(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
France sends troops to Ukraine: Russian report
By STEPHEN BRYEN
04/05/2024
จากการจัดส่งหน่วยทหารในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสที่มีนายทหารฝรั่งเศสเป็นผู้บังคับบัญชาเข้าไปในยูเครน นี่จะเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามในยุโรปที่มีขนาดขอบเขตใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่าเดิมขึ้นมาหรือไม่?
(หมายเหตุคณะบรรณาธิการเอเชียไทมส์ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2024: ลิงก์ดั้งเดิมที่ต่อเชื่อมไปยังแหล่งข่าวแหล่งหนึ่งของรายงานชิ้นนี้ เวลานี้ไม่สามารถดูได้เสียแล้ว ขณะที่ในภาคผนวกเพิ่มเติมซึ่งโพสต์อยู่บนบล็อก Substack ของเขาลงวันที่ 6 พฤษภาคม ทางผู้เขียน (สตีเฟน ไบรเอน) ได้ให้ลิงก์อื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา รวมทั้งเขียนแสดงความคิดเห็นอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับแหล่งข่าวนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ข้อความ 2 ย่อหน้าแรกที่อยู่ถัดลงมาจากนั้น ทางผู้เขียนได้มีการเขียนขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นการอัปเดตข้อเขียนวันที่ 4 พฤษภาคมดั้งเดิมของเขา หลังจากที่ฝรั่งเศสได้ออกมาแถลงปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าไม่ได้กำลังจัดส่งทหารเข้าไปในยูเครนแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้ว ในเนื้อหาหลายๆ ตอนของข้อเขียนนี้ตามฉบับอัปเดตวันที่ 6 พฤษภาคม ก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปจากฉบับเดิมของวันที่ 4 พฤษภาคม อยู่หลายๆ จุด)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องฝรั่งเศสแถลงปฏิเสธเรื่องส่งทหารไปยูเครน ได้ที่ https://apnews.com/article/fact-check-french-troops-russia-ukraine-deployed-994039088319https:/apnews.com/article/fact-check-french-troops-russia-ukraine-deployed-994039088319)
(หมายเหตุเพิ่มเติมของคณะบรรณาธิการเอเชียไทมส์ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2024: ปราพดา (Pravda) สื่อของทางการรัสเซียได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อเขียนที่มีรายละเอียดระบุยืนยันสิ่งที่พวกบล็อกเกอร์ด้านการทหารของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในเรื่องกิจการทหาร ได้รายงานกันเอาไว้ ข้อเขียนของปราพดานี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้ที่ https://pravda-en.com/world/2024/05/06/487739.html)
ฝรั่งเศสได้จัดส่งกองทหารของตนกลุ่มแรกเดินทางเข้าไปยังยูเครนอย่างเป็นทางการแล้ว –โดยเป็นทหารที่นำมาจากกรมทหารราบที่ 3 (3rd Infantry Regiment) ของฝรั่งเศส ซึ่งกรมทหารราบดังกล่าวนี้ ถือเป็นส่วนประกอบหลักส่วนหนึ่งของกองทหารต่างด้าว (Foreign Legion หรือ Légion étrangère) ของฝรั่งเศส ทั้งนี้ พวกเขาถูกนำเข้าไปประจำการเพื่อสนับสนุนกองพลน้อยยานยนต์อิสระที่ 54 (54th Independent Mechanized Brigade) ของยูเครน ที่เวลานี้ตั้งอยู่ในเมืองสลาเวียนสก์ (Slavyansk) –ตามรายงานข่าวชิ้นหนึ่งจากสำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) [1] ของทางการรัสเซีย โดยที่รายงานชิ้นนี้อ้างอิงข้อมูลซึ่งมาจากช่อง มิลิแทรี ครอนิเคิล (Military Chronicle) ของรัสเซียบนแพลตฟอร์มเทเลแกรม (Telegram)
ทางด้าน ท็อป วอร์ (Top War) [2] เว็บไซต์รัสเซียอีกเจ้าหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีเวอร์ชั่นรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย นั่นคือมีการอ้างอิงหมายเลขกองพลน้อยของยูเครนที่รับเอากองทหารฝรั่งเศสเข้าไปสมทบว่า เป็นกองพลน้อยที่ 7 (7th) ไม่ใช่ 54 ท็อป วอร์ แสดงอาการระมัดระวังโดยระบุว่า “ในส่วนของเรานั้น เราไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้อมูลข่าวสารชิ้นนี้ได้ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง เวลาเดียวกันนั้น มันไม่มีควันหรอก ถ้าหากไม่มีไฟ”
ในปี 2022 ฝรั่งเศสมีชาวยูเครนและชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งเข้าร่วมอยู่ในกองทหารต่างด้าวของตน โดยในกรณีของชาวยูเครนนั้น พวกเขาได้รับอนุญาตให้ลาออกจากกองทหารต่างด้าว และเดินทางกลับไปยูเครน เพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังอาวุธของยูเครนได้ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าชาวรัสเซียได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเช่นนี้ด้วยหรือไม่
กองทหารต่างด้าวในปัจจุบัน บริหารจัดการโดยนายทหารชาวฝรั่งเศส ทว่าพวกระดับนายทหารและพลทหารในกองทหารนี้โดยทั่วไปแล้วยังคงเป็นชาวต่างชาติ ทั้งนี้ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยการไม่เปิดเผยตัวตนซึ่งยังบังคับใช้กันอยู่ อาสาสมัครคนไหนก็ตามที่เข้าร่วมในกองทหารต่างด้าวนี้ สามารถตัดสินใจได้ว่าจะยังคงใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงของตนต่อไป หรือว่าจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อนามสกุลซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ตามข้อตกลงที่มีการลงนามกัน ทหารต่างด้าวคนไหนที่รับราชการจนครบเวลาตามกำหนด 5 ปี สามารถที่จะร้องขอสัญชาติฝรั่งเศสได้ หรือในกรณีที่ทหารต่างด้าวคนไหนได้รับบาดเจ็บ พวกเขาก็มีสิทธิได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยไม่ต้องผ่านช่วงระยะเวลารอคอยใดๆ อีก ในกองทหารต่างด้าวนี้ รับแต่ผู้ชายล้วนๆ ไม่มีผู้หญิงเลย
ทหารฝรั่งเศสกลุ่มแรกตามที่เป็นข่าวนี้ มีรายงานว่ามีจำนวนราวๆ 100 คน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของทหารในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสจำนวนรวมประมาณ 1,500 คนที่กำลังทยอยเดินทางไปยังยูเครน
การนำเอาทหารเหล่านี้เข้าไปในพื้นที่สู้รบร้อนแรงโดยตรง ดูจะเป็นการแสดงเจตนาต้องการช่วยเหลือฝ่ายยูเครนต้านทานการรุกคืบหน้าของรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส (Donbas นั่นคือ แคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ ในภาคตะวันออกของยูเครน -ผู้แปล) ทหาร 100 คนดังกล่าวข้างต้นได้รับการพูดถึงว่าเป็นพวกชำนาญพิเศษทางด้านปืนใหญ่และทางด้านการสอดแนม
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ออกมาข่มขู่เป็นแรมเดือนแล้วว่าจะจัดส่งทหารฝรั่งเศสไปยังยูเครน โดยเขาพบว่าแทบไม่ได้รับหรือกระทั่งไม่ได้รับความสนับสนุนในเรื่องนี้เลยจากพวกประเทศนาโต้อื่นๆ นอกเหนือจากโปแลนด์ และประดารัฐบอลติก (หมายถึง อดีตสาธารณรัฐโซเวียตริมทะเลบอลติกทั้ง 3 อย่าง ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, เอสโตเนีย) มีการกล่าวหากันด้วยว่าสหรัฐฯนั้นคัดค้านการจัดส่งทหารนาโต้เข้าไปในยูเครน (นอกเหนือจากพวกทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา)
หนึ่งในคำถามที่ผุดขึ้นทันทีจากการตัดสินใจของฝรั่งเศสที่จัดส่งทหารจากกรมทหารราบที่ 3ของตนไปยังยูเครนก็คือ เรื่องนี้จะถูกมอสโกถือหรือยังว่าเป็นการข้ามเส้นแดงอันตรายซึ่งฝ่ายรัสเซียขีดเอาไว้ ว่าด้วยการเข้าพัวพันเกี่ยวข้องในยูเครนของนาโต้? ฝ่ายรัสเซียจะมองเรื่องนี้เป็นการเริ่มต้นสงครามที่มีขนาดกว้างขวางเกินเลยไปจากเส้นพรมแดนของยูเครนหรือไม่?
ฝรั่งเศสเองนั้นไม่ได้มีกำลังทหารมากมายที่จะส่งเข้าสู่แนวรบสมรภูมิในยูเครน ถ้าหากรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการกระทำเช่นนั้นจริงๆ ทั้งนี้ตามรายงานหลายกระแส ฝรั่งเศสทุกวันนี้ไม่สามารถสนับสนุนกระทั่งการนำเอากำลังทหารไปประจำการยังต่างแดนในระดับสัก 1 กองพลเต็มๆ ด้วยซ้ำ และจะยังไม่มีสมรรถนะดังกล่าวนี้ไปจนกว่าจะถึงปี 2027 นั่นแหละเป็นอย่างเร็วที่สุด
การตัดสินใจที่จะจัดส่งกองทหารต่างด้าวเข้าไป สมควรที่จะถูกมองว่าเป็นการประนีประนอมอย่างแปลกประหลาดของฝ่ายฝรั่งเศส ทั้งนี้ ด้วยการดำเนินการเช่นนี้ ย่อมเท่ากับว่าฝรั่งเศสยังไม่ได้กำลังนำเอากองทัพภายในบ้านตนเองเข้าไปประจำการในยูเครน และนอกเหนือจากพวกนายทหารจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งแล้ว เหล่านักรบที่ถูกจัดส่งไปโดยทั่วไปก็ไม่ได้เป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศสแต่อย่างไร
การตัดสินใจเช่นนี้ของฝรั่งเศสมีความหมาย 2 ประการด้วยกัน ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความหมายอีกประการหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดกันอยู่แล้ว นั่นคือความเป็นไปได้ที่มันจะกลายเป็นการจุดชนวนสงครามระดับรบกันทั่วทั้งยุโรปขึ้นมา
ความหมายหรือเหตุผลประการแรกสุดก็คือ มันเป็นการเปิดทางให้ มาครง สามารถจัดส่งกองทหารไปยังยูเครนและได้แสดงบทบาทเหมือนกับเป็นชายชาตรีผู้แข็งแกร่งโดยปราศจากการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดแรงต่อต้านภายในประเทศขึ้นมาอะไรนัก เนื่องเพราะแทบไม่มีพลเมืองชาวฝรั่งเศสถูกจัดส่งไป รวมทั้งปราศจากการใช้มาตรการเกณฑ์ทหารหรือมาตรการบังคับอื่นๆ ที่อาจจะติดตามมาในเร็ววัน ความโกรธเกรี้ยวที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นมาของบรรดาปรปักษ์ทางการเมืองของ มาครง จึงลดน้อยลงไปมากมาย
เหตุผลประการที่สองก็คือ มาครงมีความโกรธแค้นอย่างสาหัสทีเดียว ที่ต้องเห็นกองทหารฝรั่งเศส ซึ่งแทบทั้งหมดก็มาจากกองทหารต่างด้าวนั่นเอง กำลังถูกขับไล่ไสส่งออกจากภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ของแอฟริกา โดยมีกองกำลังรัสเซียเข้าไปแทนที่ การมีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนพูดภาษาฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา และความมั่งคั่งที่ดินแดนเหล่านี้คอยจัดหาจัดส่งให้แก่พวกนักการเมืองฝรั่งเศส บัดนี้เป็นอันว่าถูกทำลายสูญสิ้นไปด้วยเหตุการณ์ก่อกบฏและการปฏิวัติในแอฟริกา ตลอดจนการที่สถานการณ์พลิกผันไปในทางทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเด็ดขาดชัดเจน –ไม่ว่าจะด้วยฝีมือของรัสเซียโดยตรง หรือโดยผ่านบริษัทการทหารภาคเอกชน วากเนอร์ (PMC Wagner หรือก็คือที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มวากเนอร์ นั่นเอง) ซึ่งเมื่อมาถึงในเวลานี้ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กลุ่มนี้อยู่ใต้การควบคุมโดยตรงของ วลาดิมีร์ ปูติน
การที่ถูกบีบบังคับให้ต้องถอยออกมาจากอดีตอาณานิคมในซาเฮลเช่นนี้ เป็นที่รู้สึกกันในทำเนียบวังเอลิเซ่ ณ กรุงปารีสว่า มันคือการถูก “หยามหมิ่น” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ มาครง ผู้ซึ่งกำลังถูกพวกปรปักษ์ทางการเมืองของเขาโจมตีว่า ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอำนาจอิทธิพล และสร้างอันตรายให้แก่ประดาผลประโยชน์ด้านเหมืองแร่และธุรกิจอื่นๆ ในดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส
การถูกตีกระหน่ำซึ่งถือว่ารุนแรงมากเป็นพิเศษ ได้แก่การสูญเสีย ไนเจอร์ ซึ่งเป็นแหล่งซัปพลายแร่ยูเรเนียมแห่งสำคัญ [4] ให้แก่ฝรั่งเศส โดยที่ต้องไม่ลืมว่าในเวลานี้ฝรั่งเศสได้พลังงานไฟฟ้าของตนถึงราว 70% ทีเดียวจากพวกโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่ซัปพลายยูเรเนียมในทั่วโลกกำลังถูกควบคุมเข้มงวดมากขึ้นและราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้นจากการที่ รัสเซีย และ คาซัคสถาน เฉกเช่นเดียวกับ ไนเจอร์ คือพวกประเทศที่อยู่แถวบนสุดในเรื่องของการเป็นซัปพลายเออร์ยูเรเนียมสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของทั่วโลก จึงทำให้ฝรั่งเศสมีปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่กระทบกระเทือนถึงระดับครัวเรือนต่างๆ กันเลยทีเดียว ยิ่งการที่สหรัฐฯก็ตัดสินใจออกมาตรการห้ามนำเข้ายูเรเนียมรัสเซีย [5] (แต่เนื่องจากการสั่งห้ามทันทีนั้นมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงอาจมีการผ่อนผันในหลายกรณีกว่าที่จะมีการแบนกันจริงจังในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า) ฝ่ายรัสเซียจึงมีความสามารถที่จะตีกระหน่ำอย่างสาหัสใส่ทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ด้วยการตัดลดซัปพลายยูเรเนียมที่จะออกสู่ตลาด
เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียการเข้าถึงยูเรเนียม หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการสูญเสียการเข้าถึงในระดับเพียงพอที่เอามาซัปพลายให้แก่พวกเตาปฏิกรณ์ของฝรั่งเศส มาครงจึงต้องตั้งความหวังเอาไว้ว่า การส่งทหารเข้าไปประจำการในยูเครนของเขาเช่นนี้จะไม่จุดชนวนทำให้ฝ่ายรัสเซียถึงขนาดตอบโต้ด้วยการประกาศห้ามขายสินค้าจำเป็นเช่นนี้แก่ทางฝรั่งเศส
ไม่เป็นที่ชัดเจนเลยว่า พวกกองทหารต่างด้าวเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือฝ่ายยูเครนได้อะไรนักหนา ฝ่ายยูเครนนั้นทราบวิธีที่จะควบคุมใช้งานปืนใหญ่กันอยู่แล้ว และพวกเขายังได้รับความสนับสนุนด้านข่าวกรองในระดับสลับซับซ้อนอยู่แล้วเช่นเดียวกัน โดยที่บางส่วนพวกเขาจัดหามาด้วยการใช้พวกโดรน FPV ตลอดจนสปายสายลับของพวกเขาเอง ขณะที่บางส่วนต้องขอบคุณพวกทรัพย์สินด้านข่าวกรองและการสอดแนมของสหรัฐฯและชาตินาโต้อื่นๆ ซึ่งกำลังถูกนำใช้สนับสนุนยูเครนอยู่ในเวลานี้
แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง สามารถกล่าวได้ว่าประเด็นปัญหาของฝ่ายยูเครนไม่ใช่เป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการควบคุมใช้งานปืนใหญ่หรอก หากเป็นเรื่องที่ว่าพวกเครื่องกระสุนของปืนใหญ่เหล่านี้จะเอามาจากไหนมากกว่า โดยยูเครนยังคงคอยร้องทุกข์อยู่โดยตลอดว่าพวกเขาได้รับซัปพลายเครื่องกระสุนสำหรับใช้กับพวกปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ขนาด 155 ม.ม.ไม่เพียงพอเอาเลย
การตัดสินใจที่จะนำเอาทหารในกองทหารต่างด้าวมาตั้งไว้ในเมืองสลาเวียนสก์ คือพฤติการณ์แบบยั่วยุกันอย่างสุดขีด และเป็นการขัดแย้งกับประดาคำแถลงทั้งหลายจากฝ่ายฝรั่งเศสรวมทั้งจากตัวมาครงด้วย คำแถลงเหล่านี้พยายามที่จะอธิบายว่าถ้าฝรั่งเศสจัดส่งทหารเข้าไป ก็จะเป็นการเข้าแทนที่บรรดาหน่วยทหารของกองทัพยูเครนในภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งด้วยการมีทหารฝรั่งเศสมาทดแทน ก็จะสามารถเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออกเพื่อสู้รบกับฝ่ายรัสเซีย แต่เนื่องจาก สวาเวียนสก์ นั้น ตั้งอยู่ตรงเส้นแนวหน้าในภาคตะวันออกของยูเครน ดังนั้น ภาพลักษณ์ที่ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามสร้างขึ้นมาว่านี่คือการส่งทหารเข้าไปประจำการแบบนุ่มนวลไม่ใช้แข็งกร้าวอะไร จึงกำลังแปรเปลี่ยนกลายเป็นการเข้าสู่สงครามเพื่อสู้รบกับรัสเซียโดยตรง
คำถามข้อสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า นาโต้จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรต่อการที่ฝรั่งเศสตัดสินใจส่งทหารไปประจำการในยูเครนเช่นนี้ เนื่องจากฝรั่งเศสกำลังลงมือปฏิบัติการด้วยตัวเองโดยปราศจากการหนุนหลังของนาโต้ ฝ่ายฝรั่งเศสจึงไม่สามารถกล่าวอ้างขอความสนับสนุนจากนาโต้ ตามอำนาจในมาตรา 5 ที่มีชื่อเสียงถูกอ้างอิงอยู่เรื่อยๆ ของสนธิสัญญานาโต้ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าถ้าหากมีชาติพันธมิตรนาโต้รายหนึ่งรายใดตกเป็นเหยื่อของการถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธ สมาชิกอื่นๆ แต่ละรายและทุกๆ รายของนาโต้ก็จะพิจารณาว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการโจมตีด้วยอาวุธต่อชาติสมาชิกทั้งหมด และจะดำเนินปฏิบัติการที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ถูกโจมตี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_110496.htm#:~:text=Article%205%20provides%20that%20if,to%20assist%20the%20Ally%20attacked. –ผู้แปล)
แล้วถ้าฝ่ายรัสเซียโจมตีกองทหารฝรั่งเศสขณะที่อยู่ตรงพื้นที่นอกยูเครนล่ะ จะถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมตามกฎเกณฑ์แห่งการทำสงครามหรือไม่ เนื่องจากฝรั่งเศสตัดสินใจแล้วที่จะเป็นผู้ที่เข้าร่วมการสู้รบรายหนึ่ง เวลาเดียวกันนั้น การบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 5 ก็ดูจะมีความลำบากยุ่งยาก ถ้าหากไม่ถึงขนาดเป็นไปไม่ได้เอาเลย
แน่นอนทีเดียว สมาชิกนาโต้แต่ละรายย่อมสามารถที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนแก่ฝรั่งเศสด้วยตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งกองกำลังของพวกเขา หรือการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงและด้านการติดต่อสื่อสารให้แก่ทางฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น ทหารในกองทหารต่างด้าวย่อมไม่มีทางที่จะเข้าสู่ยูเครนได้ ถ้าหากไม่เดินทางผ่านโปแลนด์ ฝ่ายรัสเซียจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังทำสงครามอยู่กับทั้งฝรั่งเศสและโปแลนด์หรือไม่?
จวบจนถึงเวลานี้ ไม่มีใครสามารถให้คำตอบอย่างมีความมั่นอกมั่นใจ แก่คำถามเหล่านี้ไม่ว่าข้อไหน ไม่น่าเป็นไปได้ที่ฝ่ายรัสเซียจะยอมอดทนอดกลั้นอย่างยาวนานต่อการสร้างสมกำลังทหารของฝรั่งเศสในยูเครน ถึงแม้เป็นทหารในกองทหารต่างด้าวก็ตามที แล้วรัสเซียจะดำเนินการตอบโต้อย่างไร ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนเอาเลย
สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
เชิงอรรถ
[1]https://twitter.com/SputnikInt/status/1779082975293886822
[2] https://en.topwar.ru/240367-rossijskie-resursy-pervoe-podrazdelenie-francuzskogo-inostrannogo-legiona-perebrosheno-v-slavjansk.html
[3]https://mail.google.com/mail/u/0/#inbox/CllgCJTLGSkXRfDsWWmxFNfrrCMbvQCMWbTppCpbfkxTthpQGKtPdHBwGDlqJpbHWzmClqLPBqB
[4] https://www.lemonde.fr/en/les-decodeurs/article/2023/08/04/how-dependent-is-france-on-niger-s-uranium_6080772_8.html
[5] https://www.reuters.com/world/us/us-senate-approves-bill-ban-russian-uranium-imports-2024-05-01/
หมายเหตุผู้แปล
หลังจากเอเชียไทมส์นำเอาข้อเขียนชิ้นนี้ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกบนบล็อก Substack ของผู้เขียน (สตีเฟน ไบรเอน) มาเผยแพร่ต่อเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ปรากฏว่ารัฐบาลฝรั่งเศสได้ปฏิเสธข่าวเรื่องนี้ว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่ทางผู้เขียนได้อัปเดตข้อเขียนของเขา รวมทั้งเอเชียไทมส์ก็มีการปรับปรุงแก้ไขข้อเขียนนี้ในบางจุดเช่นกัน ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม คณะบรรณาธิการของเอเชียไทมส์ได้เสนอข้อเขียนซึ่งระบุถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งอ้างอิงถึงคำยืนยันของผู้เขียน (สตีเฟน ไบรเอน) ที่ว่า ยังคงเห็นว่าสิ่งที่เขียนออกไปคราวนี้มีความถูกต้อง ทางผู้แปลจึงขอเก็บความข้อเขียนของคณะบรรณาธิการเอเชียไทมส์ดังกล่าว มาเสนอเพิ่มเติมเอาไว้ในที่นี้
รายงานของเราเรื่อง‘ฝรั่งเศสส่งกองทหารต่างด้าวไปยูเครน’ ไม่ได้มีอะไรเพี้ยนๆวิปริต
โดย คณะบรรณาธิการเอเชียไทมส์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Nothing preposterous about our Foreign Legion story
By THE EDITORS
09/05/2024
ถึงแม้เป็นเรื่องยากลำบากที่จะระบุกันให้ได้อย่างชัดเจนแม่นยำว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ตรงบริเวณใกล้ๆ กับเส้นแนวหน้าของสงครามในยูเครน แต่มันย่อมเป็นสิ่งที่เห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า เอมมานูเอล มาครง นั้นต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซงโดยใช้กองกำลังภาคพื้นดิน
อย่างที่ เอเชียไทมส์ ได้ชี้เอาไว้ในเวอร์ชั่นอัปเดตของข้อเขียนดั้งเดิม [1] ของ สตีเฟน ไบรเอน (Stephen Bryen) ซึ่งเผยแพร่อยู่บนโฮมเพจของเรา ฝรั่งเศสได้ปฏิเสธรายงานของพวกที่มิใช่หน่วยงานรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งระบุว่ามีการจัดส่งทหารในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสไปประจำการในยูเครน –ปรากฏว่าในเวลาต่อมาสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ดเพรส (Associated Press หรือ AP) ได้ประทับตราข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยถือเป็นสิ่งที่ต้องออก “คำเตือนระวังข่าวปลอม” (fake news alert) [2] แต่สำหรับเรานั้นยังคงไม่ได้ถูกโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจกลับมาเชื่อว่า รายงานเรื่องกองทหารต่างด้าวถูกส่งไปยังยูเครนนี้ โดยพื้นฐานแล้วเป็นข่าวที่มีความผิดพลาด
สตีเฟน ไบรเอน [3] เป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูง ได้รับความเชื่อถือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รายงานเกี่ยวกับเรื่องราวบางด้านบางส่วนของสงครามยูเครนได้อย่างยอดเยี่ยม ข้อเขียนของเขาจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์โดยตรง หรือไม่ก็เฉกเช่นกรณีนี้ เอเชียไทมส์นำข้อเขียนที่เผยแพร่ทางบล็อก Substack ของเขา [4] มาตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำ เมื่อรายงานเกี่ยวกับกองทหารต่างด้าวที่เขานำเสนอ ซึ่งเป็นรายงานที่อ้างอิงแหล่งข่าวทางฝ่ายรัสเซีย ได้ถูกตั้งคำถามอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เขาก็มีท่าทียอมรับว่ามันอาจจะเป็นรายงานที่ไม่จริงไม่ถูกต้องก็ได้ และอันที่จริงแล้ว เขาคาดหวังให้เป็นเช่นนั้นเสียด้วยซ้ำ โดยมองในแง่ประโยชน์ที่จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในขนาดขอบเขตที่ใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ว่าพวกแหล่งข่าวชาวรัสเซียจะรู้เรื่องนี้มาอย่างถูกต้อง หรือจะรู้เรื่องนี้มาอย่างผิดพลาดก็ตามที ตัวข้อเขียนของ ไบรเอน เองย่อมไม่สมควรอย่างแน่นอนที่จะถูกประเมินว่าเป็น “ข่าวปลอม” ที่กระทำขึ้นอย่างเจตนา ด้วยความมุ่งหมายในทางเลวร้าย
อย่างที่ตัวผู้เขียนผู้นี้เองได้อธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นถัดๆ มาของเขา ในเรื่องเกี่ยวกับแหล่งข่าวต่างๆ [5] ซึ่งเขาได้โพสต์เอาไว้บนบล็อก Substacks เขามองว่ามันมีสัญญาณหลายๆ อย่างที่ควรต้องจับตา ข้อเขียนชิ้นดั้งเดิมของเขานั้นได้อ้างอิงพวกบล็อกเกอร์ด้านการทหารชาวรัสเซีย โดยที่กลุ่มผู้คนเหล่านี้เป็นกลุ่มซึ่งมีอยู่จริงๆ เป็นพวกที่คอยแข่งขันกันในการจัดหาเรื่องราวรายละเอียดทางด้านการทหารต่างๆ มาบอกเล่าแก่ผู้คอยติดตาม พวกบล็อกเกอร์ทางการทหารชาวรัสเซียเหล่านี้เองเป็นแหล่งข่าวแหล่งหนึ่งซึ่งไบรเอนพบว่ามีประโยชน์ในเวลาประเมินว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในยูเครน --ถึงแม้ว่ามันสามารถใช้ประโยชน์ได้ลดน้อยลงมากสำหรับการเรียนรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในรัสเซียและภายในฝ่ายทหารของแดนหมีขาว สืบเนื่องจากข้อจำกัดเข้มงวดต่างๆ ที่ทางเครมลินบังคับกำหนดเอาไว้กับพวกพลเมืองชาวรัสเซียว่าจะอนุญาตให้เปิดเผยอะไรได้มากน้อยขนาดไหน
ข้อมูลข่าวสารจากพวกบล็อกเกอร์ด้านการทหารเหล่านี้ในคราวนี้ มีความสอดคล้องกับสิ่งซึ่งได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเรียบร้อยแล้ว เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ว่าด้วยยูเครนของประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศส และก็สอดรับกับสิ่งที่พวกเราได้ยินได้ฟังมาจากพวกแหล่งข่าวอื่นๆ
สำหรับบทบาททางด้านการทำหน้าที่บรรณาธิการของเอเชียไทมส์นั้น หลังจากมีการติดต่อกับทางผู้เขียนแล้ว ทางเราได้อัปเดตรายงานข่าวชิ้นนี้บนเว็บไซต์ของเรา 2 ครั้ง 2 คราว เมื่อได้รับแจ้งเตือนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นเราได้เพิ่มลิงก์เกี่ยวกับแหล่งข่าวลิงก์หนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามที่ข้อเขียนชิ้นใหม่ๆ ในบล็อก Substack ของผู้เขียนให้ไว้ มีไฮเปอร์ลิงก์เชื่อมไปถึงแหล่งข่าวรัสเซียอยู่จุดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนดั้งเดิมใน Substack ซึ่งเรานำมาตีพิมพ์ซ้ำ แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันลิงก์ดังกล่าวได้ขาดหาย ไม่สามารถเชื่อมไปยังแหล่งข่าวดังกล่าวได้อีกแล้ว เราจึงแทนที่ไฮเปอร์ลิงก์ดั้งเดิมที่ว่านั้น ด้วยลิงก์ใหม่ๆ ไปยังแหล่งข่าวเดิม ตลอดจนไปยังเว็บไซต์บล็อกเกอร์ด้านการทหารชาวรัสเซียอีกรายหนึ่ง
ในส่วนของการปรับปรุงอัปเดตชื่อเรื่องของข้อเขียนชิ้นนี้ มีอาทิเช่น เดิมข้อเขียนนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า ฝรั่งเศสจัดส่งกองทหารสู้รบไปยังสมรภูมิแนวหน้ายูเครน (France sends combat troops to Ukraine battlefront) เราได้อัปเดตด้วยการตัดคำว่า “สู้รบ” (combat) ทิ้งไป สืบเนื่องจากได้พบรายละเอียดในข้อเขียนซึ่งสื่อปราพดาของฝ่ายรัสเซียนำมาตีพิมพ์ในตอนหลังๆ นี้ โดยในข้อเขียนดังกล่าวให้รายละเอียดว่าพวกกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสกำลังปฏิบัติงานอยู่ในแนวหลัง ไม่ใช่ที่แนวหน้า
สตีเฟน ไบเอน ในขณะที่ตอบกลับมาว่ายอมรับการอัปเดตเหล่านี้ของเรา ได้บอกกับเราด้วยว่า “ข้อเขียนนี้กำลังถูกนำมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สื่อข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันในลอนดอนคนหนึ่ง “บอกกับผมว่า เขาคิดว่าการปฏิเสธเรื่องนี้ของฝ่ายฝรั่งเศสไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือหรอก แต่ไม่ว่ายังไงผมยังคงเหนียวแน่นกับสิ่งที่ได้เสนอออกไป” ในเวลาต่อมา ขณะที่แจ้งให้ทางเราทราบถึงลิงก์ที่เชื่อมไปยังข้อเขียนของปราพดาเวอร์ชั่นใหม่กว่าและมีรายละเอียดมากกว่า ผู้เขียนผู้นี้ตั้งข้อสังเกตวา “มันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พวกบล็อกเกอร์ด้านการทหารหลายๆ คนได้ค้นพบมาแล้วจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ มันเป็นการหนุนหลังสิ่งที่ผมเขียนออกไปในเรื่องนี้ ผมไม่ขอเปลี่ยนความเห็นของผมเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อเขียนของผม”
เหนือสิ่งอื่นใด เมื่ออิงอยู่กับพวกแหล่งข่าวของทางเราเอง ขณะที่การแจ้งเตือนภัยเช่นนี้อาจจะปรากฏออกมาว่า มันเป็นการป่าวร้องก่อนกาลหรือไม่ก็ตามที แต่มันก็แทบจะแน่นอนทีเดียวว่า การแจ้งเตือนนี้สามารถเกาะกุมสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเอาไว้ได้ นั่นคือ มาครงนั้นต้องการที่จะเข้าแทรกแซง –ด้วยการใช้กองกำลังภาคพื้นดิน เขาได้พูดเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เฉกเช่นเดียวกับพวกลูกน้องของเขาหลายๆ คน ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานชิ้นหนึ่ง [6] จากอิตาลี บอกเล่าถึงความพยายามครั้งใหม่ของนาโต้ที่จะชะลอเรื่องนี้
เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2024/05/france-sends-combat-troops-to-ukraine-battlefront/
[2] https://apnews.com/article/fact-check-french-troops-russia-ukraine-deployed-994039088319
[3] https://asiatimes.com/?s=Stephen%20Bryen
[4]https://substack.com/@stephenbryen?utm_source=substack&utm_medium=email
[5]https://weapons.substack.com/p/about-sources-and-methods-analyzing?utm_source=profile&utm_medium=reader2
[6] https://www.rt.com/russia/597212-nato-no-troops-ukraine/