xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดจริงๆ แต่ไม่ใช่ไปยังตลาดตะวันตก เนื่องจากมี “กำลังการผลิตล้นเกิน” อย่างที่พวกนักคิดอเมริกันกล่าวหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

2 words explain China export ‘surge’: Global South
By DAVID P. GOLDMAN
21/05/2024

การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ไม่เพียงพุ่งขึ้นแบบองค์รวม ในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนเท่านั้น แต่การส่งออกของแดนมังกรไปยังทุกๆ ภูมิภาคของซีกโลกใต้ –ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย, ละตินอเมริกา, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง/แอฟริกาเหนือ, หรือ เอเชียกลาง

ตรงกันข้ามกับมุกล้อเลียนขำขันซึ่งแพร่หลายอยู่ตามโซเชียลมีเดีย และเป็นที่นิยมชมชื่นกันนักหนาในหมู่นักวิเคราะห์นโยบายชาวตะวันตก ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีหรอก สิ่งที่กล่าวหากันว่าเป็น “การส่งออกแบบพุ่งพรวด” จากประเทศจีน (ตามที่พวกนักวิเคราะห์ในโลกตะวันตกเหล่านี้รู้สึกกัน) การส่งออกของจีนไปยังพวกตลาดพัฒนาแล้วทั้งหลาย อยู่ในสภาพชะงักงันมาหลายปีแล้ว ทว่ากลับกำลังเพิ่มพูนเร่งทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในการส่งออกไปยังซีกโลกใต้ (Global South พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา)


การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ไม่เพียงพุ่งขึ้นแบบองค์รวม ในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนเท่านั้น แต่การส่งออกของแดนมังกรไปยังทุกๆ ภูมิภาคของซีกโลกใต้ –ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย, ละตินอเมริกา, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง/แอฟริกาเหนือ, และเอเชียกลาง— ล้วนแต่พุ่งสูงขึ้นด้วยฝีก้าวที่อยู่ในจังหวะพร้อมเพรียงกัน


แน่นอนทีเดียว บางส่วนในความสำเร็จของการส่งออกของจีนในโลกกำลังพัฒนาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางการค้ารูปสามเหลี่ยมชนิดใหม่ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาด้วยแรงจูงใจจากการขึ้นภาษีศุลกากร 25% รวด เอากับบรรดาสินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐฯมูลค่ารวมราวๆ 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 โดยที่ในความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวนี้ จีนจะลำเลียงขนส่งพวกชิ้นส่วนและสินค้าทุนไปยังเม็กซิโก, เวียดนาม, อินเดีย, และประเทศอื่นๆ แล้วจากนั้นประเทศเหล่านี้ก็จะนำมาประกอบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในสหรัฐฯ

เอเชียไทมส์ได้เสนอหลักฐานแสดงถึงการหลีกหนีภาษีศุลกากรสหรัฐฯอย่างใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ เอาไว้ครั้งแรกสุดในบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2023 [1] หลังจากนั้นทั้งธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF), ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements หรือ BIS), และสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) ต่างตีพิมพ์เผยแพร่การศึกษาหลายๆ ชิ้นของพวกเขา ซึ่งให้หลักฐานยืนยันข้อสรุปอย่างเดียวกัน กล่าวคือ อเมริกันกำลังพึ่งพาอาศัยห่วงโซ่อุปทานของจีนยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มาเสียอีก


การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ (สเกลด้านซ้ายมือ) มีความเคลื่อนไหวในรอยทางเดียวกันกับการนำเข้าของสหรัฐฯจากซีกโลกใต้ (สเกลด้านขวามือ) โดยทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณ 2 เดือน โดยที่การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ได้กระโจนพรวดจากระดับราวๆ 90,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อปี 2020 กลายเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนในทุกวันนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 60,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ หรือ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ปรากฏให้เห็นอยู่ในรูปของการที่สหรัฐฯนำเข้าจากพวกประเทศที่สามเพิ่มสูงขึ้น นี่เท่ากับว่า การหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ด้วยการใช้วิธียืดขยายห่วงโซ่อุปทานของจีนให้ผ่านโลกกำลังพัฒนา สามารถใช้เป็นคำอธิบายอัตราเติบโตของการส่งออกจีนไปยังซีกโลกใต้ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้น มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จีนก้าวขึ้นไปครองฐานะครอบงำเอาไว้ได้ ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่
--แผงโซล่าเซลส์
--โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล
--โครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง และ
--อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ การผันเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างใหญ่โตมโหฬารของการค้าจีนนี้ –ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางการค้าครั้งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกเท่าที่เคยปรากฏขึ้นมาจวบจนถึงเวลานี้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสูงสุดต่างๆ ที่เกิดขึ้น — กลับบังเกิดขึ้นอย่างชนิดที่แทบไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ จากพวกนักวิเคราะห์อเมริกันเอาเลย

ในทางเป็นจริงแล้ว พวกสำนักวิเคราะห์วิจัยและศึกษาด้านนโยบายทั้งหลายในสหรัฐฯเรียกได้ว่าแทบทุกสำนัก ต่างยังคงเห็นดีเห็นงามชนิดเป็นฉันทามติกับทัศนะว่าด้วยจีน ซึ่งได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิดพลาดบกพร่อง เฉกเช่นเดียวกับคำทำนายใดๆ ย่อมสามารถที่จะผิดพลาดกันได้ทั้งสิ้นนั่นแหละ

ความคิดเห็นอย่างเป็นฉันทามติดังกล่าว ซึ่งถูกหยิบยกนำออกมาพูดอยู่เป็นประจำทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ฟอกซ์ นิวส์ (Fox News) โดย กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) รวมทั้งถูกประกาศเผยแพร่เอาไว้ในหนังสือหลายๆ เล่มของ เบธอานี แอลเลน (Bethany Allen) [2] แห่งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ “แอคซิออส” (Axios) และ แดน บลูเมนธัล (Dan Blumenthal) [3] แห่งสำนักคลังสมอง อเมริกัน เอนเทอร์ไพรซ์ อินสติติว (American Enterprise Institute) ตลอดจนพวกบัณฑิตผู้รู้ระดับผู้น้อยลงมาอีกโขยงหนึ่ง เน้นย้ำว่าจีนเวลานี้กำลังจมลงอยู่ภาวะเสื่อมโทรมตกต่ำ ถ้าหากไม่ใช่ถึงขั้นหล่นลงไปในวิกฤตเรียบร้อยแล้ว และมาตรการต่างๆ ของอเมริกาในการจำกัดกีดกันการส่งออกพวกชิประดับก้าวหน้า จะทำให้ความทะเยอทะยานทางเทคโนโลยีของประเทศจีนต้องประสบกับความหงุดหงิดผิดหวัง
(หมายเหตุผู้แปล - สำหรับ กอร์ดอน ชาง Gordon Chang เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์, นักกฎหมาย, นักวิจารณ์แสดงความเห็นผ่านสื่อในเรื่องการเมือง, และนักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งมีบิดาเป็นผู้อพยพจากจีน ส่วนมารดาเป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายของชาวสกอตต์ นิตยสารนิวยอร์กเกอร์ (New Yorker) พูดถึงเขาว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็น “สายเหยี่ยวยิ่งกว่าใครๆ (überhawk) ในเรื่องเกี่ยวกับจีนมาเป็นเวลายาวนานแล้ว” ขณะที่ผลงานของเขาซึ่งเป็นที่จดจำและถูกพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขา คอยนำมาถากถางเยาะเย้ยอยู่เป็นประจำ คือ หนังสือเรื่อง The Coming Collapse of China (การพังทลายที่กำลังจะเกิดขึ้นมาของประเทศจีน) ที่เขาเขียนทำนายเอาไว้ว่าจีนกำลังพังทลาย และถึงขนาดระบุว่าจะพังทลายภายในปี 2011 ครั้นถึงเดือนธันวาคม 2011 เขาก็เปลี่ยนเวลาที่ทำนายจีนจะพังครืนเสียใหม่ มาเป็นปี 2012 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Gordon_G._Chang)

จีนนั้นไม่เพียงดำเนินการเพื่อหลบหลีกและเอาชนะมาตรการแซงก์ชั่นด้านเทคเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังดำเนินการเพื่อหลบหลีกและเอาชนะการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯอีกด้วย ดังที่แสดงให้เห็นอย่างสูงเด่นทีเดียวในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) จีนนั้นมีแผนการเตรียมเอาไว้แล้ว สำหรับการก็อปปี้เอาบางส่วนบางด้านของกระบวนการแปรเปลี่ยนเข้าสู่อุตสาหกรรมของตนเองไปใช้ในประเทศอื่นๆ ของซีกโลกใต้ หรือก็คือสิ่งที่ผมเคยเรียกว่า “Sino-forming” ในหนังสือปี 2020 เรื่อง You Will Be Assimilated ของผม [4]

เมื่อปี 2015 ผมได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ ณ เมืองเซินเจิ้นของหัวเว่ย ที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางมาก พร้อมกับกลุ่มนักการทูตชาวเม็กซิโกกลุ่มหนึ่ง พวกเราได้ชมสายผลิตภัณฑ์ของพวกเขา และรับฟังคำบรรยายที่พูดถึงภาวะขาดไร้ไม่เพียงพอต่างๆ ของเม็กซิโกในเรื่องการสื่อสารบรอดแบนด์ดิจิตอล ตลอดจนสิ่งยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่เม็กซิโกอาจสามารถบรรลุได้ด้วยการมีข้อมูลระดับไฮสปีดที่มีราคาถูก

ผมได้พูดชมเชยผู้บรรยายเกี่ยวกับความละเอียดถี่ถ้วนของการศึกษาเพื่อนำมาใช้พูดคราวนี้ และได้สอบถามแบบทีเล่นทีจริงว่า หัวเว่ยต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้เพียงเพื่อใช้สำหรับโอกาสนี้เท่านั้นหรือ คำตอบที่ผมได้รับคือ “ไม่ใช่” พร้อมกับคำอธิบายขยายความว่า “เรามีแผนการแบบดิจิตอลเตรียมเอาไว้สำหรับ 100 ประเทศ คุณสามารถที่จะดูแผนการพวกนี้ได้เลยบนเว็บไซต์ของเรา”

การเงียบหายไม่ส่งเสียงอะไรออกมาราวกับเป็นฝูงแกะเซื่องซึมเซาของพวกนักวิเคราะห์อเมริกันในหัวข้อนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดงออกให้เห็นถึงความโง่เขลาหรือความเกียจคร้านเฉื่อยชาเท่านั้น หากแต่มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปรารถนาที่จะยอมรับความล้มเหลวทางด้านนโยบาย ซึ่งมีลักษณะเป็นความบกพร่องล้มเหลวร่วมกันของหลายๆ ฝ่ายและอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ร้ายแรงถึงขั้นหายนะ ในทางเป็นจริงแล้ว ทั่วทั้งประชาคมทางด้านการเสนอแนะนโยบายของอเมริกันโดยรวม มีคำตัดสินออกมาแล้วว่าการก้าวผงาดของจีนขึ้นสู่ฐานะการเป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่ง สมควรที่จะต้องถูกขัดขวางกีดกั้น และการบีบคั้นจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีอเมริกันจะสามารถทำให้จีนตกต่ำและเงยหน้าขึ้นมาไม่ได้

แต่แล้วสหรัฐฯก็ต้องเผชิญกับภาวะช็อกครั้งแรกสุด ภายหลังจากคณะบริหารทรัมป์ได้สั่งยุติไม่ให้ส่งออกชิประดับก้าวหน้าไปให้แก่ หัวเว่ย รวมทั้งป้องกันกีดกั้นไม่ให้บริษัทสามารถผลิตชิปสำหรับใช้ในระบบสื่อสาร 5จี ซึ่งหัวเว่ยเป็นผู้ออกแบบขึ้นมาเองแล้วไปว่าจ้างโรงงานทางไต้หวันเป็นผู้ผลิต เนื่องจาก TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี) ผู้รับจ้างผลิตชิประดับเจ้าตลาดของไต้หวันนั้น มีการใช้เทคโนโลยีอเมริกันในกระบวนการผลิตชิป 5จี ให้แก่หัวเว่ย ดังนั้นสิ่งที่วอชิงตันกระทำอยู่จึงเป็นการใช้อำนาจควบคุมนอกอาณาเขตของตนเอง พวกนักวิเคราะห์สหรัฐฯคิดกันว่า เมื่อไม่สามารถเข้าถึงพวกชิประดับก้าวหน้าได้ จีนก็จะไม่สามารถสร้างเครือข่าย 5จี ระดับชาติของตนขึ้นมาได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม อีก 5 ปีต่อมา จีนมีสถานีฐานสำหรับระบบ 5จี ติดตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 3.8 ล้านสถานี ขณะที่สหรัฐฯยังมีแค่เพียง 100,000 สถานี หัวเว่ยยังคงสามารถเรียนรู้วิธีการที่จะสร้างสถานีฐานด้วยชิปรุ่นเก่าๆ ไม่ได้ก้าวหน้าสุดๆ แต่เป็นชิปที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศจีนเอง

ภาวะช็อกครั้งที่สอง บังเกิดขึ้นหลังจากวอชิงตันบังคับใช้วิธีการแบบสุดขั้วที่เรียกกันว่า “ทางเลือกระเบิดนิวเคลียร์” (nuclear option) ในการจำกัดควบคุมไม่ให้พวกชิประดับก้าวหน้ารวมทั้งพวกเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้ ไปถึงมือพวกบริษัทจีนทุกๆ แห่ง ไม่เฉพาะแค่หัวเว่ย เมื่อเดือนตุลาคมปี 2022 แต่แล้วอีก 1 ปีต่อมา หัวเว่ยได้เปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับ 5จี ของตน ที่มีชื่อรุ่นว่า เมต 60 (Mate 60) โดยใช้ชิป 5จี ระดับก้าวหน้าซึ่งผลิตขึ้นเองภายในจีน ด้วยการใช้กระบวนการแบบแก้ขัดไปพลางก่อน ที่พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบกฎระเบียบอเมริกันเคยคิดกันว่ามันเป็นวิธีการที่เป็นไปไม่ได้

พวกประชาคมเสนอแนะนโยบายสหรัฐฯนั้นไม่สามารถที่จะยอมรับได้ว่า พวกเขาได้ร่วมกันกระทำความผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงถึงขั้นก่อให้เกิดผลที่อาจเป็นความหายนะขึ้นมาแล้ว และกำลังพยายามคลำหาสิ่งที่จะสามารถใช้อธิบายความสำเร็จเหล่านี้ของจีน นี่แหละคือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดมุกขำขันแพร่หลายในโซเชียลมีเดียซึ่งกล่าวหาว่า จีนได้สร้าง “กำลังการผลิตล้นเกิน” (overcapacity) ขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิต และกำลังคุกคามโลกด้วย “กระแสช็อกจากจีนครั้งที่สอง” (second China shock) อย่างที่สื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม [5]

จุดอ่อนของแนวความคิดว่าด้วย “กระแสช็อกจากจีนครั้งที่สอง” นี้ อยู่ตรงที่ว่า ในความเป็นจริงแล้วจีนกำลังส่งออกไปยังพวกตลาดพัฒนาแล้วซึ่งพวกเขากำลังแข่งขันด้วยโดยตรง ในระดับที่ลดน้อยลง ไม่ใช่เพิ่มมากขึ้น หากแต่กำลังส่งออกในระดับสูงกว่านั้นมหาศาลนักไปยังซีกโลกใต้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีอุปสงค์ความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัด สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาคันละ 10,000 ดอลลาร์, แผงโซล่าเซลส์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารบรอดแบนด์ซึ่งมีราคาถูก

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมสนับสนุนแนวความคิดเรื่องจีนกำลังสร้างกำลังผลิตล้นเกิน ย่อมเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้า น้อยกว่าการหันมาพิจารณาแบบแผนซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในข้อมูลการค้า และไปสู่ข้อสรุปที่ว่าการวางนโยบายของสหรัฐฯเกี่ยวกับจีน กำลังประสบความล้มเหลวอย่างน่าดูถูกดูหมิ่น

เชิงอรรถ

[1] https://asiatimes.com/2023/04/the-great-re-shoring-charade/
[2] https://claremontreviewofbooks.com/belling-the-dragon/
[3] https://asiatimes.com/2021/01/why-china-is-anti-fragile/
[4] https://www.amazon.com/You-Will-Be-Assimilated-Sino-form/dp/1642935409
[5] https://www.wsj.com/world/china/the-world-is-in-for-another-china-shock-3d98b533 (เข้าไปอ่านได้เฉพาะผู้เป็นสมาชิกบอกรับ WSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น