เยอรมนีส่งเรือรบ 2 ลำเข้าสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในวันอังคาร (7 พ.ค.) ในความพยายามเสริมการประจำการทางทหารในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน และในดินแดนพิพาททะเลจีนใต้
บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี กล่าว ณ ฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในเมืองวิลเฮลมส์ฮาเฟิน ทางเหนือของประเทศ ว่า ความตึงเครียดต่างๆ เหล่านี้ก่อแรงกดดันต่อเสรีภาพการล่องเรือและการเดินเรืออย่างเสรีในเส้นทางการค้าแห่งนี้
ทั้งนี้ ราว 40% ของกระแสการค้าต่างประเทศของยุโรปเป็นการลำเลียงผ่านทะเลจีนใต้
"มองอีกด้านหนึ่ง ในแง่ไม่มีการปรากฏตัวในอินโด-แปซิฟิก เพื่อสนับสนุนกฎระเบียบสากลที่อยู่บนพื้นฐานของกติกา มันไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเยอรมนี" เขากล่าวกับพวกผู้สื่อข่าว ก่อนที่เรือรบทั้ง 2 จะออกเดินทาง "การประจำการมีความสำคัญ"
ปักกิ่งกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทั้งหมดของทะเลจีนใต้ แม้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศพิพากษาว่าปักกิ่งไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับคำกล่าวอ้างเหล่านั้น ขณะดียวกัน จีนยังกล่าวอ้างด้วยว่าไต้หวัน ซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน แม้ไทเปปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว
เรือสนับสนุน "แฟรงค์เฟิร์ต แอม เมน" เดินทางออกจากวิลเฮลมส์ฮาเฟิน ส่วนเรือฟริเกต "บาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก" แล่นออกจากอ่าวโรตาของสเปน โดยที่ทั้ง 2 ลำ จะล่องมาบรรจบกันที่ทะเล จากนั้นออกเดินทางต่อไปยังเมืองแฮลิแฟกซ์ของแคนาดา และมุ่งหน้าสู่อินโด-แปซิฟิก เป็นลำดับถัดไป
เรือทั้ง 2 ลำ จะล่องผ่านทะเลจีนใต้ด้วย แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเหมือนกับที่สหรัฐฯ ทำหรือไม่ ความเคลื่อนไหวที่แน่นอนว่าจะก่อความเดือดดาลแก่จีน คู่หูการค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี
"ชัดเจนว่ามันคือทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเรือของกองทัพเรือพันธมิตรหลายลำก็ล่องผ่าน (ช่องแคบไต้หวัน) แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้" พิสโตริอุส กล่าว
เมื่อปี 2021 เรือรบลำหนึ่งของเยอรมนีล่องเข้าสู่ทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เข้าร่วมกับชาติตะวันตกอื่นๆ ในการยกระดับปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคแห่งนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความทะเยอทะยานด้านเขตแดนของจีน
(ที่มา : รอยเตอร์)