงทำหน้าที่ต่อไปก็จะดูเหมือน “ให้การรับรองฝ่ายบริหารฮ่องกง ซึ่งได้ละทิ้งค่านิยมแห่งเสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงออก”
รัฐบาลอังกฤษซึ่งส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 วิจารณ์กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งกำหนดระวางโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิตสำหรับความผิดต่างๆ เช่น การล้มล้างการปกครอง และสมคบคิดต่างชาติ ว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่จีนหวังใช้ปิดปากผู้ต่อต้านและนักเคลื่อนไหวที่ต้องการเสรีภาพ
สัปดาห์ที่แล้ว ศาลเกาลูนตะวันตกได้ตัดสินให้นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 14 คนจากทั้งหมด 16 คน มีความผิดฐานพยายามล้มล้างการปกครอง ซึ่งทำให้นักวิจารณ์ออกมาเตือนว่าการที่ศาลตัดสินเช่นนี้เท่ากับบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและภาพลักษณ์ของฮ่องกงในสายตานานาชาติ
ที่มา : รอยเตอร์