xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอก‘เอเชียไทมส์’รายงาน: ผู้ผลิตจีนวางแผนตั้งโรงงานทำรถอีวีและขนจากไทยส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ริชาร์ด เออร์ลิช


รถอีวี 3 รุ่นที่ได้รับความสนใจมากในตลาดเมืองไทยของค่าย BYD
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China making plans to build and ship EVs from Thailand
By RICHARD S EHRLICH
03/05/2024

บีวายดี และ เกรต วอลล์ มอเตอร์ ใช้จ่ายเม็ดเงินลงทุนจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์ ไปในโรงงานและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิตและการประกอบรถยนต์อีวีในประเทศไทย เป็นการตระเตรียมทางเลือกอีกทางหนึ่งที่อาจใช้เป็นประตูหลังสำหรับการส่งออกไปยังตลาดประเทศตะวันตก

กรุงเทพฯ- รถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles หรือ EVs) นำเข้าจากจีน กำลังสามารถแย่งชิงยอดขายจากรถอเมริกันและรถญี่ปุ่นในประเทศไทยไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และกำลังเร่งรัดให้พวกบริษัทผู้ผลิตของจีนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนรวมแล้วมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะประกอบรถอีวีของพวกเขาในโรงงานใกล้ๆ กรุงเทพฯ ทั้งสำหรับการขยายยอดขายในตลาดภายในไทยและการเร่งทวีการส่งออกสู่ตลาดนานาชาติ

ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในสมญานาม “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ของตนเอง ซึ่งมุ่งที่จะหมายถึงการที่ไทยมีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ลงหลักปักฐานมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ โตโยต้า, อีซูซุ, มิตซูบิชิ, ฮอนด้า, ฟอร์ด, และโรงงานผลิตแห่งอื่นๆ คือพวกบริษัทที่ครอบงำตลาดซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของไทยสำหรับพวกรถยนต์ระบบสันดาปใน ที่ใช้น้ำมันเบนซิน, ดีเซล, หรือก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง

ประเทศไทยคือผู้ส่งออกยานยนต์เหล่านี้รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบันสามารถส่งออกไปได้ประมาณ 2.5 ล้านคันต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวนี้คาดหมายกันว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก ขณะที่จีนเข้ามาขยับขยายโรงงานต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อใช้ประกอบรถอีวี และส่งออกรถเหล่านี้ไปตลอดทั่วทั้งภูมิภาค

ถ้าหากสหรัฐฯ, ยุโรป, และสถานที่อื่นๆ ออกกฎเกณฑ์กำหนดโควตาเพื่อจำกัดจำนวนยานยนต์ “เมดอินไชน่า” ที่สามารถนำเข้าประเทศและภูมิภาคของพวกเขาอย่างเข้มงวดแล้ว รถยนต์จีนที่ตีตรา “เมดอินไทยแลนด์” ต่อไปในอนาคต ก็อาจกลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการเข้าสู่ตลาดเหล่านั้นก็เป็นไปได้

ความได้เปรียบข้อใหญ่ของรถอีวีของจีน อยู่ที่นครเซินเจิ้น เมืองท่าริมชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแดนมังกร ซึ่งจากที่นั้นพวกโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถอีวีจีนสามารถเข้าถึงทั้งอุปกรณ์ตัวเซนเซอร์แม่นยำสูงที่มีความสลับซับซ้อน, ชิปคอมพิวเตอร์, แบตเตอรี, และฮาร์ดแวร์ไฮเทคตลอดจนส่วนประกอบไฮเทคอย่างอื่นๆ

เวลานี้มีรายงานว่า บีวายดี (BYD) ของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถอีวีออกมามากที่สุดในโลก และ เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ได้ตกลงที่จะใช้จ่ายเงินทุนประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในโรงงานและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิตและการประกอบรถอีวีใหม่ๆ ในประเทศไทย

BYD ซึ่งเป็นอักษรย่อมาจากวลีภาษาอังกฤษว่า Build Your Dreams กลายเป็นจุดเด่นดึงดูดผู้เข้าชมงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ โชว์ (Bangkok International Motor Show) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากการนำเอา รถอีวี รุ่น ดอลฟิน (Dolphin) ราคาคันละ 24,000 ดอลลาร์มาแสดง โดยที่มีรายงานว่ารถรุ่นนี้สามารถวิ่งได้ 300 ไมล์ด้วยการชาร์ทแบตเตอรีครั้งเดียว รวมทั้งอีกรุ่นหนึ่งคือ ซีล (Seal) ที่มีราคาคันละ 44,000 ดอลลาร์ และชาร์ทครั้งเดียววิ่งได้ไกล 360 ไมล์

เวลาเดียวกัน เชอรี ออโตโมบิล (Chery Automobile) บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่ง ก็กำลังก่อสร้างโรงงานในประเทศไทยเพื่อผลิตยานยนต์ทั้งสำหรับตลาดภายในประเทศและการส่งออก

Chery คาดหมายว่าจะเริ่มต้นนำรถที่มีทั้งรถอีวีและรถไฮบริดออกมาจากสายการผลิตได้ 50,000 คันในปี 2025 นี่เป็นคำแถลงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 เมษายน Chery คือผู้ผลิตรถใหญ่อันดับ 3 ของจีน และมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

“ยอดขายรถอีวีในไทยไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 76,314 คันในปี 2023 หรือ 7.8 เท่าตัวของปีก่อนหน้า” สื่อนิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานเอาไว้เช่นนี้ในเดือนกุมภาพันธ์

“BYD อยู่อันดับหนึ่ง กำลังทำยอดได้ราวๆ 40% ของการขายรถอีวีทั้งหมด พวกบริษัทจีนโดยรวมทำได้ประมาณ 80% หรือราวๆ นั้นของยอดขายรถอีวีทั้งหมด ขณะที่พวกแบรนด์ญี่ปุ่นอยู่ในระดับไม่ถึง 1%” นิกเคอิรายงาน โดยใช้สถิติจาก ออโตไลฟ์ ไทยแลนด์ (Autolife Thailand)

รถรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของ BYD ในประเทศไทยก็คือ รถเอสยูวี แอตโต 3 (Atto 3)

“คล่องตัวและขับสนุก BYD Atto 3 มอบประสบการณ์การขับรถสุดดึงดูดใจ” BYD คุยเอาไว้เช่นนี้บนเว็บไซต์ของพวกเขา “คอนโซลกลาง ที่น่าตื่นเต้นและคล่องตัวสะท้อนถึงทัศนคติในทางบวกและทรงพลังต่อชีวิต”

BYD บอกว่าคันเร่งของรถเอสยูวี Atto 3 สามารถให้ความเร็วจาก 0 เป็น 100 กม./ชม. ภายใน 7.3 วินาที

“BYD จำหน่ายรถอีวีได้ 30,650 คันในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ติดตามมาด้วย เนต้า (Neta) แบรนด์ของ โฮซอน ออโต้ (Hozon Auto) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนซึ่งตั้งฐานอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน ที่จำหน่ายได้ 12,777 คัน” ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเอพี (Associated Press)

ตามหลังทั้งคู่มา จึงเป็น เทสลา (Tesla), แบรนด์สหราชอาณาจักรอย่าง MG, และ เกรต วอลล์ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถสัญชาติจีนอีกรายหนึ่ง อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้แทบทั้งหมดจำหน่ายรถอีวีที่นำเข้ามา

เม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จำนวนมากที่ทำให้ภาครถอีวีของไทยเฟื่องฟู กำลังถูกจัดสรรไปในการก่อสร้างพวกสิ่งปลูกสร้างไฮเทคที่มุ่งสร้างให้เหมาะเจาะกับความต้องการของลูกค้า และในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสายการประกอบรถ

“เนต้าเพิ่งประกาศแผนการที่จะเริ่มต้นประกอบรถยนต์อีวีในไทย และเกรต วอลล์ มอเตอร์ ก็ได้ซื้อโรงงานเก่าของเจเนอรัล มอเตอร์ส ในจังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นฐานแห่งหนึ่งสำหรับการขยายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท” รายงานข่าวของเอพีระบุ

มีรายงานว่า เนต้าวาดหวังว่าจะสามารถผลิตรถอีวีได้ 20,000 คันต่อปีในประเทศไทย

ขณะที่ตามข่าวของสื่อนิกเคอิ ในปี 2023 “BYD ประกาศว่าบริษัทจะสร้างโรงงานรถอีวีแห่งหนึ่งขึ้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นถือครั้งแรกที่ผู้ผลิตรถรายนี้ตกลงที่จะสร้างโรงงานรถอีวีสำหรับรถยนต์นั่งขึ้นมานอกประเทศจีน” สื่อทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นรายนี้ตั้งข้อสังเกต

ในปีเดียวกันนั้น บริษัทฉางอาน ออโตโมบิล (Changan Automobile) ของจีน ก็ประกาศว่าจะลงทุน (เป็นจำนวน 270 ล้านดอลลาร์) ในโรงงานรถอีวีแห่งหนึ่งในประเทศไทย

พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพต้อนรับเหล่านักลงทุนชาวจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park Industrial Estate) ซึ่งมีความไฮเทคอย่างน่าประทับใจ ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจมาบตาพุด ท่าเรือแห่งสำคัญของจังหวัดระยอง บริเวณอ่าวไทย

“เอสโวลท์ เอเนอจี้ เทคโนโลยี (Svolt Energy Technology) บริษัทจีนที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรีและระบบจัดเก็บพลังงาน กำลังใช้จ่ายเงินลงทุน (34.7 ล้านดอลลาร์) ในการสร้างโรงงานแบตเตอรีสำหรับรถอีวีแห่งหนึ่งขึ้นทางภาคตะวันออกของไทย เพื่อให้บริการแก่ทั้งพวกผู้ผลิตรถสัญชาติจีน และผู้ผลิตรถสัญชาติญี่ปุ่น” เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าว ไชน่า โกลบอล เซาท์ (China Global South) เขียนเอาไว้เช่นนี้เมื่อเร็วๆ นี้

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พวกผู้บริหารของเทสลา ได้เข้าชมนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง โดยได้รับการต้อนรับดูแลจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ในตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีคลังอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

การซื้อหารถยนต์ในประเทศไทยนั้นบ่อยครั้งทีเดียวกระทำในลักษณะที่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัวขยายครอบครัวหนึ่ง ซึ่งรวบรวมเงินออมของพวกเขาเข้าด้วยกัน ตลอดจนยินยอมติดหนี้ติดสินเพื่อให้ได้เงินเพียงพอมาจ่ายค่าวดาวน์รถ ซึ่งพวกเขาวาดหวังว่าจะเป็นเครื่องจักรกลพลังสูงที่มีความทนทานสามารถสู้กับลมพายุมรสุม, ความร้อน, และถนนที่ยังอยู่ในสภาพเลวร้ายอยู่มากของพื้นที่ชนบท

รถอีวีกำลังเริ่มที่จะได้แฟนานุแฟนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าก็มีเจ้าของบางรายร้องเรียนว่าในพื้นที่นอกกรุงเทพฯนั้น ยังคงหาสถานีชาร์ทไฟลำบากมาก

นอกจากนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดน้ำท่วมบ่อยๆ โดยที่น้ำท่วมคือศัตรูตัวร้ายกาจที่สุดของรถอีวี และเรื่องนี้อาจจะส่งผลลดทอนความกระตือรือร้นที่จะได้ครอบครองรถยนต์ประเภทนี้ในหมู่ประชากรมากกว่า 600 ล้านคนซึ่งพำนักอาศัยในภูมิภาคนี้

รถจักรยานยนต์อีวี, รถสกูตเตอร์สามล้ออีวี, ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะอีวี อาจจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นที่นิยมชมชื่นมากกว่า ภายในพื้นที่เมืองใหญ่ซึ่งการชาร์ทไฟ ที่บ่อยครั้งอาจใช้วิธีเปลี่ยนแบตเตอรี ณ ศูนย์ที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องที่กระทำได้สะดวกง่ายดายกว่าและก็รวดเร็วยิ่งกว่า

ริชาร์ด เอส เออร์ลิช เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอเมริกันที่ปัจจุบันใช้กรุงเทพฯเป็นฐาน เขารายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978 และเคยเป็นผู้ชนะรางวัลผู้สื่อข่าวต่างประเทศของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตัวอย่างบางตอนจากหนังสือสารคดีเล่มใหม่ 2 เล่มของเขา คือ เรื่อง “Rituals. Killers. Wars. & Sex. — Tibet, India, Nepal, Laos, Vietnam, Afghanistan, Sri Lanka & New York” และเรื่อง “Apocalyptic Tribes, Smugglers & Freaks” สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://asia-correspondent.tumblr.com/
กำลังโหลดความคิดเห็น