เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - สงครามรถยนต์ไฟฟ้าสหรัฐฯ-จีนยังคงดุเดือด สื่อนอกชี้ “ไทย” ขึ้นแท่นอาจได้เป็นฐานการผลิตให้รถเทสลา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน ระหว่างที่ "อีลอน มัสก์" กลายร่างเป็นเบอร์เซิร์กสั่งปลดพนักงานครั้งมโหฬาร ผู้บริหารระดับสูงไม่ต่ำกว่า 7 คนลาออก รวมคนที่ 8 เรนจี ชู (Renjie Zhu) หัวเรือใหญ่ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าไซเบอร์ทรัคเรือธงของค่าย
CNBC ของสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (13 พ.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีแผนสกัดกั้นรถไฟฟ้าจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าภายในประเทศด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 100% หลังจากบรรดาซีอีโอค่ายรถและนักการเมืองต่างพากันนั่งไม่ติดเมื่อค่ายรถไฟฟ้าจีน BYD ออกรถไฟฟ้ารุ่น 5 ประตู BYD Seagull ที่มีราคาต่ำมากแค่ 69,800 หยวน หรือ 10,000 ดอลลาร์เท่านั้น ปัจจุบันนี้ รถไฟฟ้าจีนอ้างอิงจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศคิดสัดส่วนเป็น 60% ของทั้งโลก
ตลาดรถยนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโต CNBC ชี้ว่า ไทยที่รู้จักในนาม “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ได้กลายเป็นผู้ผลิตรถและผู้ส่งออกใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีค่ายรถยักษ์ใหญ่ชื่อดังทั้งโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่นี่
ในระหว่างสงครามรถไฟฟ้าสหรัฐฯ-จีน ค่ายรถเทสลาของอีลอน มัสก์กำลังอยู่ระหว่างการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่หลังยอดขายรถเทสลาตกลงอย่างมากโดยเฉพาะในจีน
อีลอน มัสก์ ซีอีโอใหญ่ที่บรรดาสาวกในอเมริกาของเขากล่าวว่า ได้กลายร่างเป็นเบอร์เซิร์กสุดโหดประกาศสั่งเลิกจ้างพนักงานเทสลาครั้งมโหฬาร
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ออกประกาศข่าวการปรับลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 10% หลังเทสลาเผชิญทั้งมรสุมจากยอดขายตกอย่างหนักและการห้ำหั่นในสงครามตัดราคารถอีวี
เทสลาจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ลูกค้าเพิ่ม เหมือนที่ สตีเวน ไดเออร์ (Steven Dyer) อดีตผู้บริหารฟอร์ดและผู้อำนวยการบริหารประจำบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners ที่มีฐานในเซี่ยงไฮ้เคยกล่าวว่า “ในอุตสาหกรมรถยนต์ มีกฎทองกล่าวไว้ว่า 'ผลิตในที่คุณจะขาย' เพราะจะช่วยรถค่าขนส่งและภาระภาษีศุลกากร และบรรเทาความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ"
ตามการรายงานระบุว่า ซึ่งในเวลานี้ทั้ง “อินเดีย” และ “ไทย” กลายเป็นเป้าหมายฐานใหม่ของเทสลา โดยเมื่อต้นปี อีลอน มัสก์ เลื่อนกำหนดการเดินทางไปอินเดียเพื่อต้องการแก้ปัญหาภายในบริษัทเทสลา สร้างความผิดหวังให้แฟนๆ ชาวแดนภารตะเป็นอย่างมาก
CNBC รายงานว่า ในเวลานี้กระแสรถอีวีที่ได้รับการต้อนรับไปไกลจากประเทศจีน และหนึ่งในตลาดรถอีวีสำคัญที่นอกเหนือจากอินเดีย สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า เทสลาเวลานี้กำลังศึกษา “ไทย” อย่างใกล้ชิด หลังกระแสการใช้รถไฟฟ้าที่นี่กำลังได้รับความนิยม
ที่ผ่านมาืรัฐบาลไทยได้เคยหารือทั้งเทสลาและอีลอน มัสก์ถึงที่ตั้งโรงงานกิกกา ของเทสลาภายในประเทศ
สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า ไทยมีการค้นพบแร่ลิเธียมเกือบ 15 ล้านตัน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า โดยข้อดีของการตั้งโรงงานใหญ่ฐานการผลิตเทสลาขึ้นที่นี่ อาจจะช่วยเทสลาลดการพึ่งพาจากจีนได้
โดยมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญบางคนว่า หากเทสลาสามารถสู้กับค่ายรถอีวีจีนทั้งภายในประเทศจีนและในตลาดภูมิภาคเอเชียที่กว้างไกลอย่างมีประสิทธิภาพ จีนอาจใช้กลยุทธ์ด้วยการห้ามเทสลาเข้าถึงชิ้นส่วนราคาถูก และไทยในฐานะฮับระดับภูมิภาคจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเทสลาได้ในเรื่องนี้
รัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานี้กำหนดให้บริษัทอเมริกันนั้นต้องหันมาออกแบบ พัฒนา และผลิตรถไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในราคาที่สมเหตุสมผล อ้างอิงจาก ตู เล (Tu Le) ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้ายยานยนต์ Sino Auto Insights ที่มีฐานอยู่ในกรุงปักกิ่ง เขามีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ที่ดีทรอยต์ ไปจนถึงจีน
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกคน เครก เออร์วิน (Craig Irwin) นักวิจัยอาวุโสประจำ Roth Capital แสดงความเห็นว่า “ไทยนั้นเป็นหนทางที่เป็นไปได้ จากการมีต้นทุนชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใกล้เคียงกับจีน เพื่อทำให้ลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ลง”
และกล่าวต่อว่า “ไทยเป็นทางเลือกมาตั้งแต่แรก ยังคงให้การเข้าถึงซัปพลายเชนที่สนับสนุนโรงงานการผลิตในเซี่ยงไฮ้ และไม่อยู่ภายใต้การกำกับจากปักกิ่ง”
และผลจากปัจจัยทางภาษีนำเข้า ซีธ โกลด์สไตน์ (Seth Goldstein) นักยุทธศาสตร์หลักทรัพย์ประจำ Morningstar แสดงความเห็นว่า รถยนต์ที่ผลิตในไทยถึงแม้อาจจะไม่เข้าข่ายได้ลดหย่อนจากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (the Inflation Reduction Act ) แต่ทว่า รถยนต์ผลิตจากไทยเหล่านี้เชื่อว่าจะไม่ตกเป็นเป้ากำแพงภาษีนำเข้าสูงเหมือนรถยนต์จีนในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ปัญหาภายในเทสลายังคงไม่นิ่ง บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานวันอังคาร (14) ว่า ผู้อำนวยการแผนกการผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าไซเบอร์ทรัคของเทสลาตัดสินใจลาออก สร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งวงการ
เรนจี ชู (Renjie Zhu) ซึ่งก่อนหน้าเคยทำงานอยูที่โรงงานกิกกาเทสลาในเซี่ยงไฮ้ ของจีน ย้ายมาที่สหรัฐฯ เพื่อช่วยการผลิตรถไซเบอร์ทรัคที่ถือเป็นรถเรือธงของค่ายและเรียกเสียงความสนใจไปทั่วโลก
บิสซิเนสอินไซเดอร์ชี้ว่า ชูประกาศข่าวลาออกในวันอาทิตย์ื(12) แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เขาลาออกเนื่องมาจากคำสั่งปลดออกหรือสมัครใจลาออกเอง
ซึ่งในช่วง 1 เดือนก่อนหน้ามีผู้บริหารระดับสูงของเทสลาไม่ต่ำกว่า 7 คนลาออก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ริช ออตโต (Rich Otto) อดีตผู้บริหารการผลิตกลายเป็นคนที่ 7 ได้ยืนยันการลาออกเนื่องมาจากไม่พอใจต่อวิธีการสั่งปลดพนักงานอย่างป่าเถื่อนของมัสก์นั้น เขาระบุว่าทำลายขวัญกำลังใจพนักงานและทำให้บริษัทเทสลาเสียความสมดุล
เป็นต้นว่าการสั่งปลดพนักงานทั้งหมดออกยกแผนกซูเปอร์ชาร์จเจอร์ (Supercharger) ที่รับผิดชอบด้านสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าให้แก่รถเทสลา ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดอ้างอิงจากสื่อ teslarati ว่ามัสก์ตัดสินใจเรียกตัวผู้บริหารประจำแผนกและพนักงานกลับเข้าทำงานใหม่
<