(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Chinese warn of Taiwan crisis from US military aid
By JEFF PAO
23/04/2024
“การก้าวข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิด ก็เหมือนกับการขับรถแข่งพุ่งตะบึงตะบอนไปยังขอบหน้าผา ซึ่งการตกลงเหวเป็นสิ่งที่แทบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย”
ปักกิ่งกล่าวแสดงความไม่พอใจอย่างแรงกล้าและประกาศคัดค้านอย่างหนักแน่น หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯลงมติผ่านร่างกฎหมายให้ความช่วยเหลือทางทหารแบบให้เปล่าแก่ไต้หวันและหลายประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน สภาล่างของสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายย่อยทั้ง 4 ฉบับในแพกเกจความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [1] ซึ่งจุดสำคัญคือมุ่งเพิ่มพูนความสามารถในด้านกลาโหมของยูเครน, อิสราเอล, และไต้หวัน โดยจัดสรรเงิน (ก้อนใหญ่ที่สุด) จำนวนราว 60,840 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนสำหรับต่อสู้กับรัสเซีย ขณะที่อีก 26,380 ล้านดอลลาร์จะถูกใช้ไปให้การสนับสนุนอิสราเอล (สำหรับสิ่งที่อ้างกันว่า) เพื่อป้องกันตัวเองในการต่อสู้กับอิหร่านและพวกกลุ่มตัวแทนต่างๆ ของอิหร่าน
ฉบับหนึ่งในร่างกฎหมายย่อยเหล่านี้ ระบุถึงการจัดสรรเงิน 8,120 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวันและพวกประเทศในอินโด-แปซิฟิก เพื่อ “ต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ และทำให้แน่ใจว่ามีการป้องปรามอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคดังกล่าว”
เงินช่วยเหลือก้อนนี้ แบ่งย่อยออกมาได้เป็น
**เม็ดเงินจำนวน 3,300 ล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเรือดำน้ำ ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนในการก่อสร้างอู่แห้ง
**จัดสรรเงินจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่โปรแกรมเงินกู้ทางการทหารแก่ต่างประเทศ (เพื่อใช้ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ -ผู้แปล) สำหรับไต้หวันและพวกพันธมิตรรายหลักๆ อื่นๆ ตลอดจนพวกหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกที่กำลังเผชิญกับการก้าวร้าวรุกรานของจีน และ
**จัดสรรเงินจำนวน 1,900 ล้านดอลลาร์สำหรับเติมเต็มพวกข้าวของสัมภาระด้านกลาโหมและบริการต่างๆ ด้านกลาโหม ซึ่งจัดหาไว้ให้แก่ไต้หวันและเหล่าหุ้นส่วนในภูมิภาค ที่มีการร่อยหรอลงไป
ที่เหลืออีก 920 ล้านดอลลาร์จะใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้, ปรับปรุงเพิ่มพูนการผลิตและการพัฒนาพวกเครื่องกระสุนปืนใหญ่และเครื่องกระสุนของอาวุธที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด, และจัดหาความยืดหยุ่นเพิ่มเติมให้แก่เงินกู้ทางการทหารแก่ต่างประเทศและการค้ำประกันเงินกู้เหล่านี้
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ วุฒิสภาสหรัฐฯก็ได้ผ่านร่างกฎหมายแพกเกจให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนยูเครน, อิสราเอล, และไต้หวันรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 95,000 ล้านดอลลาร์ ในเวอร์ชั่นของสภาสูงไปแล้ว [2] โดยมีรายงานระบุว่ามาถึงตอนนี้วุฒิสภาจะยอมรับร่างของสภาล่าง และจากนั้นแพกเกจนี้ก็จะถูกจัดส่งไปให้ประธานาธิบโจ ไบเดน ของสหรัฐฯในเร็ววัน สำหรับการลงนามอนุมัติซึ่งจะทำให้มันมีผลเป็นกฏหมายบังคับใช้กันต่อไป
(หมายเหตุผู้แปล – วุฒิสภาสหรัฐฯลงมติยอมรับร่างกฎหมายนี้ในเวอร์ชั่นของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเมื่อคืนวันอังคาร (23 เม.ย.) จากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ลงได้นามบังคับใช้ร่างนี้เป็นกฎหมายในวันพุธ(24) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2024/04/24/politics/biden-signs-foreign-aid-bill/index.html และ https://apnews.com/article/joe-biden-mike-johnson-ukraine-israel-b72aed9b195818735d24363f2bc34ea4)
“สหรัฐฯกำลังยืนกรานที่จะผ่านและลงนามบังคับใช้ร่างกฎหมายซึ่งบรรจุเอาไว้ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันที่เป็นผลลบ โดยเป็นการแทรกแซงอย่างร้ายแรงเข้ามาในกิจการภายในของประเทศจีน และล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงต่อหลักการจีนเดียว และข้อกำหนดต่างๆ ของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯทั้ง 3 ฉบับ” เฉิน ปินหัว (Chen Binhua) ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่สำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรี (Taiwan Affairs Office of the State Council) ของจีน แถลงเช่นนี้ในวันจันทร์ (22 เม.ย.) [3] เป็นปฏิกิริยาตอบโต้สภาล่างสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายเวอร์ชั่นของตนในวันศุกร์ (19 เม.ย.) “เราขอแสดงความไม่พอใจอย่างแรงกล้าและประกาศคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อเรื่องนี้”
เฉินบอกด้วยว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ที่เป็นพรรคปกครองไต้หวันอยู่ในเวลานี้ กำลังพยายามพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ และมุ่งใช้กำลังเพื่อแสวงหาทางให้ได้เป็นเอกราช ทว่าความพยายามเช่นนี้มีแต่จะต้องประสบความล้มเหลว
ทางด้าน โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของเหรินหมินรึเป้า หรือ พีเพิลส์ เดลี่ ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ หลี่ ไหตง (Li Haidong) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of International Relations) ของมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศของประเทศจีน (China Foreign Affairs University) ที่กล่าวว่า “จากการจัดหาความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ไต้หวันเช่นนี้ สหรัฐฯก็กำลังพยายามที่จะก่อกวนให้เกิดวิกฤตการณ์และการเผชิญหน้าขึ้นมาในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง” เขาคาดการณ์ต่อไปว่า “จากนั้นสหรัฐฯก็จะใช้ความปั่นป่วนวุ่นวายและการขัดแย้งกันที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นมา เพื่อทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก มีความเอนเอียงไปอยู่ข้างพวกเขา และก่อตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรกลุ่มหนึ่งขึ้นมา”
หลี่ บอกว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เวลาเดียวกันก็บ่อนทำลายรากฐานที่ทรงความสำคัญสำหรับเสถียรภาพของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตลอดจนสร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่ระเบียบที่ดำรงอยู่ในเวลานี้และสภาพแวดล้อมทางความมั่นคงซึ่งมุ่งที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกันขึ้นมาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ความผูกพันของสหรัฐฯ
ในส่วนของรัฐบาลไทเปและสื่อมวลชนในท้องถิ่น ต่างส่งเสียงเชียร์อย่างยินดีสำหรับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯที่เพิ่งได้รับอนุมัติกันหมาดๆ คราวนี้ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวขอบคุณสภาสหรัฐฯ [4] ที่ลงมติรับรองเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรี เฉิน เจี้ยนเหริน (Chen Chien-jen) กล่าวในวันจันทร์ (22 เม.ย.) ว่า ช่องแคบไต้หวันที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ มีความสำคัญต่อสันติภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรืองในโลก
เขาบอกว่า ไต้หวันจะยังคงสืบต่อทำงานกับพวกประเทศที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ซึ่งก็รวมถึงสหรัฐฯและประเทศทั้งหมดในค่ายเสรีประชาธิปไตย ในการปกป้องสันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และในการทำให้พื้นที่ช่องแคบไต้หวันมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ทางด้าน แอนนี เซียว (Anny Hsiao) ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมชาวฟอร์โมซาเพื่อกิจการสาธารณะ (Formosan Association for Public Affairs หรือ FAPA) ที่เป็นองค์กรแห่งหนึ่งของชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวันซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน แสดงความคิดเห็นว่า การอนุมัติความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันเช่นนี้ คือการย้ำยืนยันถึงความผูกพัน “ที่หนักแน่นแข็งแกร่ง” ของวอชิงตันในการช่วยเหลือเกาะแห่งนี้ป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 45 ปีของการที่รัฐสภาอเมริกันผ่านรัฐบัญญัติความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน (US-Taiwan Relations Act) ออกมาบังคับใช้อีกด้วย
เธอเสนอแนะอีกว่า สหรัฐฯควรยุติ “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ที่พวกเขาใช้อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับจีน-ไต้หวัน หันมาใช้แนวทาง “ความชัดเจนทางยุทธศาสตร์” จะดีกว่า
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา วอชิงตันแสดงท่าทีแบบกำกวมคลุมเครือมาโดยตลอด ไม่ว่าในเรื่องที่พวกเขาจะจัดหาความสนับสนุนทางทหารให้แก่ไต้หวันหรือไม่ ถ้าหากเกาะแห่งนี้ถูกจีนแผ่นดินใหญ่บุกโจมตี ครั้นมาถึงเมื่อปีที่แล้ว ไบเดนได้กล่าวในหลายวาระโอกาสว่า สหรัฐฯจะสนับสนุนไต้หวันถ้าหากสงครามเกิดระเบิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน
“ยุทธวิธีหั่นเฉือนไปเรื่อยๆ”
เซี่ย เฟิง (Xie Feng) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ไปกล่าวปราศรัย [5] เมื่อวันที่ 20 เมษายน ในพิธีเปิดการประชุมว่าด้วยจีนประจำปี 2024 ของ วิทยาลัยรัฐกิจ จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Kennedy School)
เขาเตือนสหรัฐฯว่า จะต้องเผชิญกับผลพ่วงต่อเนื่องของการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน และการสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของจีนในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน, ฮ่องกง, ซินเจียง, ซีจ้าง (ทิเบต), และทะเลจีนใต้
“การนำเอายุทธวิธีหั่นเฉือนไปเรื่อยๆ (หรือที่เรียกกันว่า ยุทธวิธีหั่นเฉือนไส้กรอกซาลามี salami tactics) มาใช้ และการก้าวข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิด (red lines) ในประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แกนกลางของคนอื่นๆ ก็เหมือนกับการขับรถแข่งพุ่งตะบึงตะบอนไปยังขอบหน้าผา ซึ่งการตกลงเหวเป็นสิ่งที่แทบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย” เขากล่าว
“คำถามว่าด้วยไต้หวันคือประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดและอ่อนไหวที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ สิ่งที่เรียกขานกันว่า “เอกราชของไต้หวัน” คือทางตันซึ่งไม่สามารถฟันฝ่า และหลักการจีนเดียวคือเส้นสีแดงที่ห้ามก้าวข้าม” เขาบอก
เขากล่าวต่อไปว่า เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสหรัฐฯและจีนที่จะต้องมีความผิดแผกแตกต่างกัน ทว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันสำหรับทั้งสองฝ่ายที่จะต้องบริหารจัดการความผิดแผกแตกต่างกันของพวกเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม และให้ความเคารพต่อสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางตลอดจนสิ่งที่เป็นความกังวลห่วงใยสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่ง
เวลาเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีกำหนดเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันพุธที่ 25 เม.ย. จนถึงวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. ตามคำเชิญของรัฐมนตรต่างประเทศจีน หวัง อี้ [6]
เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับสื่อมวลชนว่า ระหว่างทริปเยือนจีนเที่ยวรัเ บลิงเคนจะแจ้งให้ปักกิ่งทราบถึงความกังวลห่วงใยอย่างล้ำลึกของวอชิงตัน ในเรื่องความช่วยเหลือของจีนที่ให้แก่ฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย
เป็นที่คาดหมายกันว่า หัวข้อที่บลิงเคนเตรียมนำไปพูดเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน จะได้แก่ประเด็นปัญหาเรื่องไต้หวัน, ปัญหาความสามารถการผลิตทางอุตสาหกรรมของจีนล้นเกิน, และการสู้รบขัดแย้งในตะวันออกกลาง
เชิงอรรถ
[1]https://appropriations.house.gov/news/press-releases/house-passes-series-security-supplemental-bills
[2]https://www.channelnewsasia.com/world/us-house-passes-us95-billion-ukraine-taiwan-israel-aid-package-4280596#:~:text=WASHINGTON%3A%20The%20US%20House%20of,bitter%20objections%20from%20Republican%20hardliners.
[3] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1796987416211714993&wfr=spider&for=pc
[4]https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/taiwan-thanks-us-for-aid-package-says-will-safeguard-peace
[5] http://us.china-embassy.gov.cn/eng/dshd/202404/t20240421_11285694.htm
[6]https://www.nbcnews.com/news/world/blinken-warn-china-support-russias-military-weeks-visit-rcna148744