ฮังการีไม่มีความตั้งใจส่งพลเมืองชาวยูเครนกลับประเทศ จากคำยืนยันของ ซอลท์ เซมเยน รองนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นสัปดาห์ ท่าทีเมินเฉยซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่เคียฟยกระดับความพยายามระดมพลเพิ่มเติมป้อนเข้าสู่กองทัพ ท่ามกลางสงครามกับรัสเซีย
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนเพิ่มความพยายามกดดันพลเมืองที่เดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่พักอาศัยอยู่ในอียูให้กลับสู่มาตุภูมิ ในนั้นรวมถึงการขอให้พวกเจ้าหน้าที่ภายในอียู สนับสนุนความพยายามดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พบว่าสมาชิกอียูหลายชาติแสดงท่าทีลังเลใจที่จะให้ความร่วมมือกับเคียฟ
เซมเยน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ATV ของฮังการีในวันจันทร์ (6 พ.ค.) ว่า บูดาเปสต์ "จะไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังยูเครน เราจะไม่ตรวจสอบด้วยว่าชาวยูเครนรายนั้นๆ เป็นบุคคลที่ต้องเกณฑ์ทหารหรือไม่บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรม เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาถูกส่งกลับไปตาย" เขากล่าว "ผู้ลี้ภัยจากยูเครนทุกคนปลอดภัยอย่างเต็มที่เมื่ออยู่กับเรา และได้รับความช่วยเหลือทุกอย่างที่มี"
ในความพยายามบีบให้ชาวยูเครนที่อยู่ในอายุสู้รบเดินทางกลับประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว สถานกงสุลของยูเครนในต่างแดนแถลงระงับให้บริการผู้ชายอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปีเป็นการชั่วคราว โดยคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับเอกสารที่จำเป็นจนกว่าจะเดินทางกลับมาตุภูมิ
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า ชาวยูเครนจำนวนมากที่พักอาศัยอยู่ในตะวันตกพากันโกรธแค้นต่อนโยบายใหม่นี้ บอกว่าพวกเขารู้สึกเหมือนกับได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นคนทรยศ และเป็นเหยื่อของพวกเจ้าหน้าที่เกณฑ์ทหาร
เคียฟยังขอความช่วยเหลือพวกเจ้าหน้าที่ยูเครน ให้ช่วยคลี่คลายปัญหาด้านกำลังพล ทว่าแม้ให้การสนับสนุนเคียฟอย่างแข็งขัน บรรดาผู้สนับสนุนตัวยงอย่างโปแลนด์และเยอรมนีต่างปฏิเสธส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังยูเครน พร้อมประกาศปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้
จากข้อมูลของยูโรสแตท พบว่า จนถึงเดือนกรกฎาคม 2024 มีชาวยูเครนพักอาศัยอยู่ในอียูราว 4.3 ล้านคน ซึ่งในนั้น 860,000 คน เป็นผู้ชายที่อยู่ในวัยสำหรับสู้รบ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยูเครนยังยกระดับความพยายามชดเชยกำลังพลที่สูญเสียไปในสนามบิน ด้วยการเพิ่มการระดมพลภายในประเทศ โดยล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ลงนามในร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ปรับลดอายุผู้ชายที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจาก 27 ปี เหลือ 25 ปี เพื่อเพิ่มจำนวนกำลังพลที่จะสู้กับกองทัพรัสเซีย
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)