มาเลเซียแซงไทย ขึ้นมาเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์มากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชียเมื่อวันพุธ (15 พ.ค.) และส่อแววยึดตำแหน่งนี้ในระยะยาว หลังพบมียอดขายรถยนต์มากกว่าไทยเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
พัฒนาการที่สำคัญนี้เกิดขึ้นในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายมาเป็นสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเอเชียทั้งหลาย
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ของนิกเกอิเอเชีย พบว่า ตัวเลขยอดขายรถยนต์ของมาลเซียมากกว่าไทย ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2024 ถือเป็นการแซงหน้า 3 ไตรมาสติดต่อกัน
สมาคมยานยนต์มาเลเซียระบุว่า ยอดขายรถยนต์ปรับตัวขึ้น 5% ในไตรมาสแรกของปี 2024 จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 202,245 คัน หลังจากเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2023 สู่ระดับ 799,731 คัน ขณะที่ไทยซึ่งรั้งอันดับ 2 มาอย่างยาวนานกลับเผชิญกับภาวะยอดขายรถยนต์ตกต่ำ โดยยอดขายรถยนต์ดิ่งลงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และยังคงร่วงต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 25%
ความสำเร็จของมาเลเซียบางส่วนเป็นผลจากแพกเกจกระตุ้นของทางรัฐบาล ในนั้นรวมถึงยกเว้นภาษีขายสำหรับยานยนต์ต่างๆ ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของแบรนด์รถยนต์ภายในประเทศอย่างเปอโรดัว และโปรตอน ที่มีสัดส่วนคิดเป็นราว 60% ของตลาด
ทางสมาคมยานยนต์มาเลเซียระบุว่า การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในนั้นรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันทางราคากันอย่างดุเดือด เป็นปัจจัยที่กระตุ้นยอดขาย ผิดกับไทยที่มีหลายปัจจัยฉุดรั้ง ในนั้นรวมถึงหนี้เสียรถยนต์ที่พุ่งขึ้นและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบรรดาผู้ผลิตรถอีวีของจีน กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุ่งหน้าสู่รถไฟฟ้าในตลาดของไทย
อินโดนีเซียแม้ยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาค แต่ก็กำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่นกัน ในนั้นรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นซึ่งกัดเซาะความกระตือรือร้นของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายในไตรมาสแรกลดลงถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ตลาดรถยนต์ของเวียดนามก็สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน โดยมียอดขายไตรมาสแรกลลดลง 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากแรงกระตุ้นของการปรับลดค่าจดทะเบียนสำหรับรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศในเดือนธันวาคม ไม่อาจยืนหยัดก่อผลกระทบในทางบวกได้ในเดือนต่อๆมา
ส่วนตลาดรถยนต์ฟิลิปปินส์ กลับมีแนวโน้มเติบโต โดยมียอดขายในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 จากในบรรดา 5 ประเทศที่กล่าวมา หลังจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือประมาณ 4% ในช่วงปลายปีที่แล้ว และสภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง
ดูเหมือนว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพุ่งเป้าไปที่ชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องของเงินอุดหนุนจากรัฐและสภาพเศรษฐกิจมหภาค
อย่างไรก็ตาม สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในอาเซียนปีนี้อาจลดลง 7.5% แม้ว่ายอดขายของรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็ตาม
สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย ประมาณการว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลง เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดการอุดหนุนแบบเฉพาะกลุ่ม ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการประกาศใช้ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งค่าบริการที่สูงขึ้นสำหรับบริการบางประเภท เช่น ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์
(ที่มา : นิกเกอิเอเชีย/เอเจนซี)