xs
xsm
sm
md
lg

ดิ้นเฮือกสุดท้าย! นายกฯ อังกฤษยุบสภาก่อนกำหนด จัดการเลือกตั้งใหม่วันที่ 4 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศยุบสภาในวันพุธ (22 พ.ค.) และจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 4 กรกฎาคม ระบุว่าชาวสหราชอาณาจักรควรได้สิทธิเลือกอนาคตของตนเองในการโหวตที่ถูกคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาจะเป็นฝ่ายปราชัยแก่พรรคเลเบอร์ พรรคฝ่ายค้าน หลังจากอยู่ในอำนาจมานาน 14 ปี

หลังจากปล่อยให้คาดเดามานานหลายเดือนว่าเมื่อไหร่เขาจะยุบสภา ซูแน็ก วัย 44 ปี ยืนแถลงข่าวอยู่บริเวณด้านนอกทำเนียบนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิ่ง ท่ามกลางฝนที่ตกลงมา และประกาศจัดเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดเป็นเวลาหลายเดือน ยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากพรรคของเขามีคะแนนนิยมตามหลังพรรคเลเบอร์ค่อนข้างห่าง ในผลสำรวจความคิดเห็นต่างๆ หลายสำนัก

ระหว่างการแถลงข่าว ซูแน็ก ได้หยิบยกบัญชีรายการต่างๆ ที่เขาอวดอ้างประสบความสำเร็จภายใต้รัฐบาลของเขา โดยไม่ใช่เพียงเฉพาะตอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครั้งที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังด้วย

"ตอนนี้คือช่วงเวลาสำหรับชาวสหราชอาณาจักรที่จะเลือกอนาคตของประเทศ และตัดสินใจว่าประเทศต้องการเดินหน้าในกระบวนการที่เราทำมา หรือเสี่ยงกลับไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งไม่มีความแน่นอน" เขากล่าว "ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราจะต่อสู้เพื่อทุกคะแนนโหวต ผมจะขอความไว้วางใจจากคุณและผมจะพิสูจน์กับคุณว่า มีเพียงรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดยผมเท่านั้น ที่จะไม่นำพาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตกอยู่ในความเสี่ยง"

เขาใช้โอกาสนี้กล่าวหา เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ มักคิดตื้นๆ และไม่มีแผนใดๆ ผลก็คืออนาคตของประเทศบนบ่าของพวกเขาจะตกอยู่ในความไม่แน่นอน

ด้าน สตาร์เมอร์ ซึ่งดึงพรรคเลเบอร์กลับมาอยู่ในสายกลาง หลังก่อนหน้านี้เอียงซ้ายมาตลอด ตอบโต้ด้วยถ้อยแถลงที่มุ่งเน้นเพียงถ้อยคำเดียว นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง "ในวันที่ 4 กรกฎาคม ผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้เลือก และถ้าเราร่วมใจกัน เราจะสามารถหยุดความยุ่งเหยิง เราจะสามารถพลิกโฉม เราสามารถเริ่มฟื้นฟูสหราชอาณาจักรและเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา"

การมุ่งหน้าสู่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ซูแน็ก ไม่ใช่แค่มีคะแนนนิยมตามหลังพรรคเลเบอร์ ในผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ เท่านั้น แต่เขายังถูกโดดเดี่ยวจากผู้คนบางส่วนภายในพรรคของตนเองด้วย ทำให้เขาจำเป็นต้องพึ่งพิงคณะที่ปรึกษากลุ่มเล็กๆ ในการนำพาเขาก้าวผ่านในสิ่งที่เรียกว่าการรณรงค์หาเสียงอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเขาได้ตัดสินใจแล้ว ด้วยเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง เงินเฟ้ออ่อนตัวลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับร้อนแรงที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี มันจึงถึงเวลาที่ต้องเสี่ยงและนำเสนอวาระต่างๆ ของตนเองแก่พวกผู้มีสิทธิลงคะแนน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟหลายคน ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม คาดเดาว่าหลังจากนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอาจเลวร้ายลง ดังนั้นมันจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่บางส่วนก็รู้สึกช็อกกับกำหนดการดังกล่าว จากเดิมที่คาดหมายว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงฤดูไบไม้ร่วง ขณะที่กรอบเวลาสำหรับจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไปนั้น จะต้องจัดขึ้นก่อนสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า

ถ้าพรรคเลเบอร์ ซึ่งมีคะแนนนิยมนำหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟอยู่ราว 20% คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งสหราชาอาณาจักร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันในฐานะชาติที่มีเสถียรภาพทางการเมือง จะมีนายกรัฐมนตรี 6 คนในรอบ 8 ปี เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษ 1830

แม้พรรคเลเบอร์มีคะแนนนิยมนำหน้า แต่เจ้าหน้าที่พรรคบางส่วนมีความกังวลว่าความได้เปรียบของพวกเขาดูจะไม่แข็งแกร่งอย่างที่เห็น โดยเกรงว่าผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากยังไม่ได้ตัดสินใจ พวกเขารู้ดีว่ายังมีความท้าทายต่างๆ พรรคจำเป็นต้องคว้าคะแนนเหวี่ยงให้ได้มากที่สุด เพื่อครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น