xs
xsm
sm
md
lg

เติมเชื้อไฟ? ‘เกาหลีใต้’ เปิดเจรจาขอร่วมมือกลุ่มพันธมิตร AUKUS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเจรจากับสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย เพื่อขอร่วมมือ “บางส่วน” กับกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง AUKUS เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ทางกลุ่มออกมาประกาศว่ากำลังพิจารณาดึงญี่ปุ่นเข้าร่วม

AUKUS เป็นกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญก็คือการคานอำนาจ “จีน” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แม้เป้าหมายขั้นที่หนึ่งหรือ ‘pillar one’ ของ AUKUS จะอยู่ที่การจัดหาเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียเท่านั้น ทว่าทั้ง 3 ชาติเริ่มเอ่ยถึงความเป็นไปได้ในการขยาย ‘pillar 2’ ซึ่งเน้นการแชร์เทคโนโลยีด้านการทหาร และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ ได้แก่ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีไซเบอร์ ให้ครอบคลุมไปถึงพันธมิตรรายอื่นๆ ด้วย

ชิน วอน-ซิก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุในงานแถลงข่าวภายหลังการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมและต่างประเทศของออสเตรเลียและเกาหลีใต้ที่นครเมลเบิร์นวันนี้ (1 พ.ค.) ว่า แดนโสมขาวสามารถที่จะช่วยสนับสนุน pillar 2 ของ AUKUS ได้ด้วยศักยภาพด้านกลาโหม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีอยู่

“ระหว่างการพบปะวันนี้ เรายังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน pillar 2 ของ AUKUS” ชิน กล่าว

“เราสนับสนุนกิจกรรมใน pillar 2 ของ AUKUS และเรามีความยินดีที่สมาชิกในกลุ่มจะพิจารณาดึงเกาหลีใต้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนในด้านนี้”

เกาหลีใต้ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และมีอุตสาหกรรมกลาโหมระดับชั้นนำของโลก ถูกจับตามองมานานพอสมควรแล้วว่าน่าจะถูกดึงเข้าร่วม pillar 2 เช่นเดียวกับแคนาดา นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น


เมื่อไม่ถึง 1 เดือนก่อน สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ประกาศว่ากำลังพิจารณาดึงญี่ปุ่นเข้าร่วม pillar 2 เพื่อทำโครงการความร่วมมือด้านกลาโหมแบบเฉพาะเจาะจง โดยจะมีการพูดคุยกันเพิ่มเติมในปีนี้

ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ระบุว่า “เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีอันน่าทึ่ง และมีค่านิยมร่วมกันกับเรา... เมื่อ pillar 2 ได้รับการพัฒนาต่อยอด ก็น่าจะมีโอกาส (ความร่วมมือ) เพิ่มเติมในอนาคต และเราก็เล็งเห็นโอกาสเช่นนั้นสำหรับญี่ปุ่นด้วย”

จีนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การตั้งกลุ่ม AUKUS มาโดยตลอดเอ่ยเตือนเมื่อเดือน เม.ย. ว่า การเพิ่มสมาชิกใหม่เข้าไปในกลุ่มจะบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค

แม้สหรัฐฯ จะเคยเกริ่นถึงความเป็นไปได้ที่จะดึงชาติอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม แต่การขยายกลุ่ม AUKUS ยังคงเผชิญอุปสรรคในเรื่องกฎหมายของสหรัฐฯ เองที่มีข้อจำกัดเข้มงวดในการถ่ายโอนเทคโนโลยีสู่ชาติอื่น ขณะที่ออสเตรเลียและอังกฤษก็ยังกังวลผลกระทบจากการรับสมาชิกเพิ่มเร็วเกินไป

เมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเผยแผนการผ่อนคลายข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้การถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีละเอียดอ่อนไปสู่ออสเตรเลียและอังกฤษทำได้ง่ายขึ้น

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น