ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) คาดว่าจะมีสิทธิขอรับเงินชดเชยกันถ้วนหน้า ทว่าด้วยเงื่อนไขของอนุสัญญาระหว่างประเทศทำให้วงเงินชดเชยที่ผู้โดยสารจะได้รับนั้นอาจ “แตกต่าง” กันอย่างมาก แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่เหมือนกันก็ตาม
เหตุไม่คาดฝันซึ่งเกิดขึ้นบนเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ซึ่งเดินทางจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์ ส่งผลให้มีผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน ขณะที่กัปตันตัดสินใจขอนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาราว 15.45 น. วานนี้ (21) โดยโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ยืนยันว่ามีการรับผู้บาดเจ็บเข้ารักษารวมทั้งสิ้น 71 คน
ทนายความด้านการบินของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า ตามอนุสัญญามอนทรีออล (Montreal Convention) หรือชื่อย่อ MC99 ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ สิงคโปร์แอร์ไลน์สต้องรับผิดตามกฎหมายต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงการตกหลุมอากาศ (turbulence) ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทละเลยหรือไม่ก็ตาม โดยผู้โดยสารสามารถฟ้องเรียกเงินชดเชยได้สูงสุดถึง 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.37 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากผู้โดยสารต้องการเรียกเงินชดเชยสูงกว่านั้น ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์สก็อาจพยายามจำกัดความรับผิดได้ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่านักบินได้ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหลุมอากาศ ทว่าส่วนใหญ่ข้อโต้แย้งลักษณะนี้มักจะฟังไม่ขึ้นในชั้นศาล ความเห็นของ ไมค์ ดันโก (Mike Danko) ทนายความจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นตัวแทนผู้โดยสาร
ดันโก ระบุเพิ่มเติมว่า สายการบินอาจพยายามจำกัดการรับผิดได้ด้วยการพิสูจน์ว่าผู้โดยสารเองก็มีส่วนผิดด้วย เช่น ไม่ใส่ใจคำเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น
วงเงินชดเชยนั้นส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับประเทศที่ผู้โดยสารยื่นฟ้อง รวมถึงข้อกฎหมายที่ประเทศนั้นๆ ใช้ในการพิจารณาวงเงินชดเชย
“สิ่งที่สำคัญที่สุดประการแรกก็คือ เขตอำนาจศาลที่คุณจะสามารถยื่นฟ้องได้ และประเทศนั้นๆ กำหนดวงเงินในการเคลมค่าเสียหายจากอาการบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน” แดเนียล โรส ทนายความนิวยอร์กจากบริษัทกฎหมาย Kreindler & Kreindler ซึ่งเป็นตัวแทนว่าความให้ผู้โดยสาร ระบุ
ในกรณีของสหรัฐฯ คณะลูกขุนเคยตัดสินให้ผู้โดยสารได้รับเงินชดเชยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากความชอกช้ำทางจิตใจ (emotional trauma) ที่ต้องเผชิญหลังผ่านประสบการณ์ตกหลุมอากาศบนเครื่องบิน ทว่าศาลของประเทศอื่นๆ อาจตัดสินให้สายการบินจ่ายชดเชยน้อยกว่านี้มากสำหรับบาดแผลทางใจในลักษณะเดียวกัน
อนุสัญญามอนทรีออลยังมีการวางกฎเกณฑ์ที่รัดกุมเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรียกเงินชดเชย ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร สถานที่ซื้อบัตรโดยสาร หรือถิ่นที่อยู่ของตัวผู้โดยสารเอง
สำหรับกรณีของเที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากลอนดอนไปยังสิงคโปร์ และมีผู้โดยสารจากทั่วโลก ทนายความด้านการบินชี้ว่าผู้โดยสารชาวอังกฤษที่ซื้อตั๋วแบบไป-กลับสามารถยื่นฟ้องต่อศาลในสหราชอาณาจักรได้ ขณะที่ผู้โดยสารซึ่งมีแผนต่อเครื่องที่สิงคโปร์เพื่อกลับบ้านที่อินโดนีเซียก็จะต้องยื่นฟ้องศาลอินโดนีเซีย ดังนั้นวงเงินชดเชยที่ได้รับสำหรับอาการบาดเจ็บที่เหมือนกันก็อาจแตกต่างกันอย่างมาก
เคอร์ทิส ไมเนอร์ (Curtis Miner) ทนายความจากรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นตัวแทนผู้โดยสาร ให้ข้อมูลว่า ตอนที่เครื่องบินเอเชียนาแอร์ไลน์สตกกระแทกรันเวย์ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2013 ผู้โดยสารที่บาดเจ็บได้รับเงิยชดเชยเยียวยาแตกต่างกันมาก เพราะส่วนใหญ่ซื้อตั๋วเครื่องบินแบบไป-กลับที่มีต้นทางจากหลากหลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
“ผู้โดยสารมาจากหลากหลายสถานที่ ดังนั้นคนที่บาดเจ็บพอๆ กัน บางคนอาจฟ้องศาลที่ซานฟรานซิสโกได้ ในขณะที่บางคนทำไม่ได้” ไมเนอร์ กล่าว
ที่มา : รอยเตอร์