ฟิลิปปินส์สั่งปิดโรงเรียนและเตือนเกี่ยวกับภาวะโอเวอร์โหลดของเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า ในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ได้ออกคำเตือนด้านสุขภาพต่างๆ ท่ามกลางคลื่นความร้อนรุนแรงและเข่นฆ่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคแถบนี้
รัฐมนตรีศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ สั่งยกเลิกการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามโรงเรียนรัฐทั่วประเทศ เป็นเวลา 2 วัน ในวันอาทิตย์ (28 เม.ย) "เราได้รับรายงานมากมายเกี่ยวกับอาการป่วยความดันโลหิตสูง เวียนศีรษะและเป็นลม ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ และบรรดาคุณครูในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา" เบนโจ บาซัส ประธานสัมพันธมิตรเกียรติภูมิครู ซึ่งเป็นกลุ่มการศึกษา บอกกับสถานีวิทยุ DWPM
คาดหมายว่าอุณหภูมิในฟิลิปปินส์จะแตะระดับ 37 องศาเซลเซียส ในช่วง 3 วันข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงสั่งหยุดการเรียนการสอน เพราะว่าชั้นเรียนจำนวนมากมีความแออัดและไม่มีเครื่องปรับอากาศ
สำนักงานพยากรณ์อากาศของประเทศคาดการณ์ว่าดัชนีความร้อน (Heat Index) มาตรวัดอุณหภูมิที่ร่างกายคนเรารู้สึกตามความสัมพันธ์กันระหว่าง อุณหภูมิและความชื้นจะอยู่ที่แถว 45 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาวะร้อนระอุเช่นนี้ทำให้ถือว่าอันตรายแก่ชั้นเรียน เนื่องจากมันอาจกระตุ้นให้เกิดอาการโรคลมแดด (Heat Stroke) จากการอยู่ในอุณหภูมิร้อนจัดเป็นเวลานาน
คลื่นความร้อนยังก่อแรงกดดันต่ออุปทานไฟฟ้าบนลูซอน เกาะหลักของฟิลิปปินส์ เนื่องจากไฟสำรองของดินแดนแห่งนี้เหลือน้อยแล้ว หลังจากโรงไฟฟ้า 13 แห่ง ต้องปิดปฏิบัติการไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ในไทยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะพุ่งผ่านระดับ 40 องศาเซลเซียสในกรุงเทพฯ รวมถึงภาคกลางและภาคเหนือของประเทศ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาออกคำเตือนถึงประชาชนให้หลีกเลี่ยงอยู่ในที่แจ้งเป็นเวลานาน
อุณหภูมิพุ่งแตะระดับ 44.2 องศาเซลเซียส ในจังหวัดลำปาง ทางภาคเหนือของไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุในวันจันทร์ (29 เม.ย.) คาดหมายว่าภาวะร้อนจัดจะลากยาวต่อไปในสัปดาห์นี้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย พบว่าในเดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดมากถึง 30 คน
ส่วนในเวียดนาม พบเห็นผู้คนหาทางคลายร้อนด้วยการไปตากแอร์เย็นๆ ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในโฮจิมินห์ ซิตี ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งรัฐ ในขณะที่สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติ เตือนถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับไฟฟ้า ภาวะขาดน้ำ และโรคลมแดด
อุณภูมิสูงสุดวัดได้ในหลายพื้้นที่ทางภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 40.2 องศาเซลเซียส จนถึง 44.0 องศาเซลเซียส จากข้อมูลของสำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติ พร้อมระบุว่า อุณหภูมิจะไม่เบาลงจนถึงวันพุธ (1 พ.ค.)
บริษัทไฟฟ้าแห่งรัฐของเวียดนาม เร่งเร้าผู้บริโภคเช่นกัน ให้อดทนอดกลั้นจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศหนักเกินไป พร้อมเตือนว่าการบริโภคไฟฟ้าแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติหลายต่อหลายรอบในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
กรมอุตุนิยมวิทยาของมาเลเซียออกคำเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนจัดในวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) สำหรับ 16 พื้นที่ ที่วัดอุณหภูมิได้ระหว่าง 35 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน
รวมแล้วพบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศร้อนจัด 45 เคส ในประเทศแห่งนี้ จนถึงวันที่ 13 เมษายน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย โดยไม่ได้บอกว่าพวกเขาเริ่มติดตามเคสต่างๆ ตั้งแต่เมื่อใด พร้อมเผยว่าได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด จำนวน 2 รายด้วยกัน
ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า อุณหภูมิของประเทศในปี 2024 อาจพุ่งสูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 4 ของสิงคโปร์ นับตั้งแต่เริ่มจดบันทึกมาในปี 1929
วันที่ร้อนที่สุดของสิงคโปร์วัดได้ในวันที่ 13 พฤษภาคมปีที่แล้ว ครั้งที่อุณหภูมิในวันนั้น แตะระดับ 37 องศาเซลเซียส
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว สถาบันการศึกษาบางแห่งในสิงคโปร์ผ่อนปรนกฎระเบียบด้านการแต่งกาย เพื่อเปิดทางให้นักเรียนสวมใส่ชุดเอื้ออำนวยต่อการเรียนมากขึ้น ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในอินโดนีเซีย ชาติที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังผลักให้มีเคสผู้ป่วยไข้เลือดออก ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue fever) เพิ่มมากขึ้น โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากระดับ 15,000 คนของปีก่อน เป็น 35,000 ราย
(ที่มา : รอยเตอร์)