แอปเปิลทำการปรับลดราคาสมาร์ทโฟนหลายรุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในจีน ในขณะที่บรรดาแบรนด์ยักษ์ใหญ่และบริษัทค้าปลีกทั้งหลายเปิดตัวแผนโปรโมชันสำหรับฤดูกาลเทศกาลชอปปิ้ง "618" ในยามที่อุปสงค์ผู้บริโภคกำลังซบเซา
มาตรการปรับลดราคาลงอย่างมากโดยผู้ผลิตไอโฟน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทางบริษัทกำลังเผชิญกับการแข่งขันอันเข้มข้นจากบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญญาชาติจีน อย่างเช่นหัวเว่ย และวีโว่ จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ในชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แอปเปิลระบุว่าจะทำการปรับลดราคาสมาร์ทโฟนบางรุ่นบน Tmall เว็บไซต์คล้ายแอมะซอน ที่มีอาลีบาบา เป็นเจ้าของ สูงสุด 23% ไปจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม เวลานี้ลูกค้าสามารถหาซื้อไอโฟน 15 ได้ที่ราคา 4,599 หยวน (ราว 23,200 บาท) ลดลงจากราคาเดิมถึง 1,400 หยวน (ราว 7,000 บาท)
รายงานข่าวระบุว่า แอปเปิลหวังกระตุ้นยอดขายระหว่างเทศกาลชอปปิ้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของปีในจีน ซึ่งปกติแล้วมักจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จนถึงกลางเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
สื่อมวลชนจีนรายงานว่า ในขณะที่แอปเปิล เคยทำการหั่นราคาไอโฟน 15 และไอแพดที่วางจำหน่ายในจีนมาแล้วหลายรอบนับตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่การปรับลดราคาในเดือนนี้ ถือว่าเป็นการหั่นราคาครั้งหนักหน่วงที่สุดเท่าที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ แห่งนี้เคยดำเนินการมาในตลาดต่างแดน "แอปเปิลจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุก เพื่อปกป้องส่วนแบ่งตลาดในจีน" นักวิเคราะห์จากเจฟเฟรีส์ ให้ความเห็นในวันอังคาร (21 พ.ค.)
ส่วนแบ่งตลาดจีนของแอปเปิลลดลงสู่ระดับ 15.7% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากเดิมที่อยู่ในระดับ 19.7% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมโดย Counterpoint Research ขณะที่หัวเว่ย พบเห็นยอดขายพุ่งขึ้นถึง 70% ขยับช่องว่างเข้ามาใกล้แอปเปิลทุกขณะ
หลังจากการปรับลดราคาในวันจันทร์ (20 พ.ค.) เวลานี้ ไอโฟน 15 ของแอปเปิลมีราคาอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดย เสี่ยวหมีและหัวเว่ย
บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่ใช่กลุ่มธุรกิจเดียวที่กำลังทำสงครามราคาในจีน เกือบทุกภาคส่วน ไล่ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงรถยนต์ ต่างปรับลดราคาลงอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกตะลึงในรูปแบบการบริโภคภายในประเทศแห่งนี้
ในเทศกาลชอปปิ้ง 618 ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของการบริโภคภายในจีน พบเห็นการแข่งขันการลดราคาสินค้ากันอย่างดุเดือด จากบรรดาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั้งหลายและแบรนด์สินค้าต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทที่มองว่าการแข่งขันหั่นราคานั้นโหดร้ายเกินไป จึงตัดสินใจบอยคอตต์ไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
มากกว่า 50 บริษัทที่เคยจองเอาไว้ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมในวันจันทร์ (20 พ.ค.) ระบุว่าพวกเขาจะไม่เข้าร่วมเทศกาลชอปปิ้งในปีนี้ เพราะว่ามีการบังคับให้พวกเขาใช้นโยบายเชิงรุกทางราคามากเกินไป โดยกำหนดให้บรรดาบริษัทที่เข้าร่วมต้องลดราคาถึงระดับ 20% ถึง 30% เลยทีเดียว
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)