กองทัพอิสราเอลเผยทหารสามารถนำศพตัวประกัน 3 รายกลับมาจากฉนวนกาซาได้ในค่ำวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) โดยหนึ่งในนั้นคือ ชานี ลุค (Shani Louk) หญิงสาวชาวเยอรมันที่ถูกฮามาสนำร่างขึ้นรถแห่ประจานหลังบุกโจมตีเทศกาลดนตรี โนวา มิวสิก เฟสติวัล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.
แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล แถลงวานนี้ (17 พ.ค.) ว่า ศพตัวประกัน 3 ร่างที่พบ ได้แก่ ชานี ลุค อามิต บุสกิลา (Amit Buskila) และยิตซ์ฮัก กาเลิร์นเตอร์ (Yitzhak Galernter) ซึ่งเขาอ้างว่า “ถูกสังหารโดยฮามาสขณะพยายามหนีเอาชีวิตรอดจากเทศกาลดนตรีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และศพถูกฮามาสนำกลับไปยังกาซา”
อย่างไรก็ตาม ฮาการี ไม่ได้เปิดเผยว่าร่างของทั้งสามถูกพบที่บริเวณใด
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอิสราเอลออกมายืนยันการเสียชีวิตของ ลุค วัย 23 ปี ซึ่งเป็นศิลปินช่างสักหญิงชาวเยอรมัน-อิสราเอล และปรากฏคลิปวิดีโอขณะที่ร่างของเธอในสภาพกึ่งเปลือยถูกพวกนักรบฮามาสนำขึ้นท้ายรถกระบะกลับไปยังกาซา หลังก่อเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปีที่แล้ว
ในส่วนของครอบครัว กาเลิร์นเตอร์ วัย 57 ปี “ไม่ได้ทราบข่าวคราวของเขาแม้แต่น้อย” กระทั่งมีการแถลงยืนยันพบศพเมื่อวานนี้ (17) ตามข้อมูลที่ ยาร์เดน พิฟโก บุตรสาวผู้ตาย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Channel 12 News
นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวยกย่องปฏิบัติการของกองทัพเมื่อวานนี้ (17) พร้อมเอ่ยย้ำคำมั่นสัญญาของอิสราเอลที่ว่าจะนำตัวประกันทุกคนกลับบ้าน “ไม่ว่าในสภาพเป็นหรือตาย”
กองกำลังติดอาวุธของฮามาสได้แถลงตอบโต้กองทัพอิสราเอล โดยระบุว่ารู้สึก “เคลือบแคลง” ในสิ่งที่กองทัพยิวอ้าง พร้อมย้ำว่าตัวประกันที่เหลือจะได้ “กลับบ้านอย่างปลอดภัย” ก็ต่อเมื่อมีการทำข้อตกลงหยุดยิงเท่านั้น
“เราเชื่อว่าฝ่ายศัตรูจะไม่มีทางได้ตัวนักโทษกลับไป เว้นเสียแต่ในสภาพไร้วิญญาณ หรือไม่ก็จะต้องแลกเปลี่ยนกับคนของเราอย่างมีเกียรติเท่านั้น” กองกำลังฮามาส ระบุ
ฮามาสซึ่งเคยกุมอำนาจปกครองฉนวนกาซาเปิดปฏิบัติการจู่โจมฐานทัพและชุมชนในภาคใต้ของอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 1,200 คน และยังจับทั้งคนอิสราเอลและต่างชาติกลับไปเป็นตัวประกันอีกราว 250 คน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่ายังมีอีก 129 คนถูกคุมขังอยู่ในกาซา
อิสราเอลแก้แค้นด้วยปฏิบัติการทางทหารโจมตีดินแดนกาซาทั้งทางบก ทะเล และอากาศ ส่งผลให้พลเรือนปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 35,000 คน ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกาซา ขณะที่ประชากรกาซาเกือบทั้งหมดจาก 2.3 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน และจุดชนวนวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่
ที่มา : รอยเตอร์