ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร เปิดเผยในวันพุธ (1 พ.ค.) ว่าจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ดินแดนที่เขาทำให้คำจำกัดความผู้นำของประเทศแห่งนี้ว่าเป็น "จอมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา
"วันพรุ่งนี้ (พฤหัสบดี) ความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐอิสราเอลจะถูกตัดขาด สำหรับการมีประธานาธิบดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" เปโตรบอกกับที่ชุมนุมเนื่องในวันแรงงานที่กรุงโบโกตา อ้างถึง เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
ที่ผ่านมา เปโตร วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อปฏิบัติการรุกรานกาซาของอิสราเอล ซึ่งมีขึ้นตามหลังพวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานทางใต้ของอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน พร้อมกับจับตัวประกันไปประมาณ 250 ราย ในนั้น 129 คนยังอยู่ในกาซา และสันนิษฐานว่าในนั้นเสียชีวิตไปแล้ว 34 ราย
ปฏิบัติการรุกรานแก้แค้นของอิสราเอล สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 34,568 รายในกาซา ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของดินแดนที่ปกครองโดยฮามาส
ในวันพุธ (1 พ.ค.) เปโตร บอกกับพวกผู้สนับสนุนหลายหมื่นคน ว่า โลกไม่อาจยอมรับ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และขุดรากถอนโคนผู้คนไปจนหมดสิ้น "ถ้าปาเลสไตน์ตาย มนุษยชาติก็ตาย" เขาบอกกับฝูงชนที่ปรบมือดังลั่น บางส่วนถือป้ายข้อความสนับสนุนปาเลสไตน์
อิสราเอลตอบโต้ด้วยการให้คำจำกัดความ เปโตร ว่าเป็นพวก "ต่อต้านยิวและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง" พร้อมระบุท่าทีของผู้นำโคลอมเบียรายนี้ เท่ากับเป็นการส่งมอบรางวัลแด่พวกฮามาส "ประธานาธิบดีโคลอมเบียเคยประกาศมอบรางวัลแก่ฆาตกรและพวกนักข่มขืนฮามาส และวันนี้เขาได้ส่งมอบรางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" อิสราเอล คาทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลเขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์
โคลอมเบีย กลายเป็นชาติล่าสุดที่เข้าร่วมกับ โบลิเวีย เบลิซ และแอฟริกาใต้ ในการตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ หลายชาติประท้วงการกระทำของอิสราเอล ด้วยการเรียกผู้แทนทูตกลับประเทศ
ในเดือนตุลาคม ไม่กี่วันหลังสงครามเริ่มต้นขึ้น อิสราเอลประกาศว่ากำลังระงับการส่งออกด้านความมั่นคงไปยังโคลอมเบีย หลัง เปโตร กล่าวหา โยอาฟ กัลแลนท์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลว่าใช้ภาษาเกี่ยวกับประชาชนกาซา แบบเดียวกับที่พวกนาซีใช้กับชาวยิว
อิสราเอล ตอบโต้ เปโตร ในตอนนั้นว่า "เป็นการแสดงออกที่ให้การสนับสนุนความโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ ที่ก่อโดยพวกก่อการร้ายฮามาส โหมกระพือการต่อต้านยิว และเรียกเอกอัครราชทูตโคลอมเบียเข้าพบเพื่อทำการประท้วง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อว่า โคลอมเบีย ตอบโต้ด้วยการขอให้เอกอัครราชทูตของอิสราเอลเดินทางออกนอกประเทศ
เปโดร ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกของโคลอมเบีย ยืนยันว่า "ประชาชนในโลกประชาธิปไตยไม่อาจปล่อยตัวพวกนาซีสถาปนาตนเองขึ้นมาใหม่ ในนโยบายนานาชาติต่างๆ"
ในเดือนกุมภาพันธ์ เขาระงับการจัดซื้ออาวุธของอิสราเอล หลังจากเกิดเหตุประชาชนหลายสิบคนเกิดเหยียบกันตาย ระหว่างเข้ารับความช่วยเหลือด้านอาหารในฉนวนกาซา ท่ามกลางคำกล่าวหาผู้เสียชีวิตบางส่วนถูกทหารอิสราเอลกราดยิงเข้าใส่ เหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าเป็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และย้อนให้นึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
กองทัพโคลอมเบียสู้รบในความขัดแย้งกับพวกกองโจรฝ่ายซ้าย กองกำลังติดอาวุธฝ่ายขวาและแก๊งค้ายาเสพติดทั้งหลายมานานหลายทศวรรษ โดยใช้อาวุธและเครื่องบินที่ผลิตโดยอิสราเอล ในขณะที่พวกเขามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทั้งทางทูตและการทหารที่แน่นแฟ้นกับอิสราเอล และสหรัฐฯ มาช้านาน
เปโตร เคยออกมาสนับสนุน ลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล ซึ่งโหมกระพือความขุ่นเคืองแก่อิสราเอล ด้วยการบอกว่ายุทธการในกาซา "ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"
โคลอมเบีย และบราซิลต่างสนับสนุนแอฟริกาใต้ ที่ยื่นฟ้องเอาผิดกับอิสราเอล ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเมืองเฮก กล่าวหาปฏิบัติการจู่โจมกาซา เทียบเท่ากับเป็นการละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide Convention)
(ที่มา : เอเอฟพี)