“ค้างส่งบันทึกการเงินประจำปี” และ “ค้างชำระค่าต่อทะเบียนรายปี” เนิ่นนานปีกว่า แต่พอมูลนิธิอาร์ชแวลล์ของปรินซ์แฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในช่วงบ่ายๆ วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2024 ทุกสิ่งอย่างก็เสร็จสิ้นปิดจบได้อย่างฉับพลันดั่งมีผู้วิเศษมาเสกให้ปิ๊งๆ วิ้งๆ ภายในวันถัดมา 14 พฤษภาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่นของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งที่ปัญหานี้เคยถูกดองข้ามปีตั้งแต่ศักราช 2023
แต่ปริศนานัวๆ ที่คงจะเก้อถ้ารอคำเฉลย มีอยู่ว่า ถ้ามูลนิธิอาร์ชแวลล์สามารถยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมชำระค่าต่อทะเบียนมูลนิธิได้ทันทีทันควันขนาดนี้ ไฉนจึงดึงเรื่องไว้ข้ามปี และกระทั่งว่ามูลนิธิถูกขึ้นบัญชีค้างชำระหนี้แก่รัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 ก็ยังดึงยังดองเรื่องเรื่อยมาจนถึงเดือนนี้ – พฤษภาคม ก่อนที่จะ ...
จู่ๆ ... พอกลายเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา ปัญหาหมกเม็ดนี้ก็ถูกเคลียร์เสร็จปิดจบภายในหนึ่งหรือครึ่งวันหลังจากที่ปรินซ์แฮร์รีและพระชายาเมแกนปรับเส้นทางเครื่องบินเจ็ตเหมาลำจากไนจีเรียสู่แคลิฟอร์เนีย ให้ไปแวะกรุงลอนดอน เพื่อ “จัดการธุระด่วนเรื่องร้อนฉ่า” ในวันอังคาร (14) และเมื่อเรียบร้อยลงจนได้ในที่สุด ก็จึงเดินทางกลับถึงพระตำหนักมอนเตซิโตในนครลอสแอนเจลิส ด้วยพระพักตร์เครียดหมองอัปเซ็ตสุดๆ
ดังนั้น เรื่องราวที่เคลียร์เสร็จสิ้นกับทางการแคลิฟอร์เนีย โดยแท้จริงนั้น มีความซับซ้อนซ่อนอยู่ในมุมใดหรือไม่และอย่างไร
ที่สำคัญคือ มูลนิธิอาร์ชแวลล์ถูกหน่วยงานเฝ้าระวังการดำเนินงานของบรรดามูลนิธิในสหรัฐอเมริกา คือ CharityWatch คอมเมนต์ไว้ว่า อาร์ชแวลล์มีความโปร่งใสไม่เพียงพอ และมีธรรมาภิบาลไม่ดีพอ
มูลนิธิอาร์ชแวลล์ของปรินซ์แฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล ถูกสำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รัฐแคลิฟอร์เนีย ขึ้นบัญชีค้างชำระหนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 เนื่องจากว่าในการยื่นรายงานการเงินประจำปี 2022 ยังมีเอกสารจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้นำส่ง ซึ่งทำให้การชำระเงินค่าต่ออายุทะเบียนมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นมูลนิธิอาร์ชแวลล์ (ซึ่งยังมิได้ยุติกิจการ) จึงมีสถานภาพว่าค้างชำระหนี้ค่าต่ออายุทะเบียน ตราบเท่าที่ยังนำส่งเอกสารที่จำเป็นต่างๆ ไม่ครบถ้วน และหากยังไม่นำส่งเอกสารให้ถูกต้องอันเป็นการละเลยมาตั้งแต่ปี 2023 ปัญหาเรื่องนี้อาจจะไปถึงขั้นที่ทำให้อาร์ชแวลล์ถูกเพิกถอนทะเบียน
สื่อใหญ่ยักษ์ทั้งปวงในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษรายงานข่าวดังกล่าวกันอย่างเอิกเกริกในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2024 ตามเวลาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงเช้าวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2024 ของประเทศอังกฤษ และเป็นวันเวลาที่ปรินซ์แฮร์รีและพระชายาเมแกน เสร็จสิ้นการเยือนประเทศไนจีเรียอย่างไม่เป็นทางการเรียบร้อยแล้ว (10-12 พฤษภาคม) โดยอยู่ระหว่างเดินทางกลับแคลิฟอร์เนีย
เดลิเมลดอทคอมซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายข่าวเจ้าแรกๆ ที่นำเสนอเรื่องอย่างละเอียด ยืนยันว่าได้เห็นข้อมูลของสำนักทะเบียนฯ ที่ระบุว่า มูลนิธิอาร์ชแวลล์ถูกประกาศเป็นหน่วยงานค้างชำระหนี้ให้แก่ภาครัฐตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ 2024
ทั้งนี้ เนื้อหาในย่อหน้าที่ 1 ของหนังสือโนติส (ภาพที่ 2) ชี้ว่า รายงานประกอบการชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการจดทะเบียนมูลนิธิรายปียังไม่เรียบร้อย เพราะรอเอกสารจำเป็นที่มูลนิธิอาร์ชแวลล์ยังมิได้แนบไปกับตัวแบบฟอร์ม (นับตั้งแต่ที่ถึงกำหนดยื่นเรื่องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023) ซึ่งเดอะซัน สื่อยักษ์นามกระเดื่องของอังกฤษ บอกว่ายังไม่ได้นำส่งข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
พร้อมนี้ ในย่อหน้าที่ 2 ของหนังสือโนติสลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2024 ซึ่งเดลิเมลดอทคอมได้นำเสนอไว้ในเนื้อข่าว กำหนดให้มูลนิธิอาร์ชแวลล์รีบนำส่งเอกสาร 2 รายการสำคัญ ได้แก่ ข้อที่1.รายงานประกอบการชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการจดทะเบียนประจำปี (แบบฟอร์ม RRF 1 ที่มีการแนบเอกสารประกอบรายงานไปอย่างครบถ้วน) พร้อมด้วยเงินค่าธรรมเนียมต่ออายุทะเบียน และ ข้อที่2.แบบฟอร์มสรรพากร 990 (EZ/PF) สำหรับรอบปีบัญชีที่ถูกระบุว่าต้องแก้ไข หรือไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่ได้ยื่น (โปรดดูข้อความที่ขีดเส้นใต้ ในภาพที่ 2 ย่อหน้าที่ 2)
ในการนี้ หนังสือโนติสได้เน้นพิเศษในด้านรายละเอียดการค้างชำระค่าธรรมเนียมไว้อย่างมากมาย
โดยบอกว่าสถานภาพการค้างชำระหนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงฐานะการเงินที่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับหน่วยงานที่ระดมทุนจากสาธารณชน ดังนั้น มูลนิธิอาร์ชแวลล์ จึงถูกห้ามดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะในส่วนของการรับเงินบริจาคเข้ามูลนิธิ หรือการจ่ายเงินออกจากมูลนิธิ
นับจากที่มูลนิธิอาร์ชแวลล์ถูกประกาศเป็นนิติบุคคลค้างชำระหนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ก็รออยู่ 3-4 เดือน ก่อนจะส่งหนังสือแจ้งเตือนและเร่งรัด
และในหนังสือฉบับนี้ สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ย้ำรายละเอียดการค้างค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในด้านของผลกระทบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านของบทลงโทษ และในด้านของค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า ตลอดจนในด้านของความเสี่ยงที่จะถูกระงับสถานภาพชั่วคราว หรือกระทั่งอาจจะถูกเพิกถอนสถานภาพมูลนิธิจดทะเบียน
หนังสือโนติสดังกล่าวซีเรียสทีเดียว กล่าวคือแม้จะเป็นหนังสือจากหน่วยงานระดับสำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ แต่ผู้ลงนามหนังสือ คือ อัยการสูงสุดแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย นามว่า ร็อบ บอนตา ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของสำนักงาน
ลำดับเวลาปัญหาการต่ออายุทะเบียนมูลนิธิอาร์ชแวลล์
ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทำการเปิดตัวมูลนิธิอาร์ชแวลล์ ในอเมริกาอย่างเอิกเกริกครึกโครมเมื่อปี 2020 และมีการดำเนินงานเรียบร้อยในปี 2021 ด้วยงบดำเนินการจากเงินบริจาคอุ่นหนาฝาคั่ง คือ 11 ล้านดอลลาร์ ในการนี้ การต่ออายุทะเบียนมูลนิธิที่ดำเนินการช่วงต้นปี 2022 เสร็จสิ้นเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม เงินบริจาคในปี 2022 ลดฮวบลงเหลือ 2 ล้านดอลลาร์ และมีปัญหาการยื่นเอกสารขอต่ออายุทะเบียนมูลนิธิที่ดำเนินการช่วงต้นปี 2023 โดยมีลำดับเวลาปมต่ออายุทะเบียนมูลนิธิ ดังนี้
ปี 2023 เดือนกุมภาพันธ์:
1.ไม่ได้ยื่นรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าธรรมเนียมสำหรับต่ออายุทะเบียนรายปี
2.ไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ
(ตามข้อมูลของสำนักงานจดทะเบียนฯ)
ปี 2023 เดือนพฤศจิกายน:
1.ทำการยื่นเรื่องขอต่ออายุทะเบียนมูลนิธิ
2.ส่งเช็คชำระค่าต่ออายุทะเบียน แต่เช็คสูญหายในขั้นตอนไปรษณีย์ / เช็คไม่ได้ถูกเบิกจ่าย
(ตามข้อมูลของมูลนิธิอาร์ชแวลล์)
ปี 2024 มกราคม:
อาร์ชแวลล์ถูกขึ้นบัญชีค้างชำระหนี้ค่าต่ออายุทะเบียน
ซึ่งแสดงว่าถ้ามีการยื่นเอกสาร เอกสารเหล่านั้นยังไม่ครบถ้วนเรียบร้อย จึงถูกจัดสถานภาพว่ายังไม่ได้ยื่นเรื่อง(ให้เสร็จสิ้น)
ปี 2024 พฤษภาคม:
สำนักงานฯ ส่งหนังสือลงวันที่ 3 พ.ค. เร่งรัดไปยังอาร์ชแวลล์ดังนี้
1.ให้นำส่งรายงานที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุทะเบียนมูลนิธิ (RRF1)
พร้อมค่าธรรมเนียมการต่ออายุทะเบียน
2.ให้นำส่งแบบฟอร์มสรรพากร 990 (EZ/PF) สำหรับรอบปีบัญชีที่ถูกระบุว่า ต้องแก้ไข หรือไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่ได้ยื่น
= และถูกแจ้งด้วยว่าจะไม่สามารถระดมทุนหรือมอบเงินทุน
(ตามข้อมูลของสำนักงานจดทะเบียนฯ)
มูลนิธิอาร์ชแวลล์เน้นชี้แจงปมเช็คต่ออายุทะเบียน แต่ประเด็นหลักอยู่ที่การนำส่งเอกสารประกอบการขอต่ออายุทะเบียน ซึ่งเดอะซันระบุว่าเป็นเรื่องของเอกสารข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
ด้านมูลนิธิอาร์ชแวลล์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนในวันจันทร์ (13) แบบไม่ตรงประเด็น คือ ไม่ได้ชี้แจงสาเหตุที่อาร์ชแวลล์ยังมิได้แนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปกับรายงานประกอบการชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการจดทะเบียนมูลนิธิรายปี (แบบฟอร์ม RRF 1) ซึ่งเป็นปัญหาหลัก แต่กลับชี้แจงว่าการที่เช็คสั่งจ่ายเงินค่าต่ออายุทะเบียนมูลนิธิไม่ได้ถูกส่งไปพร้อมเอกสารอื่นๆ นั้น เป็นอะไรที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น เพราะเป็นปัญหาจากการที่เช็คฉบับดังกล่าวสูญหายในขั้นตอนการส่งไปรษณีย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 และบัดนี้มูลนิธิได้ออกเช็คใบใหม่ส่งไปแล้ว ซึ่งหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ภายในไม่กี่วัน เดลิเมลดอทคอมรายงานไว้อย่างนั้น
ในวันถัดมา หลังจากที่ปัญหาคั่งค้างข้ามปี ปัญหานี้ก็เกิดจะสามารถเคลียร์จบปิดเรื่องได้ภายในหนึ่งวันทำการ อาร์ชแวลล์ออกมาแถลงเพิ่มเติมว่า ได้ทำการยื่นเรื่องเพื่อต่ออายุทะเบียนมูลนิธิไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 และอาร์ชแวลล์เปลี่ยนข้อมูลกันดื้อๆ เลยว่า เมื่อทำการยื่นเรื่อง อาร์ชแวลล์ส่งเช็คสั่งจ่ายเงิน 200 ดอลลาร์ไปด้วย (ซึ่งเป็นอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุทะเบียนมูลนิธิที่ได้รับเงินบริจาคต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์) แต่สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ มิได้นำเช็คไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
“เรารีบตรวจสอบเรื่องแล้ว และสามารถยืนยันว่ามูลนิธิอาร์ชแวลล์ให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่ และเรามีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง
“การชำระเงินเป็นไปตามกำหนดเวลา และสอดคล้องกับขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของสรรพากร
“ยิ่งกว่านั้น เอกสารจำเป็นทั้งหมดถูกนำส่งไปแล้วโดยไม่มีความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดใดๆ
“หลังจากติดต่อประสานกับสำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิและองค์กรระดมเงินบริจาคแห่งรัฐของเรา อาร์ชแวลล์ยังมีสถานภาพมูลนิธิ และมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง” โฆษกของอาร์ชแวลล์แจ้งไปกับสื่อมวลชนอย่างฉะฉาน ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของโฆษกองค์กรที่จะต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือต่อความรับรู้ของสาธารณชน
ในเวลาเดียวกัน บรรดาแหล่งข่าวของเดลิเมลดอทคอมซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ยืนยันว่าทางการแคลิฟอร์เนียนั่นแหละที่ไม่ได้นำเช็ค 200 ดอลลาร์ ไปดำเนินการขึ้นเงิน
ด้านสำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ออกประกาศในเย็นวันอังคาร 14 พฤษภาคม อย่างชัดเจนว่าเรื่องต่ออายุทะเบียนมูลนิธินี้ยุติแล้ว โดยที่ว่าฐานข้อมูลของสำนักงานบันทึกว่า เอกสารประกอบการยื่นเรื่องต่ออายุทะเบียนมูลนิธิถูกจัดส่งไปในวันที่ 14 พฤษภาคม เดลิเมลดอทคอมรายงานอย่างนั้น
แม้เรื่องอื้อฉาวเที่ยวล่าสุดของปรินซ์แฮร์รีและพระชายาเมแกนจะเคลียร์กับทางการแคลิฟอร์เนียได้ไวอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของอาร์ชแวลล์กล่าวกับเดลิเมลดอทคอมว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นกับอาร์ชแวลล์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะแม้จะโต้ตอบข่าวกันแบบนัวๆ โดยไปเน้นในประเด็นเงินค่าต่ออายุทะเบียนมูลนิธิ แต่สาธารณชนก็ได้เห็นข้อมูลกันแล้วว่าประเด็นหลักที่ปรินซ์และพระชายาไม่สามารถเคลียร์ได้และต้องปล่อยปัญหาให้เรื้อรังข้ามปี เป็นประเด็นของเอกสารที่ต้องแนบไปกับแบบฟอร์ม RRF1 และแบบฟอร์มสรรพากร 990
อาทิ เอกสารข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นในส่วนของค่าจ้างเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิซึ่งทะยานสูงลิ่วหลายแสนดอลลาร์ในปี 2022 จากเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า หรืออาจเป็นในส่วนของงานสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ เงินช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และเงินสนับสนุนโครงการสร้างสรรค์ต่างๆ
CharityWatch องค์การเฝ้าระวังความสุจริตและโปร่งใสของหน่วยการกุศล ชี้ว่ามูลนิธิอาร์ชแวลล์ “มีความโปร่งใสไม่มากเท่าที่ควรและมีธรรมาภิบาลไม่เพียงพอ”
พร้อมนี้ เดลิเมลดอทคอมรายงานข้อมูลจาก CharityWatch แชริตีวอตช์ (องค์การเฝ้าระวังการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งระดมทุนดำเนินงานด้วยการขอเงินบริจาคจากสาธารณชน) ว่าข้อมูลในรายงานการยื่นภาษีรอบปี 2022 ของมูลนิธิอาร์ชแวลล์ ที่เปิดเผยแก่สาธารณชนเมื่อเดือนธันวาคม 2023 แสดงให้เห็นว่าอาร์ชแวลล์ประสบปัญหาหนักหนาทีเดียว เพราะยอดเงินบริจาคที่ได้รับอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์ ลดน้อยฮวบลง 11 ล้านดอลลาร์จากเมื่อปี 2021 ที่เคยได้รับ 13 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2021 มีเงินเหลือมากกว่า 9 ล้านดอลลาร์ แต่ผลประกอบการในปี 2022 อยู่ในเกณฑ์ติดลบมากกว่า 674,000 ดอลลาร์ เพราะเงินบริจาคลดฮวบ แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนของมูลนิธิพุ่งทะยานเกือบ 400% ดังนี้
ในส่วนของค่าจ้างเจ้าหน้าที่ 5 ราย พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 640,441 ดอลลาร์ในปี 2022 ทะยานจากระดับ 163,085 ดอลลาร์ในปี 2021 โดยไปหนักอยู่ที่เงินเดือนผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฯ นามว่า เจมส์ โฮลด์ (คนสนิทของปรินซ์แฮร์รี และหัวหน้าทีมพีอาร์ในประเทศอังกฤษ) จำนวน 277,405 ดอลลาร์ต่อปี ทะยานขึ้นจากระดับ 60,000 ดอลลาร์ต่อครึ่งปีในปี 2021 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของหมวดค่าจ้างทั้งหมด
ลักษณะการบริหารค่าใช้จ่ายเยี่ยงนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่าออกจะผิดปกติวิสัย เพราะในเวลาที่รายรับหดวูบ ก็ต้องดึงให้รายจ่ายไม่เพิ่ม สิ่งใดที่ประวิงไปสู่ปีงบประมาณใหม่ได้ ก็ต้องประวิงไปก่อน พร้อมนี้ส่วนที่น่าสงสัยเป็นพิเศษคือ ทำไมจึงไม่ควบคุมค่าจ้างพนักงาน ทำไมจึงปล่อยให้ค่าใช้จ่ายหมวดนี้ขยายขึ้นไปกว่า 4 เท่าตัว
ในการนี้ CharityWatch ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระเพียงแห่งเดียวของสหรัฐฯ ที่ทำหน้าเฝ้าระวังความสุจริตและศักยภาพการบริหารของบรรดาองค์การสังคมสงเคราะห์ บอกเดลิเมลดอทคอมด้วยว่า มูลนิธิอาร์ชแวลล์ “มีความโปร่งใสไม่มากเท่าที่ควรและมีธรรมาภิบาลไม่เพียงพอ”
CharityWatch ชี้ไว้ว่ามูลนิธิอาร์ชแวลล์มิได้ดำเนินงานบริหารตามแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ ที่ได้รับความยอมรับอยู่ในสหรัฐฯ อาทิ จำนวนของกรรมการบริหารควรจะมีอย่างน้อย 5-7 ราย แต่มูลนิธิอาร์ชแวลล์เปิดเผยชื่อกรรมการมูลนิธิเพียง 2 ราย ได้แก่ ปรินซ์แฮร์รี 1 ราย และดัชเชสเมแกน 1 ราย ซึ่งปมตรงนี้เป็นจุดอ่อนให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่โปรงใส เพราะไม่มีบุคคลภายนอกเข้าไปป้องกันการทุจริต
นอกจากนั้น ในเดือนมกราคมปีนี้ CharityWatch ได้ขอสำเนาแบบฟอร์มสรรพากร 990 และงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีเซ็นรับรองแล้ว จากมูลนิธิอาร์ชแวลล์ แต่มูลนิธิมิได้ให้ความร่วมมือ ดังนั้น CharityWatch จึงยังไม่สามารถจัดเรตติงของอาร์ชแวลล์
สำนักงานจดทะเบียนฯ เลือกช่วงเวลาได้เฉียบขาด และข่าวก็ออกสื่อในวันเวลาซึ่งทำให้ปรินซ์และพระชายา เสียหน้ามหาศาล และต้อง “แวะไปกรุงลอนดอนโดยทันที” ก่อนจะลงเอยว่าปัญหาตั้งแต่ปี 2023 ยุติได้เสียที
เควิน ซัลลิแวน นักวิจารณ์การพระราชวงศ์และพิธีกรรายการสนทนาของ TALK TV เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2024 พร้อมด้วย รัสเซล เควิร์ก นักวิจารณ์คู่หู ชี้ประเด็นไว้ในระหว่างที่พูดถึงกรณีอื้อฉาวของมูลนิธิอาร์ชแวลล์ว่า จังหวะเวลาที่ปัญหาค้างปีของมูลนิธิอาร์ชแวลล์ปรากฏเป็นข่าวนั้น สมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง
เพราะปรินซ์แฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนไนจีเรียอย่างไม่เป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2024 โดยมีภาพลักษณ์อู้ฟู่หรูสง่าอย่างเหลือเกินภายใต้หมวกของนักส่งเสริมสังคม นักเชิดชูคุณงามความดีของมนุษยชาติ
แต่แล้ว อย่างไม่คาดฝัน ความโปร่งใสไม่มากเท่าที่ควรของมูลนิธิอาร์ชแวลล์ก็ถูกเปิดเผยสู่ความรับรู้ของสาธารณชน
“จังหวะเวลาของเรื่องนี้ได้เปิดโปง เมแกน มาร์เคิล พระชายาผู้แสนยโสหยิ่งผยอง ว่าเนื้อแท้ของเธอเป็นอย่างไรกันแน่ หลังจากที่ปรินซ์และพระชายาออกไปเยือนไนจีเรีย ไปพยายามโชว์ว่าพระองค์เลอเลิศเหลือเกิน” รัสเซล เควิร์ก กล่าวกับเควิน ซัลลิแวน อย่างนั้น
จังหวะเวลาดังกล่าวประกอบด้วยสองส่วน
ส่วนแรกคือ สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ขึ้นบัญชีค้างชำระหนี้ ไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 แต่เรื่องนี้ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวให้สาธารณชนล่วงรู้ ขณะเดียวกันมูลนิธิอาร์ชแวลล์ ซึ่งบอกว่าได้ทำการยื่นเรื่องขอต่ออายุทะเบียนมูลนิธิไปในเดือนพฤศจิกายน 2023 ก็มิได้จัดการแก้ไขปัญหาเอกสารไม่ครบถ้วน
ส่วนที่สองคือ สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ต้องออกหนังสือเร่งรัดไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ปรินซ์และดัชเชสได้เป็นข่าวหรูหราเป็นฮีโรส่งเสริมสังคมทุกวันในทริปเยือนประเทศไนจีเรียอย่างไม่เป็นทางการ ในพระภารกิจจัดเตรียมมหกรรมอินวิคตัสเกมส์ โดยเรื่องความไม่โปร่งใสในด้านเอกสารค่าใช้จ่าย เกิดจะเป็นข่าวอื้อฉาวในวันที่ทั้งสองพระองค์จะเดินทางกลับสหรัฐฯ และทำให้ภาพฮีโรอันงดงาม แตกโพละไปอย่างน่าเสียดาย
หนังสือโนติสจากสำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ไปถึงมูลนิธิอาร์ชแวลล์ในช่วงต้นสัปดาห์ที่สองของพฤษภาคม อันเป็นสัปดาห์ที่ปรินซ์แฮร์รีเสด็จไปกรุงลอนดอน (7-9 พฤษภาคม เสด็จเพียงลำพังพระองค์เดียว) ในพระภารกิจต่างๆ เกี่ยวกับการจัดมหกรรมกีฬานานาชาติ อินวิคตัส เกมส์ เพื่อทหารผ่านศึก
และในการดังกล่าว ปรินซ์ทรงมิได้รับโอกาสให้ได้เข้าเฝ้าคิงชาร์ลส์ พระราชบิดาและเสด็จพ่อเอทีเอ็ม เป็นการส่วนพระองค์ แม้จะทรงพยายามอย่างสุดความสามารถก็ตาม (โดยแหล่งข่าววงในพระราชสำนักเผยกับดิเอ็กซ์เพรสว่า คิงชาร์ลส์ทรงยังไม่ฟื้นพระพลานามัยเต็มที่จากโรคมะเร็ง พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะเว้นวรรคจากเรื่องรบกวนพระราชหฤทัยบ้าง ทรงต้องการความสงบสุขสักระยะหนึ่งบ้าง)
หลังจากนั้น ก็ต่อด้วยการเสด็จเยือนไนจีเรียอย่างไม่เป็นทางการ (10-12 พฤษภาคม มีพระชายเมแกนตามเสด็จ โดยไปพบกันที่กรุงอาบูจา) ตามการเชิญของหน่วยงานทหารไนจีเรียที่รับผิดชอบกิจกรรมอินวิคตัส เกมส์ ของไนจีเรีย
ซึ่งปรากฏว่าวันเวลาแห่งสัปดาห์ดังกล่าวผ่านไปโดยที่มูลนิธิอาร์ชแวลล์ยังคงนิ่งเฉยเช่นที่เคยๆ เป็นมา คือ มิได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารที่ต้องประกอบไปกับแบบฟอร์มสรรพากร 990 (EZ/PF) สำหรับรอบปีบัญชีที่ถูกระบุว่าต้องแก้ไข หรือไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่ได้ยื่น”
และแล้วปัญหาหมกเม็ดเรื้อรังในประการนี้ของมูลนิธิอาร์ชแวลล์ก็เกิดจะเป็นที่รับรู้ของสื่อมวลชนใหญ่ยักษ์ทั้งปวง และมีการนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครมในเย็นวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมของกรุงลอนดอน ซึ่งเดลิเมลดอทคอมรายงานว่าปรินซ์แฮร์รีกับพระชายาอยู่ระหว่างการเดินทางกลับสหรัฐฯ
เป็นธรรมดาอยู่เองที่เรื่องอื้อฉาวขนาดนี้จะถล่มทำลายภาพลักษณ์หรูวิจิตรของปรินซ์แฮร์รีและพระชายาเมแกน ซึ่งจะไม่สามารถนิ่งนอนใจกับปัญหาเอกสารไม่ครบถ้วนได้อีกต่อไปแม้เพียงวันเดียว เพราะอาจจะเป็นอะไรที่น่าอับอายหรือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิ
กระนั้นก็ตาม ปัญหาการนำส่งเอกสารเพิ่มเติมนี้ อาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าสามารถจัดหาไปนำส่งได้ มูลนิธิอาร์ชแวลล์ ย่อมจะดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนมกราคม 2024 ซึ่งเป็นห้วงที่อาร์ชแวลล์ถูกขึ้นบัญชีค้างชำระหนี้ไปแล้ว
ในการนี้ เครื่องบินเจ็ตแบบเช่าเหมาลำของปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนมีการปรับเส้นทาง
โดยเดอะมิร์เรอร์ สื่อมวลชนเจ้าดังของอังกฤษรายงานในวันพุธที่ 15 พฤษภาคม ว่าปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงแวะธุระช่วงหนึ่งสั้นๆ ในกรุงลอนดอน โดยมิได้พบปะหรือเข้าเฝ้าคิงชาร์ลส์ หรือพระญาติพระองค์ใดทั้งสิ้น ซึ่งรายงานของเดอะมิร์เรอร์ค่อนข้างสอดคล้องกับกรอบเวลาการเดินทางของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์เป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือ ทั้งสองพระองค์เสร็จภารกิจที่ประเทศไนจีเรียในวันอาทิตย์ 12 พฤษภาคม และบินกลับถึงลอสแอนเจลิสช่วงบ่าย-เย็นวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม ห้วงเวลาของการเดินทางทั้งหมดในระหว่างวันจันทร์และวันอังคาร น่าจะไม่น้อยกว่า 24-27 ชั่วโมง โดยยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่าเวลาในลอสแอนเจลิสช้ากว่าเวลาในไนจีเรีย 8 ชั่วโมง
ในเมื่อจำนวนเวลาในการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตเช่าเหมาลำจากไนจีเรียสู่แคลิฟอร์เนียจะไม่เกิน 18 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมีห้วงเวลาปริศนาเป็นจำนวนหลายๆๆ ชั่วโมงกันเลยทีเดียวที่อาจจะเป็นห้วงแห่งการไปแวะธุระในกรุงลอนดอนตามที่เดอะมิร์เรอร์รายงาน
เมื่อธุระเร่งด่วนเรื่องร้อนรุ่มพระทัยดังกล่าวลุล่วงตามความจำเป็นต่างๆ ซึ่งน่าจะต้องแลกด้วยบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกฝ่าย ทั้งสองพระองค์จึงกลับไปยังไพรเวตเจ็ต บินออกจากกรุงลอนดอน แล้วไปถึงสนามบินในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียในเย็นวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม
หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานจดทะเบียนมูลนิธิฯ ก็แถลงว่ากรณีที่มูลนิธิอาร์ชแวลล์ค้างชำระหนี้ ได้รับการแก้ไขแล้ว เดลิเมลดอทคอมรายงาน
ทั้งนี้ การชำระเงินค่าต่ออายุการจดทะเบียนมูลนิธิไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบเท่าที่เอกสารหลักฐานประกอบแบบฟอร์มขอต่ออายุการจดทะเบียน ยังไม่ครบถ้วนเรียบร้อย (โดยอาจจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายหมวดนั้นหมวดนี้ ยังขาดหลักฐานยืนยันความถูกต้องของจำนวนเงิน) สถานภาพการต่ออายุทะเบียนมูลนิธิจึงค้างเติ่งไปเรื่อยๆ
ปริศนาน่าสงสัยที่รอเฉลยจึงมีว่า มีประเด็นสำคัญอะไรกันแน่ ที่ทำให้ปรินซ์แฮร์รีทรงตัดสินพระทัยปรับเส้นทางกลับสู่สหรัฐฯ และไปแวะธุระในกรุงลอนดอน และประเด็นนั้นๆ เกี่ยวข้องหรือไม่กับความจำเป็นที่จะตัดจบปัญหาการต่ออายุทะเบียนมูลนิธิ กระทั่งว่าสามารถทำให้ดัชเชสเมแกนยอมไปกรุงลอนดอนพร้อมปรินซ์แฮร์รี และอยู่ในกระบวนการเจรจาธุระเร่งด่วน จนกระทั่งปัญหาและอุปสรรคทุกสิ่งอย่างได้รับการเคลียร์
ส่วนที่เด็ดยิ่งไปอีกหนึ่งขั้น คือ เรื่องราวอึมครึมของมูลนิธิเล็กๆ แห่งหนึ่งในลอสแอนเจลิส ซึ่งอึมครึมในระดับที่อาจจะถึงกับถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้น สามารถจบลงได้ภายในการกำกับดูแลของสำนักงาน ซึ่งไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจะต้องพูดรับรองความดีงามของมูลนิธิเลย ตามรายละเอียดดังนี้
ในวันพุธที่ 15 พฤษภาคม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม วีไอพีแห่งพรรคเดโมแครตและคนสนิทของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีผู้เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของประเทศอังกฤษและของคิงชาร์ลส์ ได้ใช้เวทีปราศรัยโปรโมทโครงการลงทุนก้อนมหึมาเพื่อการรักษาดูแลสุขภาพจิตของประชาชน ในการพูดปกป้องมูลนิธิอาร์ชแวลล์ เดลิเมลดอทคอมรายงานอย่างนั้น
ที่สำคัญคือถ้อยคำในการพูดปกป้องนั้น อยู่ในลักษณะที่อธิบายกับนักข่าวว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ในทางเทคนิคเท่านั้น ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับหนังสือแจ้งเตือนสถานภาพค้างชำระหนี้และการเร่งรัดให้รีบนำส่งเอกสารประกอบแบบฟอร์มสรรพากร 990 (EZ/PF) ที่ถูกระบุว่าต้องแก้ไข หรือไม่สมบูรณ์
“ผมแค่อยากให้พวกเราทราบว่าทางมูลนิธิให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี เรื่องนี้เป็นประเด็นของงานเอกสารในทางเทคนิคเท่านั้นครับ” ผู้ว่าฯ กาวิน นิวซัม กล่าวอย่างนั้น เดลิเมลดอทคอมรายงาน
นับจากนี้ไป ก็พอจะหวังได้ว่ามหกรรมใส่ร้ายป้ายสีโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษ โดยปรินซ์แฮร์รีบ้าง โดยดัชเชสเมแกนบ้าง จะปิดฉากเป็นการถาวร ขณะที่ปัญหาทางการเงินของพระตำหนักมอนเตซิโต ก็อาจจะได้รับความช่วยเหลือแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยแบบเต็มวันครบ 3 กะ 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนการเคลียร์ค่าใช้จ่ายกับค่ายเน็ตฟลิกซ์ได้เรียบร้อยก่อนสัญญาธุรกิจจะครบกำหนดในปี 2025 นอกจากนั้น โครงการหนังสือเมมมัวร์บันทึกความทรงจำของดัชเชสเมแกน ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาพ่นพิษใส่พระราชวงศ์อังกฤษแล้ว ฯลฯ
รอดูกันต่อไปว่าซีรีส์ศึกสายเลือด สี่ปีไม่ยอมจบ จะมีให้ฮือฮากันในซีซันที่ 5 หรือไม่
คอลัมน์ PLANET No.3
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เดลิเมลดอทคอม เดอะซัน ดิเอ็กซ์เพรส เดอะมิร์เรอร)