ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมด้านความมั่นคง แชงกรี-ลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์วันนี้ (1 มิ.ย.) ว่าสหรัฐฯ คงยังไม่พร้อมที่จะช่วยพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้สร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในตอนนี้ เนื่องจากติดภารกิจที่จะต้องช่วยสนับสนุนออสเตรเลียอยู่แล้วภายใต้เงื่อนไข AUKUS
สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ได้ลงนามตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง AUKUS ขึ้นในปี 2021 เพื่อแชร์เทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และกำหนดเป้าหมายจำหน่ายเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียอย่างน้อย 3 ลำให้ออสเตรเลียภายในทศวรรษ 2030
อย่างไรก็ตาม ยังมีชาติพันธมิตรสหรัฐฯ อีกหลายรายที่หวังมีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือเกาหลีใต้
เมื่อถูกถามว่าหากเกาหลีใต้ร้องขอตรงๆ ให้สหรัฐฯ ช่วยจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ อเมริกาจะให้คำตอบว่าอย่างไร? ออสติน ก็ตอบว่า “เป็นเรื่องยากมากๆ” สำหรับสหรัฐฯ ที่จะตอบสนองคำร้องขอดังกล่าว “เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เรายังต้องทำอยู่ในตอนนี้”
“(AUKUS) ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ” ออสติน เอ่ยย้ำ “เราเพิ่งจะเริ่มต้นกับออสเตรเลีย และผมไม่คิดว่าเราจะสามารถเริ่มต้นโครงการริเริ่มใหม่ในลักษณะนี้อีกได้ในอนาคตอันใกล้”
กลุ่มพันธมิตรความมั่นคงซึ่งกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วงนี้มุ่งต่อต้านอิทธิพลของจีนในเอเชีย-แปซิฟิก และถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ยอมแชร์เทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ต่างชาติ หลังจากที่เคยแชร์ให้อังกฤษมาแล้วเมื่อช่วงทศวรรษ 1950
สำหรับเป้าหมายขั้นที่สองหรือ ‘pillar 2’ ของ AUKUS นั้นเป็นการแชร์เทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ และเป็นจุดที่นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นให้ความสนใจอยากจะมีส่วนร่วม
“เราเชื่อว่า AUKUS จะเป็นส่วนเสริมที่ดีต่อความมั่นคงในภูมิภาค” จูดิธ คอลลินส์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ ให้สัมภาษณ์นอกรอบระหว่างการประชุม แชงกรี-ลา ไดอะล็อก เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) โดยยอมรับว่านิวซีแลนด์ได้เริ่มพูดคุยกับสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียเพื่อขอมีส่วนร่วมใน pillar 2 แล้ว
ด้าน ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ยังตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าเขาพอจะมองเห็นโอกาสที่ชาติอื่นๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมกับ AUKUS ในอนาคต ทว่าปัจจุบันทางกลุ่มยังคงมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่าง 3 ชาติในโครงการจัดหาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานหลายสิบปี
ที่มา : รอยเตอร์