xs
xsm
sm
md
lg

ยกยอกันเกินไป! สื่อรัสเซียพาดหัวตัวโต ไทย 'มหาอำนาจเอเชีย' ประกาศเจตนาเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยจะยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ตามรายงานของอาร์ทีนิวส์ อ้างอิงคำแถลงของรัฐบาลไทยในวันอังคาร (28 พ.ค.) โดยในรายงานของสื่อมวลชนรัสเซียแห่งนี้ ถึงขั้นใช้คำว่า Asian powerhouse ในการพาดหัวข่าวนี้เลยทีเดียว

ในข่าวพาดหัว Asian powerhouse declares intention to join BRICS สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ หยิบยกรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่นของไทย ที่อ้างคำแถลงของนายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล บอกว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างหนังสืออย่างเป็นทางการสำหรับแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

รายงานของอาร์ทีนิวส์ อ้างคำแถลงของนายชัย ระบุว่า หนังสือดังกล่าวประกาศว่า ไทย ตระหนักถึงความสำคัญของยุคหลายขั้วอำนาจ และบทบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของบรรดาชาติกำลังพัฒนาในกิจการระหว่างประเทศ

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า วิสัยทัศน์ของไทยสำหรับอนาคตเป็นไปตามกรอบหลักการของ BRICS และการเข้าร่วมจะเป็นประโยชน์กับประเทศในหลายๆ ทาง ในนั้นรวมถึงส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติ และมอบโอกาสในการเข้าร่วมในการสร้างระเบียบโลกใหม่ ตามรายงานของอาร์ทีนิวส์

BRICS ได้เชิญบรรดาประเทศนอกสมาชิกที่มีแรงบันดาลใจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม เข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม BRICS ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ขณะที่นายชัย บอกว่าการเข้าร่วมประชุมซัมมิตดังกล่าวจะเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเร่งกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก

เดิมที BRICS ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะมีอียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2024 และนับตั้งแต่นั้นยังมีอีก 15 ประเทศที่ส่งสัญญาณแสดงความสนใจเข้าร่วม ในนั้นรวมถึง บาห์เรน เบลารุส คิวบา คาซัคสถาน ปากีสถาน เซเนกัล และเวเนซุเอลา

BRICS ที่ขยายขอบเขตแล้วมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% ของประชากรโลก นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีกำลังผลิตน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วน 40% ของกำลังผลิตน้ำมันโลก

อ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปัจจุบัน BRICS มีสัดส่วนคิดเป็น 36% ของจีดีพีโลก ในแง่ของภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity หรือ PPP) เปรียบเทียกับจี 7 ที่มีสัดส่วนคิดเป็นแค่ 30% ทั้งนี้ BRICS วางป้าหมายแซงหน้าจี 7 ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ในอีก 4 ปีข้างหน้า

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น