(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Squad ditches Quad to keep US heat on China
By VIJAY PRASHAD
17/05/2024
หลังจากอินเดียทำท่าอิดออดไม่ปรารถนาสะบั้นสัมพันธ์และเลิกซื้อน้ำมันถูกจากรัสเซีย ตลอดจนไม่เต็มใจเข้าร่วม “นาโต้+” หรือหนุนสงครามเย็นครั้งใหม่ที่มุ่งต่อต้านจีน สหรัฐฯก็ตัดสินใจทิ้ง “กลุ่มคว็อด” (Quad) และหันมาชูกลุ่ม “สคว็อด” (Squad) ให้เป็นกลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงอย่างไม่เป็นทางการใน “อินโด-แปซิฟิก” ซึ่งมีแนวทางคัดค้านปักกิ่งของตน โดยสิ่งสำคัญที่ Squad แตกต่างไปจาก Quad ก็คือ มันไม่มีอินเดียอยู่ในกลุ่ม หากแต่มีฟิลิปปินส์ ซึ่งแสดงความกระตือรื้อร้นจะเข้าร่วมกับแผนการเช่นนี้มากกว่า อีกทั้งวอชิงตันดูจะสามารถจะโน้มน้าวจูงใจได้ง่ายกว่า
ตอนต้นเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมา กองทัพเรือของ 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, และสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกร่วมทางทะเลขึ้นในทะเลจีนใต้
เรือรบ “วอร์รามังกา” (Warramunga) ของออสเตรเลีย, “อะเกโบโนะ” (Akebono) ของญี่ปุ่น, “อันโตนิโอ ลูนา” (Antonio Luna)ของฟิลิปปินส์, และ “โมบีล” ของอเมริกา ได้ปฏิบัติงานร่วมกันในน่านน้ำเหล่านี้เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความสามารถร่วมในด้านต่างๆ ของพวกเขา และ—อย่างที่พวกเขาระบุเอาไว้ในคำแถลงร่วม [1] ฉบับหนึ่ง— เพื่อ “แสดงความสนับสนุนเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน และการเคารพในสิทธิต่างๆ ทางทะเลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”
อีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา นั่นคือ ระหว่างวันที่ 22 เมษายนถึง 8 พฤษภาคม เรือหลายลำจากฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการเคียงข้างกับกำลังทหารเรือของออสเตรเลียและฝรั่งเศส ในการซ้อมรบที่ใช้ชื่อว่า “บาลิกาตัน 2024” (Balikatan 2024) [2]
สำหรับการฝึกร่วม บาลิกาตัน (นี่เป็นคำในภาษาตากาล็อก แปลว่าเคียงบ่าเคียงไหล่) คราวนี้ มีกำลังทหารเข้าร่วมรวมแล้วมากกว่า 16,000 คน โดยใช้พื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ซึ่งอยู่ด้านนอกน่านน้ำอาณาเขตของฟิลิปปินส์
นอกเหนือจากกองทัพเรือของชาติเหล่านี้แล้ว หน่วยยามฝั่งแห่งฟิลิปปินส์ (the Coast Guard of the Philippines) ก็เข้าร่วมในการฝึกร่วม บาลิกาตัน ครั้งนี้ด้วย
เรื่องนี้มีความสำคัญ เนื่องจากพวกเรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์นี่แหละที่มีการเผชิญหน้า [3] กับประดาเรือของจีนในน่านน้ำสากลเหล่านี้อย่างบ่อยครั้งที่สุด โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการพิพาทกันระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์
ถึงแม้พวกเอกสารอย่างเป็นทางการของการซ้อมรบร่วมเหล่านี้ ไม่ได้มีการเอ่ยชื่อประเทศจีน แต่มันเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่การเอ็กเซอร์ไซส์พวกนี้ถูกออกแบบวางแผนจัดขึ้นมา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางทหารซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวชายแดนทางทะเลของจีน จากการออกแรงขับดันของสหรัฐฯ
ระหว่างการฝึกบาลิกาตันครั้งนี้ เรือรบจากกองทัพเรือของฟิลิปปินส์และของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันเข้าโจมตีและจมเรือซึ่งถูกปลดประจำการแล้วลำหนึ่งของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ที่มีชื่อว่า “บีอาร์พี เลค คาลิรายา” (BRP Lake Caliraya) เรือลำนี้ –ซึ่งต่อขึ้นในประเทศจีน—ทางเจ้าของเดิม คือ บริษัทน้ำมันแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippine National Oil Company) ได้บริจาคให้แก่กองทัพเรือตั้งแต่เมื่อปี 2014
ข้อเท็จจริงที่ว่า มันเป็นเรือเพียงลำเดียวในกองทัพเรือฟิลิปปินส์ซึ่ง “เมดอินไชน่า” ทำให้เหตุการณ์คราวนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นมาโดยที่ฝ่ายจีนไม่ได้จับจ้องให้ความสนใจ [4] ขณะที่ พันเอกฟรานเซล มาร์กาเร็ต ปาดิลลา-ตาบอร์ลูปา (Francel Margareth Padilla-Taborlupa) โฆษกหญิงของกองทัพฟิลิปปินส์แถลง [5] ว่า เรื่องนี้เป็นเพียง “เหตุบังเอิญจริงๆ”
ระหว่างการซ้อมรบบาลิกาตัน รัฐมนตรีกลาโหมของ 4 ชาติหลักยังได้พบปะหารือกันที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ของสหรัฐฯ เพื่ออภิปรายกันถึงนัยทางการเมืองของการซ้อมรบร่วมเหล่านี้ ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณรอบนอกพื้นที่ชายฝั่งของประเทศจีน
รัฐมนตรี ริชาร์ด มาร์เลส (Richard Marles) ของออสเตรเลีย, คิฮารา มิโนรุ (Kihara Minoru) ของญี่ปุ่น, กิลเบอร์โต ทีโอโดโร (Gilberto Teodoro) ของฟิลิปปินส์, และ ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) ของสหรัฐฯ พบกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองของพวกเขาแล้ว ในการพูดจาหารือกันเกี่ยวกับการร่วมมือประสานงานกันในภูมิภาคที่พวกเขาเรียกชื่อว่า “อินโด-แปซิฟิก”
แล้วก็เป็นริมขอบของการพูดจาหารือกันครั้งนี้นั่นเอง ที่บรรดาทีมประชาสัมพันธ์ของพวกรัฐมนตรีกลาโหมเหล่านี้ ได้เริ่มเผยแพร่คำว่า “สคว็อด” (Squad คำในภาษาอังกฤษที่แปลว่า หมู่, ฝูง, คณะ) เพื่ออ้างอิงหมายถึง 4 ประเทศเหล่านี้ ขณะที่พวกเขาไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการจัดตั้งกลุ่มร่วมมือทางทหารกลุ่มใหม่ขึ้นมาในเอเชียตะวันออก แต่ด้วยชื่อเรียกใหม่ชื่อนี้ย่อมส่อแสดงถึงเจตนาที่จะป่าวร้องการปรากฏขึ้นมาของกลุ่มๆ นี้ในทางพฤตินัย
จาก “กลุ่มคว็อด” กลายมาเป็น “กลุ่มสคว็อด”
ในปี 2007 ผู้นำของออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, และสหรัฐฯ ได้พบปะหารือกันในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อจัดตั้งกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการในระหว่างพวกเขาขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มสนทนาความมั่นคงจตุรภาคี (Quadrilateral Security Dialogue หรือเรียกกันย่อๆ ว่า กลุ่มคว็อด Quad ซึ่งก็คือ กลุ่ม 4) ขณะที่กองทัพของพวกเขาทั้ง 4 ได้เข้าร่วมการซ้อมรบที่ใช้ชื่อว่า “มาลาบาร์” (Malabar) ในพื้นที่ทะเลฟิลิปปินส์
ตอนแรกๆ ทีเดียว กลุ่มคว็อดไม่ได้รวมเอาฟิลิปปินส์เข้าไปด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีของแดนตากาล็อกในเวลานั้น ซึ่งคือ กลอเรีย อาร์โรโย (Gloria Arroyo) กำลังพยายามที่จะปรับปรุง [6] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเธอกับจีน
ปรากฏว่ากลุ่มคว็อดในตอนนั้นไม่ได้มีการพัฒนาไปถึงไหน สืบเนื่องจาก เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียตอนนั้น ไม่รู้สึกสบายใจกับการที่วอชิงตันกำลังตั้งท่าเป็นศัตรูมุ่งต่อสู้กับปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มคว็อดกลับฟื้นชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในปี 2017 ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในกรุงมะนิลาอีกคำรบหนึ่ง [7] โดยคราวนี้พวกเขามีวาระที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นว่า กำลังทำงานร่วมมือกันเพื่อต่อต้านคัดค้าน “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อันทะเยอทะยานของจีนในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งถูก เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson ) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนั้น ประทับตราเรียกขาน [8] ว่าเป็น “หลักเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งไล่ล่า (ประเทศอื่นๆ เป็น) เหยื่อ” (predatory economics)
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังกับการที่อินเดียแสดงความไม่สบายใจกับการรณรงค์สร้างแรงกดดันชนิดที่สหรัฐฯกำลังนำมาใช้เล่นงานจีนและรัสเซียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อินเดียนั้นปฏิเสธไม่ยอมหยุดซื้อพลังงานรัสเซียที่ลดราคาลงมามาก ซึ่งกลายเป็นการตัดสินใจที่มุ่งผลในทางปฏิบัติระหว่างช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งในแดนภารตะ (ถึงแม้เวลานี้อินเดียซื้อพลังงานรัสเซียลดน้อยลง [9] เรื่อยๆ)
เมื่อถูกสอบถามว่าอินเดียจะพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกรายหนึ่งของนาโต้+ หรือไม่ รัฐมนตรีต่างประเทศ เอส ชัยศังกระ ก็ตอบ [10] ว่า อินเดียไม่ได้มี “ความคิดจิตใจแบบนาโต้” อะไรกับเขาหรอก
การที่อินเดียแสดงท่าทีลังเล [11] ไม่ค่อยยินดีที่จะเข้าร่วมในสงครามเย็นครั้งใหม่ซึ่งมุ่งต่อต้านจีนกันอย่างเต็มที่เช่นนี้ สร้างความรำคาญให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ และด้วยเหตุนี้เองจึงมีการตัดสินใจพับเก็บโครงการเรื่องกลุ่มคว็อดเอาไว้ก่อน และหันมาปะติดปะต่อมุ่งสร้างกลุ่มสคว็อด กับรัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งดูสามารถจะโน้มน้าวจูงใจได้ง่ายกว่าและมีความกระตือรื้อร้นมากกว่า
อย่างไรก็ดี มีสิ่งสำคัญที่ต้องบันทึกเอาไว้ในที่นี้ด้วยว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อินเดียได้จัดส่ง [12] ขีปนาวุธร่อน “บราห์มอส” (BrahMos cruise missiles) ความเร็วเหนือเสียงล็อตหนึ่งไปให้ฟิลิปปินส์ที่ได้สั่งซื้อเอาไว้ด้วยราคา 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ขีปนาวุธเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยกิจการร่วมลงทุนระหว่างพวกผู้ผลิตอาวุธในอินเดียและรัสเซีย
ทั้งนี้ เรื่องที่ขีปนาวุธเหล่านี้อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างแรงกดดันครั้งใหม่ซึ่งมุ่งเล่นงานจีน ย่อมไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะถูกฝังจมหายไปในท่ามกลางรายละเอียดยิบย่อยของข้อตกลงซื้อขายคราวนี้อย่างแน่นอน
การยั่วยุหลังประกาศให้ความสำคัญแก่เอเชีย
นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯประกาศนโยบาย “ให้ความสำคัญที่สุดแก่เอเชีย” (pivot to Asia) วอชิงตันก็พยายามหาทางยั่วยุจีนมาโดยตลอด ทว่าสงครามการค้าของสหรัฐฯที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 อยู่ในอาการพังพาบไม่เป็นท่า ส่วนใหญ่แล้วสืบเนื่องจากแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ตลอดจนความพยายามของแดนมังกรที่จะสร้างสายการผลิตระดับก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อหลบหลีกการจำกัดกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ (ตัวอย่างเช่น เมื่อสหรัฐฯพยายามกีดกันไม่ให้จีนนำเข้าชิปเซมิคอนดักเตอร์ ฝ่ายจีนก็พัฒนา [13] ความสามารถในการผลิตของพวกเขาเองขึ้นมา)
ความพยายามของสหรัฐฯที่จะทำให้ไต้หวันเข้าสู่การเป็นแนวหน้าในการรณรงค์สร้างแรงกดดันของตนต่อจีน ก็ดูไม่ได้บังเกิดผลอะไรนักหนาเช่นกัน การสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ของ ไล่ ชิงเต๋อ ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ คือการนำเอาชายผู้ซึ่งไม่ได้สนอกสนใจในการผลักดันให้ไต้หวันเป็นเอกราชจริงจังอะไร [14] ขึ้นสู่อำนาจ โดยที่มีประชากรของไต้หวันเพียงแค่ 6% เท่านั้นซึ่งนิยมชมชื่น [15] การรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีน หรือเห็นดีเห็นงามกับการเป็นเอกราช ขณะที่ประชากรอีกจำนวนมากมายที่เหลืออยู่มีความพออกพอใจกับการรักษาสถานะเดิมอย่างในปัจจุบันเอาไว้
เนื่องจากไม่สามารถที่จะใช้ไต้หวันมาเป็นตัวยั่วยุจีนได้ตามที่ปรารถนา สหรัฐฯจึงหันมาเล็งที่ฟิลิปปินส์แทน ขณะที่ฟิลิปปินส์กับจีนมีการพิพาทกันเกี่ยวกับสถานะของหมู่เกาะจำนวนมากที่อยู่ในน่านน้ำซึ่งคั่นกลางระหว่างพวกเขา แต่ความไม่ลงรอยเหล่านี้ก็ไม่เพียงพอที่จะขับดันให้พวกเขาไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามทีต้องการเข้าสู่สงคราม
ในเดือนเมษายน 2024 อดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ กล่าวทบทวนความหลัง [16] ว่า เมื่อตอนที่เขาเป็นประธานาธิบดี (ระหว่างปี 2016 – 2022) “ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน พวกเราสามารถกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้ ผมหวังว่าเราสามารถที่จะยุติการเอะอะโวยวายกันตรงนั้นได้ เพราะอเมริกันนั่นแหละคือผู้ที่คอยผลักดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ออกไปที่นั่นและหาเรื่องทะเลาะ และในท้ายที่สุดกระทั่งอาจจะเริ่มสงครามขึ้นมาอีกด้วย”
ในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีมาร์กอสแถลง [17] ว่า เขา “ไม่ได้กำลังพยายามแหย่หมี” และไม่ได้ต้องการที่จะ “ยั่วยุ” จีน อย่างไรก็ดี การก่อตัวขึ้นมาของกลุ่มสคว็อดในอีก 2 เดือนถัดจากนั้น กลับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเวลานี้ฟิลิปปินส์ได้เข้าแทนที่ไต้หวันแล้ว ในฐานะของการเป็นรัฐแนวหน้าสำหรับที่สหรัฐฯจะใช้เพื่อการยั่วยุต่อต้านจีน
รองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน จาง โย่วเสีย ออกมากล่าวเตือน [18] “การเบ่งกล้ามอวดเรือปืน” เช่นนี้ โดยบอกว่า “ความเป็นจริงได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกที่กระทำการยั่วยุอย่างจงใจ, เติมเชื้อไฟให้แก่ความตึงเครียด, หรือสนับสนุนให้ฝ่ายหนึ่งเป็นปรปักษ์กับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์อันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของตน ในท้ายที่สุดแล้วก็มีแต่สร้างอันตรายให้แก่ตัวเองเท่านั้น”
ข้อเขียนชิ้นนี้ผลิตขึ้นโดย โกลบทร็อตเตอร์ (Globetrotter) บริการรวบรวมข่าวระหว่างประเทศอิสระสำหรับประชาชนแห่งซีกโลกใต้ (Global South) โดยมุ่งเผยแพร่ทัศนะมุมมองในขอบเขตกว้าง
วีเจย์ ปราสาด เป็นนักประวัติศาสตร์, บรรณาธิการ, นักหนังสือพิมพ์, และหัวหน้าผู้สื่อข่าวอยู่ที่ โกลบทร็อตเตอร์ เขายังคงเป็นบรรณาธิการคนหนึ่งของสำนักพิมพ์ เลฟต์เวิลด์บุ๊กส์ (LeftWord Books) และเป็นผู้อำนวยการของ ไทรคอนติเนนทอล: สถาบันเพื่อการวิจัยทางสังคม (Tricontinental: Institute for Social Research)
เขาเขียนหนังสือมาแล้วมากกว่า 20 เล่น รวมทั้งเรื่อง The Darker Nations และ The Poorer Nations โดยหนังสือ 2 เล่มล่าสุดของเขาได้แก่ Struggle Makes Us Human: Learning from Movements for Socialism และ The Withdrawal: Iraq, Libya, Afghanistan, and the Fragility of U.S. Power (เขียนร่วมกับ โนม ชอมสกี้ Noam Chomsky)
เชิงอรรถ
[1]https://www.defense.gov/News/Releases/Release/Article/3733095/joint-statement-australia-japan-philippines-united-states-maritime-cooperative/#:~:text=Australia%2C%20Japan%2C%20the%20Philippines%2C,of%20the%20Sea%20(UNCLOS).
[2]https://www.marforpac.marines.mil/Media-Room/Pacific-Marines-Stories/Article/Article/3771258/philippines-and-us-conclude-balikatan-exercises-shoulder-to-shoulder/
[3] https://www.scmp.com/week-asia/opinion/article/3262268/us-backed-philippines-asserts-itself-against-china-war-games-risk-heating-tensions-sea
[4]https://www.globaltimes.cn/page/202404/1310935.shtml
[5] https://news.abs-cbn.com/news/2024/5/7/afp-all-systems-go-for-ship-sinking-exercise-in-balikatan-1728
[6]https://www.officialgazette.gov.ph/2007/06/06/speech-of-president-arroyo-upon-her-visit-to-china-june-6-2007/?__cf_chl_tk=tbYPTZjE50bpmxTknwQ_tgPK0BzI3zqBuaF_a.E4.zk-1715735320-0.0.1.1-1770
[7]https://www.thehindu.com/news/national/india-highlights-indo-pacific-cooperation-at-the-first-quad-talks/article61856670.ece
[8] https://csis-website-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/event/171018_An_Address_by_U.S._Secretary_of_State_Rex_Tillerson.pdf
[9]https://www.hindustantimes.com/business/why-indias-oil-purchase-from-russia-declined-hardeep-singh-puri-explains-101704339597321.html
[10] https://theprint.in/diplomacy/quad-is-not-asian-nato-india-never-had-nato-mentality-jaishankar-says/639924/
[11]https://eastasiaforum.org/2024/02/28/the-quads-growing-focus-on-maritime-security/
[12]https://www.thehindu.com/news/national/india-delivers-first-batch-of-brahmos-to-philippines/article68084161.ece
[13]https://www.reuters.com/technology/chinese-firms-make-headway-producing-high-bandwidth-memory-ai-chipsets-2024-05-14/
[14]https://www.brookings.edu/articles/beware-forecasts-of-doom-for-taiwan-under-lai/
[15] https://www.wilsoncenter.org/blog-post/taipei-beijing-and-status-quo
[16]https://www.globaltimes.cn/page/202404/1310479.shtml
[17]https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-03-19/marcos-warns-on-china-threat-says-he-s-not-poking-the-bear
[18] https://www.rappler.com/world/asia-pacific/china-committed-resolving-maritime-disputes-talks-zhang-youxia/