(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Apple needs China more than China needs Apple
By SCOTT FOSTER
29/04/2024
ยอดขายไอโฟนในจีนกำลังร่วงหล่น เมื่อปักกิ่งประกาศใช้มาตรการจำกัดกีดกั้น และพวกแบรนด์ท้องถิ่นที่เป็นคู่แข่งบุกช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอุตลุด กระนั้นก็ตาม แอปเปิลกลับยังคงใช้พวกกิจการจีนเป็นผู้รับจ้างดำเนินการต่างๆ ทั้งด้านการจัดหาจัดส่งวัสดุชิ้นส่วนประกอบทั้งหลาย, การผลิตในโรงงาน, และการประกอบผลิตภัณฑ์ รวมแล้วคิดเป็นกว่า 80% ของซัปพลายทั้งหมดทีเดียว
แอปเปิล ไหลรูดลงมาอยู่ที่อันดับ 5 ในการจัดลำดับยอดขายโทรศัพท์มือถือของประเทศจีน โดยถูกพวกคู่แข่งที่เป็นบริษัทท้องถิ่นแซงหน้าไม่ว่าจะเป็น หัวเว่ย, ออปโป้, ออเนอร์, หรือ วีโว่
พวกโทรศัพท์มือถือของจีนกำลังไล่กระชั้นอุดช่วงห่างทางด้านการทำงานของเครื่องที่ยังสู้ไอโฟน ของแอปเปิลไม่ได้ ในเวลาเดียวกับที่การตามรังควาญซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯกระทำเอากับพวกบริษัทเทคจีน กำลังทำให้การหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น กลายเป็นแหล่งที่มาอย่างหนึ่งของความภาคภูมิใจในชาติสำหรับชาวจีนบางผู้บางคน
นอกจากนั้น พวกทางการผู้รับผิดชอบของจีนยังกำลังบังคับใช้ระเบียบข้อจำกัดหลายอย่างหลายประการของท้องถิ่นเอากับแอปเปิล เป็นต้นว่า การห้ามใช้ไอโฟนในบางหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนในพวกบริษัทที่เกี่ยวข้องโยงใยกับรัฐในอย่างน้อยที่สุด 8 มณฑลของจีน ด้วยเหตุผลความกังวลด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/technology/chinas-ban-apples-iphone-accelerates-bloomberg-news-2023-12-15/)
ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา บรรดาลูกจ้างพนักงานในหน่วยงานและกิจการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งรวมถึงพวกที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นบริเวณมั่งคั่งรุ่งเรืองของแดนมังกรด้วย ได้รับการชักจูงหว่านล้อมให้หันมาซื้อและนำเอาโทรศัพท์มือถือแบรนด์ท้องถิ่นไปใช้ในการทำงาน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนได้ออกคำสั่งให้แอปเปิลยุติการให้ “แอปป์สโตร์จีน” (China app store) ของตน ให้บริการดาวน์โหลดแอปรับส่งข้อความ “WhatsApp” ของบริษัทเมตา และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “Threads”
การถูกสั่งแบนเหล่านี้มีผลกระทบต่อยอดขายในท้องถิ่นที่กำลังเสื่อมถอยลงอยู่แล้วของแอปเปิลอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องลำบากที่จะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่าอันดับในท้องถิ่นของแอปเปิลร่วงลงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่บริษัทกำลังใช้ซัปพลายเออร์ชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง รวมทั้งตัวซีอีโอ ทิม คุก (Tim Cook) ของแอปเปิล ยังเดินทางเยือนประเทศจีนอยู่บ่อยๆ เพื่อโน้มน้าวให้เชื่อมั่นว่าบริษัทของเขามีความมุ่งมั่นผูกพันอยู่กับตลาดของจีน
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ยอดขายจำนวนเครื่องโทรศัพท์มือถือของแอปเปิลในจีนตกลงถึง 25% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ช่วงเดียวกันนี้เอง ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทก็ไหลรูดลงจาก 20% เหลือ 15% ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของ คานาลิส (Canalys) ที่เป็นองค์การวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยี
Sources: Data from Canalys, chart by Asia Times
สำหรับยอดขายของ หัวเว่ย ทะยานขึ้นไปถึง 71% ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทพุ่งขึ้นจาก 10% เป็น 17% ทางด้าน ออปโป้ และ วีโว่ ต่างสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเช่นกัน แม้จะไม่หนักหนาเท่าแอปเปิล ขณะที่ ออเนอร์ แบรนด์มือถือราคาถูกที่แยกตัวออกมาเป็นบริษัทต่างหากจากหัวเว่ย มีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นจาก 14% เป็น 16% ในส่วนของ เสียวหมี่ เวลานี้รั้งอันดับ 6 ตามหลังแอปเปิลอย่างกระชั้นชิด
Sources: Data from Canalys, chart by Asia Times
ข้อมูลของ เคาน์เทอร์พอยต์ มาร์เก็ต พัลซ์ (Counterpoint Market Pulse) บริษัทวิจัยตลาดอีกรายหนึ่ง ให้ตัวเลขที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย ทว่าก็แสดงให้เห็นการทรุดตัวอย่างสำคัญของแอปเปิล และการบวกขึ้นมาอย่างมีสาระสำคัญของหัวเว่ยเช่นเดียวกัน
หันมาพิจารณาบัญชีรายชื่อซัปพลายเออร์ของแอปเปิลในช่วงปีการเงินที่ผ่านมา จุดน่าสนใจมากอยู่ตรงที่ว่าซัปพลายเออร์เหล่านี้ที่เป็นพวกบริษัทจีน สามารถออกนำหน้ามากขึ้นอีก จนมีส่วนแบ่งขึ้นมาเป็น 30% แล้ว ขณะที่พวกซัปพลายเออร์ที่เป็นบริษัทไต้หวัน, บริษัทอเมริกัน, และบริษัทญี่ปุ่น ยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 2, 3, และ 4 เอาไว้ได้ ทว่าจำนวนของพวกเขาต่างลดต่ำลงมา
บัญชีรายชื่อนี้ประกอบด้วยบริษัทต่างๆ 187 แห่ง โดยตามคำชี้แจงของแอปเปิล บริษัทซัปพลายเออร์เหล่านี้รวมกันแล้วเป็นผู้ที่ได้รับค่าใช้จ่ายจากแอปเปิลโดยตรงทั้งในด้านวัสดุต่างๆ, การผลิตในโรงงาน, และการประกอบผลิตภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วน 98% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในรอบปีการเงิน 2023 ซึ่งสิ้นสุดลง ณ วันที่ 30 กันยายน 2023
นอกเหนือจากบริษัทชาติต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น ปรากฏว่าจำนวนของบริษัทเวียดนามและของบริษัทไทยในบัญชีรายชื่อนี้ ก็เพิ่มขึ้นมาอย่างชนิดสอดคล้องกับแนวโน้มใหญ่ของการโยกย้ายการดำเนินการประกอบผลิตภัณฑ์ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ออกจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยที่มีบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของ นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) สื่อการเงินและธุรกิจทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น แจกแจงให้เห็นว่าจำนวนซัปพลายเออร์ของแอปเปิลในเวียดนามซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตรา 40% มาอยู่ที่ 35 รายนั้น มีอยู่ 13 รายที่จริงๆ แล้วเป็นบริษัทซัปพลายเออร์จีน
สำหรับจำนวนของพวกบริษัทเกาหลีใต้ในบัญชีรายชื่อนี้มีลดต่ำลง ขณะที่จำนวนของพวกบริษัทยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทว่าส่วนแบ่งของพวกเขาโดยรวม ไม่ว่าทางกลุ่มเกาหลีใต้หรือกลุ่มยุโรป ล้วนไม่ถึง 10% ทางด้านจำนวนของซัปพลายเออร์ที่เป็นบริษัทอินเดียนั้นอยู่คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ 14 ราย
อย่างไรก็ดี บางทีเรื่องที่ชวนเซอร์ไพรซ์ยิ่งกว่านี้อีกก็คือ บัญชีรายชื่อนี้ของแอปเปิล แสดงให้เห็นว่าซัปพลายเออร์ของแอปเปิลมากกว่า 80% ทีเดียวต่างมีการปรากฏตัวอยู่ในประเทศจีนกันทั้งนั้น
“ห่วงโซ่อุปทานในโลกนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้วซึ่งมีความสำคัญถึงขั้นเป็นตรายสำหรับเรายิ่งกว่าห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ในประเทศจีน เรายังกำลังสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาและกำลังลงทุนมากขึ้นไปเรื่อยๆ” ซีอีโอ คุก ของแอปเปิล กล่าวกับ ไชน่าเดลี่ (China Daily) สื่อภาษาอังกฤษของทางการจีนระหว่างทริปเยือนแดนมังกรของเขาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “โรงงานต่างๆ ของทุกวันนี้กำลังมีความทันสมัยเพิ่มขึ้นมากมาย และใน 10 ปีนับจากนี้ไป เราก็จะรักษาให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ”
ดิจิไทมส์ (DigiTimes) สื่อหนังสือพิมพ์รายวันด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารชื่อดังซึ่งตั้งฐานอยู่ในไต้หวัน ได้ระบุชื่อบริษัทจีนที่ได้เป็นซัปพลายเออร์ให้แอปเปิลเมื่อเร็วๆ นี้ รวม 8 ราย เป็นต้นว่า เป่าจี ไททาเนียม อินดัสตรี (Baoji Titanium Industry), โจมน์ เทค (Jones Tech) ซัปพลายเออร์ด้าน thermal interface และกราไฟต์, เจ้อเจียง โทนี อิเล็กทริก (Zhejiang Tony Electronic) ผู้ผลิตสายไฟฟ้าที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง (ultra-fine wire), ไป่ซิง (Paishing) บริษัทการพิมพ์และแพกเกจจิ้ง (printing and packaging company), ซานอาน ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ (San’an Optoelectronics) ผู้ผลิต LED, และ เซินเจิ้น บีเอสซี เทคโนโลยี (Shenzhen BSC Technology) ผู้จัดหาส่วนประกอบที่มีความละเอียดแม่นยำสูง ตลอดจนให้บริการด้านอุตสาหกรรมการผลิต (precision component and manufacturing service provider)
แอปเปิลไม่ได้แค่เพิ่มซัปพลายเออร์เช่นนี้อย่างง่ายๆ เพื่อเอาอกเอาใจรัฐบาลจีนเท่านั้น โดยที่ดิจิไทมส์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีบริษัทจีน 4 แห่งด้วยกันที่ถูกคัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อซัปพลายเออร์ของแอปเปิล นอกจากนั้นบริษัทยังกำลังขยายการดำเนินงานของตนอย่างกระตือรือร้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในอินเดีย
ทว่าเป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนว่าแอปเปิลไม่ได้กำลังลดความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศจีน ซึ่งยังคงเป็นสถานที่ดำเนินการผลิตในโรงงานแทบทั้งหมดของบริษัท และเป็นตัวสร้างรายรับคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 17% ของรายรับทั้งหมดของบริษัทเมื่อดูจากตัวเลขในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2023
อย่างไรก็ดี แอปเปิลจะรับมืออย่างไรกับการที่ตนเองต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนแบบพุ่งพรวดสูงลิ่วขึ้นเรื่อยๆ นั่นย่อมเป็นเรื่องราวแยกต่างหากออกไปอีกเรื่องหนึ่ง
หมายเหตุผู้แปล
ไม่กี่วันหลังจากเอเชียไทมส์เสนอข้อเขียนชิ้นข้างบนนี้แล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2024 บริษัทแอปเปิล ก็ได้รายงานผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งปรากฏว่ายอดขายไอโฟนตกลงหนักที่สุดในรอบเกือบๆ 4 ปี โดยเห็นกันว่าเป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งของการแข่งขันที่น่าหนักใจยิ่งซึ่งแอปเปิลเผชิญอยู่ในตลาดจีน จึงขอเก็บความบางส่วนของรายงานข่าวนี้ที่มาจากสื่อเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ นำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้:
จีนคือ‘ตลาดที่มีการแข่งขันหนักหน่วงที่สุด’ ของแอปเปิล ซีอีโอ ทิม คุก กล่าวยอมรับ ภายหลังยอดขายไอโฟนตกฮวบหนักที่สุดในรอบระยะเวลาเกือบๆ 4 ปี
โดย เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
China is Apple’s ‘most competitive market’, says CEO Tim Cook after biggest iPhone sales drop in nearly 4 years
By The South China Morning Post
03/05/2024
บริษัทแอปเปิล รายงานเรื่องที่ยอดขายไอโฟนตกลงมาครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ระหว่างการแถลงผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกปี 2024 นี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณอันใหญ่โตที่สุดเท่าที่ปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน ถึงอุปสงค์ความต้องการในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของยักษ์ใหญ่เทคสหรัฐฯรายนี้ซึ่งกำลังอ่อนตัวลงเรื่อยๆ ในตลาดสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างประเทศจีน ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดเข้มข้นจากพวกแบรนด์จีนอย่างเช่น หัวเว่ย เทคโนโลยีส์
ตามรายงานผลประกอบการล่าสุดของบริษัท รายรับในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ จากไอโฟน ที่ถือเป็นธุรกิจทำเงินทำทองของแอปเปิล ลดต่ำลง 10% จากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ มาอยู่ที่ 45,700 ล้านดอลลาร์ โดยหากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคจีนและปริมณฑล (Greater China) ซึ่งก็คือครอบคลุมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน และถือเป็นตลาดทรงความสำคัญยิ่งยวดของไอโฟน ยอดขายในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้หล่นลงไป 8% มาอยู่ที่ 16,400 ล้านดอลลาร์
กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล กล่าวในการแถลงข่าวทางออนไลน์เกี่ยวกับผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกครั้งนี้ ว่า จีนเป็น “ตลาดที่มีการแข่งขันกันมากที่สุดในโลก” แต่ก็ยืนยันว่า บริษัทยังคงมี “ทัศนะที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับจีนในระยะยาว” เขาหยอดคำหวานในการแสดงความเห็นของเขาครั้งนี้ ซึ่งออกมาไม่กี่สัปดาห์หลังจาก “ทริปเดินทางแสนอัศจรรย์” ไปยังแดนมังกรของเขาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดร้านแห่งใหม่ของแอปเปิลในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเขาบรรยายว่า ได้รับการต้อนรับอย่าง “อบอุ่นมากและมีชีวิตชีวาอย่างสูงลิ่ว”
“ผมไม่ทราบหรอกว่าว่าแต่ละไตรมาสมันจะเป็นยังไง รวมทั้งแต่ละอาทิตย์ด้วย” คุก บอก “แต่เมื่อดูกันในระยะยาวไกลแล้ว ผมมีทัศนะที่เป็นไปในทางบวกมากๆ”
ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบโต้การแสดงความกังวลของพวกนักวิเคราะห์ซึ่งมองว่าแอปเปิลกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเรื่องการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ คุกกล่าวว่า แอปเปิล “กำลังทำการลงทุนที่สำคัญๆ” และบริษัทจะร่วมแบ่งปัน “สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากๆ กับพวกลูกค้าของเราในเร็วๆ นี้”
เป็นที่คาดหมายกันว่า แอปเปิลจะเปิดตัวยุทธศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ซึ่งได้รับการคาดการณ์กันเอาไว้มากมาย ระหว่างการประชุมนักพัฒนาทั่วโลก (Worldwide Developers Conference) ประจำปีของบริษัท ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายนนี้
“เราเชื่อในอำนาจที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ และเราเชื่อว่าเรามีข้อได้เปรียบหลายๆ อย่างที่จะทำให้เราแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในยุคสมัยใหม่นี้” คุกบอก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/tech/big-tech/article/3261305/china-apples-most-competitive-market-says-ceo-tim-cook-after-biggest-iphone-sales-drop-nearly-4?campaign=3261305&module=perpetual_scroll_0&pgtype=article)