เอเจนซีส์ - รายงานระบุยุโรปเป็นภูมิภาคที่อากาศร้อนขึ้นมากที่สุดในปีที่แล้ว โดยอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่าตัว ขณะเดียวกัน คาดหมายกันว่าในปี 2023 ภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าราว 14,300 ล้านดอลลาร์ และส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 2 ล้านคน
รายงานที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (ดับเบิลยูเอ็มโอ) จัดทำร่วมกับโคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (อียู) ยังระบุว่า ยุโรปมีลู่ทางโอกาสในการพัฒนายุทธศาสตร์แบบกำหนดเป้าหมายเพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังน้ำ สำหรับรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ก่อนหน้านี้ ในรายงานสภาพภูมิอากาศยุโรปที่หน่วยงานทั้ง 2 แห่งจัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วระบุว่า ภูมิภาคนี้ผลิตกระแสไฟฟ้า 44% จากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2022 และถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำหรับรายงานล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในยุโรปในช่วง 5 ปีล่าสุดสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 2.3 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงกว่าระดับดังกล่าวเพียง 1.3 องศาเซลเซียส ขณะที่ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีสปี 2015 กำหนดให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เอลิซาเบธ แฮมดุช รองผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส ชี้ว่า ปี 2023 เป็นอีกปีที่อุณหภูมิในยุโรปสูงขึ้นและสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไฟป่า คลื่นร้อน ธารน้ำแข็งละลาย และไม่มีหิมะตก และรายงานสภาพภูมิอากาศโลกที่ดับเบิลยูเอ็มโอจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีมานานถึง 3 ทศวรรษ เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า โลกยังพยายามไม่มากพอในการต่อสู้กับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
โคเปอร์นิคัสรายงานว่า เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุบสถิติ และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วยุโรปทำสถิติสูงสุดใหม่ในปีที่ผ่านมา
รายงานสภาพภูมิอากาศในยุโรปประจำปีนี้มุ่งเน้นที่ผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ความร้อนเป็นภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงที่สุดในช่วงฤดูร้อนในยุโรป โดยนอกจากมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนวันที่เกิดความเครียดจากความร้อนรุนแรงซึ่งหมายถึงอุณหภูมิตามความรู้สึกที่ระดับสูงกว่า 46 องศาเซลเซียส ยังเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คนที่เกี่ยวข้องกับพายุ น้ำท่วม และไฟป่าในปีที่ผ่านมา
รายงานเสริมว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด 23 ใน 30 ครั้งในยุโรปเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ และมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเพิ่มขึ้นราว 30% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น แม้ยังไม่มีข้อมูลการเสียชีวิตจากความร้อนรุนแรงในยุโรปในปี 2023 แต่คาดว่า มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนจากคลื่นร้อนระหว่างฤดูร้อนในยุโรปในปี 2003, 2010 และ 2022
โคเปอร์นิคัสและดับเบิลยูเอ็มโอใช้ดัชนีความร้อนอากาศสากลที่วัดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่อร่างกายมนุษย์ โดยพิจารณาทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ความชื้น ความเร็วลม แสงแดด และความร้อนจากสภาพแวดล้อม
รายงานประเมินว่า ภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 14,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 และส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 2 ล้านคน
สภาพอากาศรุนแรงนำไปสู่ภาวะคลื่นร้อน ไฟป่า ฝนแล้ง และน้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้ธารน้ำแข็งในยุโรปละลาย ซึ่งรวมถึงในเทือกเขาแอลป์ที่ธารน้ำแข็งละลายราว 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
เดือนกันยายนเป็นเดือนที่อุณหภูมิในยุโรปสูงสุดทำสถิติ
นอกจากนี้ ปี 2023 ยังเป็นปีที่ยุโรปเปียกปอนที่สุด โดยเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน 1.6 ล้านคน และพายุที่ส่งผลต่อประชาชน 550,000 คน