xs
xsm
sm
md
lg

โลกจะรอดไหม! สมาชิกคองเกรสเรียกร้อง US กลับมาประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพจากเอเอฟพี
สหรัฐฯ ควรกลับมาประจำการอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในเกาหลีใต้ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวยกระดับความร่วมมือกันระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียและจีน ที่ช่วยให้เปียงยางมีทรัพยากรที่จะบั่นทอนสันติภาพโลก จากเดิมที่จำกัดวงอยู่แค่ในคาบสมุทรเกาหลี ตามเสียงเรียกร้องของโรเจอร์ วิคเกอร์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันเมื่อช่วงกลางสัปดาห์

วิคเกอร์ ชี้แนะในรายงานฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า "21st Century Peace Through Strength: A Generational Investment in the US Military" ซึ่งเผยแพร่ในวันพุธ (29 พ.ค.) โดยในเอกสารฉบับนี้ยังเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณกลาโหมของสหรัฐฯ อีก 55,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 950,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2025

"เกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายในแง่ของโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ โดยมีศักยภาพที่สามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในทวีปอเมริกา" สมาชิกวุฒิสภารายนี้กล่าว พร้อมระบุด้วยเวลานี้ยังไม่พบเห็นทางออกด้านการทูตใดๆ "วอชิงตันควรรับประกันการป้องปราม เพื่อไม่ให้มันบั่นทอนคาบสมุทรเกาหลี"

วุฒิสมาชิกวิคเกอร์ แนะนำด้วยว่า สหรัฐฯ ควรเดินหน้าซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ต่อไป คงไว้ซึ่งการปรากฏตัวทางทหารอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ดังกล่าว และสำรวจหนทางใหม่ๆ ในนั้นรวมถึงการ "กลับมาประจำการอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลี"

นอกจากนี้ เขาเรียกร้องให้มีการพูดคุยกันระหว่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย "เพื่อประเมินความตั้งใจของแต่ละฝ่ายที่จะมีส่วนร่วมในการแชร์ภาระทางนิวเคลียร์ ภายใต้ข้อตกลงกับสหรัฐฯ แบบเดียวกับข้อตกลงที่สหรัฐฯ มีกับบรรดาพันธมิตรนาโต"

"ความเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ระหว่างเกาหลีเหนือ กับรัสเซียและจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มอบกระแสรายได้อย่างมั่นคงแก่เปียงยาง และทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้มีทรัพยากรที่จะบั่นทอนเสถียรภาพระดับโลก นอกเหนือจากคาบสมุทรเกาหลี" วุฒิสมาชิกรายนี้กล่าว

มาตรการคว่ำบาตรนานาชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยฉีกเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเป็นชิ้นๆ ได้หมดประสิทธิภาพลง เพราะว่ารัสเซียและจีน ไม่ยอมบังคับใช้มัน จากความเห็นของวิคเกอร์

อาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาเคยถูกประจำการในเกาหลีใต้ ในครั้งแรกเมื่อปี 1958 โดยจำนวนของอาวุธดังกล่าวเคยพีกสุดเกือบ 950 ลูก ทั้งเชิงยุทธศาสตร์และเชิงยุทธวิธี ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ก่อนถูกถอนอออกมาในปี 1991 ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์กเกอร์ บุช ณ ขณะนั้น

เมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือทำการจำลองการโจมตีตอบโต้ทางนิวเคลียร์เล่นงานเป้าหมายศัตรู การซ้อมรบดังกล่าวมีท่านผู้นำ คิม จองอึน สังเกตการณ์ด้วยตนเอง มันมีขึ้นตามหลังเปียงยางประสบความสำเร็จในการทดสอบ “หัวรบใหม่ขนาดใหญ่พิเศษ” สำหรับติดตั้งขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานรุ่นใหม่

ในช่วงปลายเดือนเมษายน สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ สื่อมวลชนแห่งรัฐเกาหลีเหนือ เผยแพร่บทความของ คัง ติม-ซง นักวิเคราะห์ด้านกิจการต่างประเทศ ที่เขากล่าวหาสหรัฐฯ พยายามเปลี่ยนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเขตทุ่งระเบิดนิวเคลียร์ที่อ่อนไหวง่าย ผ่านการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารแน่นแฟ้นขึ้นกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น