xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์เพาเวอร์! ญี่ปุ่นชูยุทธศาสตร์ส่งออก ‘เกม-อนิเมะ’ ตั้งเป้าสร้างรายได้เข้าประเทศ $130,000 ล้านภายใน 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายตลาดส่งออกวิดีโอเกม การ์ตูนมังงะ และอนิเมะ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลาง pop-culture และเป็นต้นกำเนิดของมหากาพย์การ์ตูนยอดนิยมอย่าง Dragon Ball รวมถึงวิดีโอเกม Super Mario และ Final Fantasy ที่ได้รับความนิยมล้นหลามไปทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลแดนปลาดิบเล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมเหล็กกล้า หรือเซมิคอนดักเตอร์

เมื่อวันอังคาร (4 มิ.ย.) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ Cool Japan ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินทรัพย์เชิงวัฒนธรรมให้ได้ถึง 20 ล้านล้านเยน ภายในปี 2033

ในปี 2022 อุตสาหกรรมเกม อนิเมะ และมังงะของญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากถึง 4.7 ล้านล้านเยน ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกไมโครชิปของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.7 ล้านล้านเยน ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาล

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อนิเมะ และมังงะมีบทบาทสำคัญมากในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าต่างชาติ และทำหน้าที่เป็นเสมือนประตูสู่ญี่ปุ่น” เนื้อความในเอกสารยุทธศาสตร์ระบุ

การเสพสื่อบันเทิงผ่านระบบสตรีมมิงที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงที่เกิดโควิด-19 ยังมีส่วนทำให้อนิเมะจากญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล ซึ่งรวมถึง Demon Slayer หรือ “ดาบพิฆาตอสูร” ซึ่งกลายเป็นซีรีส์อนิเมะที่ได้รับความนิยมติดอันดับหนังทำเงินใน box office ทั่วโลก

แผนยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นยังเอ่ยถึงการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Vtubers หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ที่ใช้ภาพดิจิทัลกราฟิกโชว์ใบหน้าและร่างกายเป็นตัวละครสมมติในการเล่นวิดีโอเกม ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริม “ซอฟต์เพาเวอร์” ของญี่ปุ่นในระดับนานาชาติได้มาก

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้าประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่ายุทธศาสตร์นี้จะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แดนปลาดิบได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านล้านเยนภายในปี 2033

รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนปราบปรามพวกเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ (piracy websites) ที่ลักลอบนำผลงานอนิเมะ และมังงะของญี่ปุ่นไปเผยแพร่อย่างผิดกฎหมายในภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ และเวียดนาม เป็นต้น

“การมีมาตรการที่เข้มข้นเพื่อปราบปรามเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการขยายตลาด” แผนยุทธศาสตร์ระบุ พร้อมเตือนว่ารายได้จากการโฆษณาของเว็บไซต์เหล่านี้อาจไปเข้ากระเป๋าพวกแก๊งอาชญากรต่างๆ

ที่มา : เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น