xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาไม่มีแผนบีสำหรับยูเครน นอกเหนือจากการเข้าทำสงครามอย่างใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน


ลู่ทางอนาคตในการทำสงครามของยูเครนกำลังตกอยู่ในเงาดำมืดมน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

America has no Ukraine Plan B except more war
By DAVID P GOLDMAN
24/03/2024

ชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีเจตนารมณ์อย่างมืดบอดที่จะตีกระหน่ำเล่นงานรัสเซียในสนามรบ และในการบดขยี้เศรษฐกิจแดนหมีขาว ทว่าทั้งสองสิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้หรอก

ณ สถานที่แห่งหนี่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ของปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อดีตเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีอาวุโส, นายทหารระดับอาวุโส, นักวิชาการ, และนักวิเคราะห์ของสถาบันคลังสมองของสหรัฐฯ จำนวนรวมประมาณ 20-30 คน ได้พบปะหารือกันเพื่อประเมินสถานการณ์การทหารของโลก

ผมสามารถพูดได้ว่า ผมไม่เคยรู้สึกหวาดกลัวขนาดนี้มาก่อนเลยนับจากช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1983 เมื่อตอนที่ผมยังเป็นนักวิจัยสัญญาจ้างระดับจูเนียร์ซึ่งคอยทำงานอะไรจิปาถะให้แก่ นอร์แมน เอ ไบลีย์ (Norman A Bailey) ที่ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดี (Special Assistant to the President)) อยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) นั่นเป็นตอนที่สงครามเย็นดำเนินไปจนถึงขีดสูงสุด และการซ้อมรบ “อะเบิล อาร์เชอร์ 83” (Able Archer 83) กระทำกันอย่างเหมือนจริงมากเกินไปจนกระทั่งเกือบกลายเป็นชนวนจุดให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซ้อมรบที่กล่าวถึงนี้ ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Able_Archer_83)

มาถึงตอนนี้ พวกชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯกำลังนำเอาเครดิตความน่าเชื่อถือของพวกเขาออกมาวางเป็นเดิมพัน ในเรื่องมุ่งหยามหมิ่นสร้างความอับอายขายหน้าให้รัสเซีย ด้วยการผลักดันแนวพรมแดนขององค์การนาโต้ให้คืบขยายจนอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไม่กี่ร้อยกิโลเมตร เวลาเดียวกันนั้นก็ดำเนินการบดขยี้เศรษฐกิจของรัสเซียโดยออกมาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ มากมายหลากหลาย

พวกเขาทวงบุญทวงคุณเรียกร้องเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถกระทำได้จากประดารัฐบาลของยุโรป, ปลุกระดมขบวนแถวนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ พวกหน่วยงานคลังสมอง, และพวกนักการเมืองที่เลี้ยงดูไว้ ให้ช่วยกันกระตุ้นส่งเสริมสงครามตัวแทนของพวกเขาในยูเครน ด้วยเจตนารมณ์ที่จะด้อยค่าของกองทัพรัสเซีย และบีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซียขึ้นมาในที่สุด

ข้อความที่ส่งออกมาจากพวกผู้เข้าร่วมซึ่งทรงเกียรติที่สุด –อันได้แก่ประดาอดีตสมาชิกระดับคณะรัฐมนตรีที่คุมงานด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ— ก็คือว่านาโต้ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้ชนะให้ได้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียกันขนาดไหน “คำถามอยู่ที่ว่ารัสเซียสามารถที่จะสร้างกำลังสำรองทางยุทธศาสตร์ได้หรือไม่” ผู้เสนอรายงานต่อที่ประชุมคนหนึ่งกล่าว “กำลังนายทหารชั้นสัญญาบัตรของพวกเขาเวลานี้มีความเข้มแข็งอยู่ในระดับ 50% และพวกเขาไม่ได้มีกำลังนายทหารชั้นประทวนที่แน่นหนาอะไร”

“ฝ่ายรัสเซียกำลังประสบกับการสูญเสียระดับมหาศาลที่ 25,000 ถึง 30,000 คนต่อราย” อดีตเจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อ “พวกเขาไม่สามารถประคับประคองเจตจำนงที่จะสู้รบเอาไว้ในสมรภูมิ ฝ่ายรัสเซียกำลังใกล้ถึงจุดที่จะพังทลายแล้ว พวกเขาสามารถที่จะประคับประคองเจตจำนงแห่งชาติของพวกเขาเอาไว้ได้ไหม? ไม่ได้หรอก ถ้าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างมีการทุจริตคดโกง (ที่ทำให้วลาดิมีร์ ปูติน ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดใดๆ ได้ เศรษฐกิจของพวกเขามีความเปราะบางอย่างแท้จริง เราจำเป็นที่จะเร่งเพิ่มความพยายามมากขึ้นอีกในการแซงก์ชั่น และการห้ามปรามสกัดกั้นทางการเงินเพื่อไม่ให้การจัดหาจัดส่งสัมภาระไปถึงมือรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียมีแต่ความเข้มแข็งซึ่งเป็นแต่เพียงฉากหน้าเอาไว้หลอกๆ กันเท่านั้น”

ทั้งหมดที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นตัวอย่างสาธิตให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นเท็จ และผู้เสนอรายงานในกรณีนี้ก็ทราบดีว่ามันเป็นเท็จ ความคิดที่ว่ารัสเซียกำลังประสบกับจำนวนบาดเจ็บล้มตายประมาณ 25,000 ถึง 30,000 คนต่อเดือนนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระจนน่าหัวเราะเยาะ การบาดเจ็บล้มตายจากอาวุธยิงไกลอย่างปืนใหญ่นั้น เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บล้มตายประมาณ 70% ของทั้งสองฝ่าย และตามการประมาณการของทุกๆ สำนัก รัสเซียกำลังยิงอาวุธยิงกระสุนปืนใหญ่กันในอัตรา 5 เท่าจนถึง 10 เท่าตัวของทุกๆ นัดที่ยูเครนยิงออกมาได้ รัสเซียมีความระมัดระวังหลีกเลี่ยงการบุกโจมตีแบบทั่วทั้งแนวรบเพื่อสงวนรักษากำลังคนเอาไว้

สำหรับการได้รับเลือกตั้งอีกคำรบหนึ่งของปูติน ข้อเท็จจริงสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่ามีชาวรัสเซียออกไปใช้สิทธิกันในระดับ 88% สูงกว่ามากมายนักเมื่อเทียบกับอัตราการออกไปโหวตในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกไม่ว่าแห่งไหน ชาวรัสเซียอาจจะไมท่ได้มีผู้สมัครมากมายอะไรนักให้พวกเขาเลือก แต่พวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะไปเลือกตั้งหรือไม่ไปก็ได้ การออกมาใช้สิทธิกันมากมายคับคั่งเช่นนี้ยังสอดคล้องกับคะแนนเรตติ้งความยอมรับในตัวปูตินซึ่งสูงถึง 85% ทั้งนี้ตามผลโพลของ เลวาดา (Levada poll) ที่ดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ

เรตติ้งความยอมรับและความยอมรับในตัวปูติน ในโพลของเลวาดา ที่มา: Statista
แทนที่รัสเซียจะตกอยู่ในสภาพของการกำลังพังครืนลงมา พวกเขากลับกำลังกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการจัดระเบียบปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานระดับโลกต่างๆ กันเสียใหม่ และเรื่องการเงินของพวกเขา และเรื่องเศรษฐกิจของพวกเขาต่างกำลังเติบโตขยายตัว แทนที่จะกำลังหดตัวลงเหลือเพียงครึ่งเดียว อย่างที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยสัญญาเอาไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2022

ยูเครนกำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนกำลังทหาร ขณะที่ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับกฎหมายการเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ นักประวัติศาสตร์ทางการทหารคนสำคัญผู้หนึ่ง แสดงความเห็นท้วงติงว่า “ทุกหนทุกแห่งที่พวกเดินทางไปในยูเครน คุณะสามารถมองเห็นพวกคนหนุ่มๆ กำลังเที่ยวเตร็ดเตร่กันไปทั่ว และไม่ได้สวมเครื่องแบบแต่อย่างไร! ยูเครนปฏิเสธไม่ได้ยอมเดินเครื่องเข้าสงครามกันอย่างเต็มพิกัด”

รัสเซียผลิตลูกปืนใหญ่ออกมาได้เท่าใด ยังมีการให้ตัวเลขที่ไม่ตรงกันอยู่ แต่ประมาณการกันได้ว่ามากกว่าที่ยูเครนทำได้ในระหว่าง 4 เท่าจนถึง 7 เท่าตัว การป้องกันทางอากาศของยูเครนก็อยู่ในสภาพอ่อนล้าเต็มที ขณะที่ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานรุ่นเก่าตั้งแต่ยุคโซเวียตของพวกเขาถูกยิงออกไปเรื่อยๆ และสต็อกขีปนาวุธ “แพทริออต” ของนาโต้กำลังร่อยหรอลงทุกที

รัสเซียนั้นมียุทธสัมภาระซึ่งเป็นลูกระเบิดขนาดใหญ่ยุคโซเวียตในจำนวนที่ไม่มีทีท่าจะหมดสิ้นลง โดยพวกเขานำเอาพวกมันมาติดตั้งด้วยระบบนำทางราคาถูกๆ และยิงออกมาใส่เป้าหมายต่างๆ ของฝ่ายยูเครนอย่างแม่นยำจากอากาศยานรัสเซียซึ่งบินอยู่ห่างออกไป 60 ไมล์ (96.5 กิโลเมตร) ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากเป็น 5 เท่าตัวของยูเครน รัสเซียจึงกำลังเป็นผู้ชนะในสงครามที่กำลังสู้รบกันในแบบสงครามพร่ากำลัง (war of attrition) เช่นนี้

ผู้เสนอรายงานอีกคนหนึ่ง ณ การประชุมช่วงสุดสัปดาห์ที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้ประนามนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ช็อลซ์ ของเยอรมนี และพวกผู้นำยุโรปคนอื่นๆ ว่าแสดงความวิตกกังวลกันมากเกินไป เกี่ยวกับ “ธรณีประตูแห่งนิวเคลียร์” (nuclear threshold) –ซึ่งก็คือจุดที่หากก้าวข้ามแล้วก็อาจจะเกิดการบานปลายขยายตัว โดยที่รัสเซียอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้เสนอรายงานผู้นี้เรียกร้องให้เยอรมนีจัดส่งขีปนาวุธร่อนแบบทอรัส (Taurus cruise missile) ซึ่งสามารถยิงได้ไกลๆ ของพวกเขาไปให้ยูเครน ขีปนาวุธชนิดนี้มีพิสัยทำการไกล 1,000 กิโลเมตร และใช้หัวรบแบบ 2 ขยักที่เหมาะสมสำหรับการทำลายพวกโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ

พวกนายทหารอากาศระดับอาวุโสของเยอรมนี มีการหารือถกเกียงกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เกี่ยวกับการใช้ขีปนาวุธสัก 20 ลูกเพื่อทำลายสะพานเคิร์ช (Kerch Bridge) ที่เชื่อมคาบสมุทรไครเมียเข้ากับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย ในระหว่างการสนทนาที่ถูกแอบบันทึกเสียงเอาไว้และนำออกมาเผยแพร่โดยสื่อรัสเซีย การสนทนานี้ยังเปิดเผยให้ทราบว่าเวลานี้มีบุคลากรชาวสหราชอาณาจักรและของชาตินาโต้อื่นๆ จำนวนรวมแล้วหลายร้อยคน เข้าร่วมอยู่ในการสู้รบในยูเครน [1]
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/germany-taurus-missiles-ukraine-war-russia-leaked-audio/)

การนำเอาสงครามนี้เข้าสู่มาตุภูมิของรัสเซียและการทำลายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ คือหนทางหนึ่งสำหรับการแปรเปลี่ยนสงครามที่ใช้ยูเครนเป็นตัวแทนคราวนี้ให้กลายเป็นเป็นสงครามใหญ่ของยุโรปขึ้นมา สำหรับอีกหนทางหนึ่งก็คือการนำเอากองทหารนาโต้เข้าไปประจำการในยูเครน ซึ่งเป็นอะไรที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสริเริ่มเสนอออกมาให้พิจารณา (ทว่าแทบเป็นการแน่นอนทีเดียวว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น)

น่าสังกตว่าไม่มีการเอ่ยอะไรสักคำเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะหาทางออกจากการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ด้วยการเจรจากัน ผลลัพธ์ที่จะออกมาจากเจรจากันใดๆ ก็ตาม ณ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จะต้องยกเอาพวกแคว้นทางภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งรัสเซียประกาศผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนแล้ว ให้เป็นรางวัลของแดนหมีขาว และบางทีอาจจะต้องยกดินแดนอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะดินแดนที่ยืดขยายออกไปจนจดจรดฝั่งตะวันออกขแงแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper River)ให้แก่รัสเซียอีกด้วย เพื่อให้เป็นเขตพื้นที่กันชน –ติดตามด้วยการให้รัสเซียมีความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติกับยุโรปตะวันตก

รัสเซียจะผงาดขึ้นมาในฐานะผู้พิชิต และทรัพย์สินอเมริกันที่อยู่ในยุโรปตะวันตกก็จะต้องด้อยค่าลงไป ผลกระทบที่มีต่อตำแหน่งฐานะใมโลกของอเมริกันนั้นจะเสียหายย่ำแย่ถึงขั้นวิบัติ กล่าวคือ อย่างที่ผู้เข้าร่วมประชุมคราวนี้หลายๆ คนตั้งข้อสังเกตกันเอาไว้ ไต้หวันเวลานี้กำลังเฝ้ามองอย่างระมัดระวังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพวกซึ่งทำตัวเป็นตัวแทนของอเมริกัน

กฎระเบียนที่ใช้ในการประชุมครั้งนี้ กีดกั้นไม่ให้ผมสามารถพูดอะไรได้มากกว่านี้ แต่ผมมีอิสระเสรีที่จะรายงานสิ่งที่ผมบอกกล่าวต่อการประชุมรวมตัวกันคราวนี้ ซึ่งสิ่งที่ผมพูด ก็คือ การแซงก์ชั่นมุ่งเล่นงานรัสเซียนั้นล้มเหลวลงอย่างน่าเวทนา เนื่องจากรัสเซียสามารถเข้าถึงการนำเข้าในปริมาณไร้ขีดจำกัดของจีน (เช่นเดียวกับของอินเดียและชาติอื่น) ทั้งโดยทางตรงและโดยผ่านพวกประเทศคนกลางจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า ตุรกี และพวกประเทศที่เป็นอดีตสาธารณรัฐโซเวียต

แต่ความหยุ่นตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียในขณะเผชิญหน้ากับมาตรการแซงก์ซั่นซึ่งมุ่งหวังสร้างความวิบัติหายนะให้พวกเขาเช่นนี้ เป็นเครื่องสะท้อนเพียงประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มโหฬารซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับการค้าโลกในปัจจุบันเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ควรต้องจับตา อย่างเช่นการส่งออกของจีนไปยังพวกประเทศซีกโลกใต้ (Global South ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย) ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และจีนเวลานี้ส่งออกไปยังซีกโลกใต้ มากกว่าที่ส่งออกไปยังพวกตลาดพัฒนาแล้ว ในทางกลับกัน ความสำเร็จในการส่งออกอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนเช่นนี้ของจีนนั้น มีต้นตอมาจากการที่อุตสาหกรรมของจีนได้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติอย่างเร่งด่วน โดยที่เวลานี้อุตสาหกรรมจีนมีการติดตั้งหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมในแต่ละปี มากกว่าที่ติดตั้งกันอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกันเสียอีก

นี่คือหลักฐานที่สืบค้นได้จากฐานะการเป็นผู้เหนือล้ำกว่าใครๆ ในตลาดรถยนต์โลกของจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาให้เห็นใหม่ๆ หมาดๆ แต่พร้อมกันนั้นเรื่องนี้ก็ยังมีนัยอันสำคัญยิ่งยวดในทางการทหารอีกด้วย ผมกล่าวต่อ ทั้งนี้จีนอวดว่าพวกเขามีโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติซึ่งรวมๆ แล้วสามารถทำขีปนาวุธร่อนได้ 1,000 ลูกต่อวัน –เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เมื่อพิจารณาว่าพวกเขาสามารถผลิตรถยนต์อีวีได้ 1,000 คันต่อวัน หรือสถานีฐานของระบบสื่อสารบรอดแบนด์ 5 จี ได้เป็นจำนวนพันๆ ชุดต่อวัน

นัยสำคัญยิ่งยวดทางการทหารที่ผมพูดถึง ก็คือว่าจีนสามารถผลิตขีปนาวุธร่อนจำนวน 4,000 ลูก ซึ่งพอๆ กับที่มีอยู่ในคลังแสงของอเมริกา ภายในเวลาสัปดาห์เดียวเท่านั้น ขณะที่พวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหมอเมริกันต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการประกอบพวกมันขึ้นมาด้วยมือ

ไม่มีใครโต้แย้งข้อมูลที่ผมนำเสนอ และก็ไม่มีใครเชื่อว่ารัสเซียกำลังเจออัตราการบาดเจ็บล้มตาย 25,000 คนต่อเดือน ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาสำหรับการอภิปรายถกเถียงกัน สิ่งที่เป็นประเด็นอยู่ตรงที่ว่า บรรดาผู้มีเกียรติที่มาชุมนุมรวมตัวกันในครั้งนี้ ซึ่งอาจใช้เป็นตัวอย่างในลักษณะตัวแทนของคณะผู้นำทางการบริหารและทางสติปัญญาของชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯนั้น ยังไงๆ ก็จินตนาการไม่ออกเกี่ยวกับโลกซึ่งอเมริกาไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ออกคำสั่งอีกต่อไปแล้ว

พวกเขามีความเคยชินที่จะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการสิ่งต่างๆ และพวกเขาจะเอาโลกมาวางเดิมพันกันทีเดียว เพื่อธำรงรักษาฐานะเช่นนี้ของพวกเขาเอาไว้

พลอากาศโท อินโก แกร์ฮาร์ตซ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศเยอรมนี (ภาพจากเฟซบุ๊กของเจ้าตัว)
หมายเหตุผู้แปล

[1]เกี่ยวกับการสนทนากันทางเทเลคอนเฟอเรนซ์ของพวกนายทหารอากาศระดับอาวุโสของเยอรมนี แล้วถูกรัสเซียดักฟังได้แถมนำเอาไฟล์เสียงมาเผยแพร่ด้วยนั้น เอเชียไทมส์มีข้อเขียนซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นั้ ดังนี้:


ว่าด้วยการประชุมของกองทัพอากาศเยอรมันที่ถูกรัสเซียล้วงตับ
โดย อูเว พาร์พาร์ต

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

German military leak: Clown show or casus belli?
By UWE PARPART
07/03/2024

การใช้มาตรการแบบจนตรอกและความเคลื่อนไหวแบบเสี่ยงภัยขององค์การนาโต้ในยูเครน อาจจะนำไปสู่เพลิงสงครามในระดับครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป

การแสดงจำอวดของตัวตลก หรือว่ามันคือต้นเหตุที่จะทำให้สถานการณ์ปะทุลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่? สำหรับผมนั้น ขอบอกว่า มันเป็น “ทั้งสองอย่าง” ... ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาบ่อยๆ เมื่อความโง่เขลาบวกรวมเข้ากับความหยิ่งผยองจนสมคบกันกลายเป็นการจุดชนวนและเป็นสาเหตุของการระเบิดขึ้นมาของสงคราม หรือสำหรับในกรณีนี้ มันก็อาจจะเป็นการบานปลายขยายตัวของสงครามระดับภูมิภาคจนกระทั่งกลายเป็นการเผชิญหน้ากันในระดับโลก กระทั่งอาจจะเป็นการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย

เหตุการณ์คราวนี้มีจุดไฮไลต์อยู่ที่การประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งขาดไร้การดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างโง่เขลาชนิดเหลือเชื่อ ระหว่าง พลอากาศโท อินโก แกร์ฮาร์ตซ์ (Ingo Gerhartz) ผู้บัญชาการทหารอากาศเยอรมนี กับนายทหารอากาศยศนายพลคนอื่นๆ อีก 3 คนของแดนดอยช์

ในการสนทนาทางไกลอันน่าตรึงใจเป็นเวลา 38 นาทีที่ถูกดักฟังได้โดยหน่วยข่าวกรองรัสเซีย และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านช่องของ RT สื่อทางการแดนหมีขาวในแพลตฟอร์ม เทเลแกรม ประดาตัวตลกในเครื่องแบบทหารเหล่านี้ ได้หารือกันด้วยน้ำเสียงสบายๆ และอวดโอ่โอหัง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ตลอดจนความยากลำบากของการนำเอาขีปนาวุธร่อนแบบทอรัส (Taurus) ที่สามารถยิงใส่เป้าหมายในระยะไกลๆ เข้าไปติดตั้งประจำการในยูเครน รวมทั้งมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างด้วย ถึงการนำขีปนาวุธนี้มาโจมตีและทำลายสะพานติดต่อระหว่างคาบสมุทรไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย (ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า สะพานเคิร์ช Kerch Bridge) ตลอดจนสถานที่จัดเก็บพวกเครื่องกระสุนต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กันของรัสเซีย

หนึ่งในนายพลที่ร่วมสนทนากันคราวนี้ตั้งข้อสังเกตว่า สะพานแห่งนี้ (ซึ่งยาว 19 กิโลเมตร จึงมีฐานะเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป) มีขนาดพอๆ กับสนามบินใหญ่ๆ แห่งหนึ่ง และดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ขีปนาวุธทอรัสอย่างน้อยที่สุด 10 ลูก หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องถึง 20 ลูกเพื่อทำลายมันให้ยับเยิน แทนที่จะทำเพียงแค่เจาะรูขึ้นมาสักรูหนึ่งตรงเสาตอม่อสะพาน

แล้วตรงนี้แหละคือปัญหา ใครล่ะจะเป็นคนทำเรื่องนี้? มันอาจจะต้องใช้เวลา 6 เดือนทีเดียวในการฝึกอบรมบุคลากรชาวยูเครนสำหรับกระทำเรื่องนี้ให้สำเร็จขึ้นมา โดยที่ไม่สามารถให้มีชาวเยอรมันใดๆ ถูกพบเห็นว่าอยู่ตรงนั้นอีกด้วย มันไม่สามารถทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นใน “สไตล์ของลุฟต์วัฟเฟเก่า” (old Luftwaffe style โดยที่ Luftwaffe คือกองทัพอากาศเยอรมนี) ผู้พูดคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต ขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่า “ถ้าหากพวกเราถูกสอบถามเกี่ยวกับวิธีการในการจัดส่ง ผมทราบดีเลยเกี่ยวกับวิธีการที่พวกสหราชอาณาจักรทำอยู่ในเรื่องนี้ พวกเขาทำกันในแบบไปให้สุดจนถึงด้านหลัง (reach-back) อย่างสมบูรณ์แบบ (ซึ่งก็คือจัดส่งบุคลากรขอพวกเขาเองเข้าไปประจำอยู่ในที่ตั้งส่วนหน้า forward-deployed personnel) พวกเขามีคนอยู่มากทีเดียวตรงภาคพื้นดิน (ในยูเครน) ”

เอาละซี เมื่อพวกสหราชอาณาจักรและพวกอเมริกันสามารถให้ความช่วยเหลือได้ มันก็ยิ่งดีใหญ่

หลังจากฝ่ายรัสเซียเผยแพร่การสนทนาที่ถูกแอบดักฟังได้คราวนี้ออกมา กระทรวงกลาโหมเยอรมนีได้แถลงยืนยันว่าการสนทนานี้เป็นของจริง มันเกิดขึ้นมาจริงๆ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านข่าวกรองของสหรัฐฯผู้หนึ่ง ซึ่งเขียนแสดงความคิดเห็นประจำวันในเรื่องสงครามยูเครน ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในข้อเขียนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนี้:

“สำหรับพวกนายพลเยอรมันเหล่านี้แล้ว ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับการแสดงจำอวดที่ขาดไร้ OPSEC (operational security การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในทางยุทธการ) กันถึงขนาดนี้ และทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สมควรที่จะถูกไล่ออก”

ผมได้เขียนกลับไปถึงเขา ดังนี้:

ในฐานะที่ผมเป็นอดีตนายทหารเยอรมันผู้หนึ่ง ผมรู้สึกละอายมากกับการแสดงจำอวดที่มีอันตรายอย่างยิ่งคราวนี้ ซึ่งไม่สามารถจะนำเอาข้อแก้ตัวใดๆ มาอ้างได้เลย ถ้าหากในอนาคตข้างหน้า สะพานเคิร์ชถูกถล่มพังลงมาเมื่อใด ปูตินก็มีความชอบธรรมที่จะถือว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเยอรมนี และพิจารณาว่ามันเป็นพฤติการณ์ของสงครามที่กระทำโดยฝ่ายเยอรมนีต่อทางรัสเซีย นี่คือ ต้นเหตุที่จะทำให้สถานการณ์ปะทุลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ (casus belli) ระดับคลาสสิก

ปูตินและเหล่านายพลของเขาจะต้องขบคิดพิจารณาว่า โครงสร้างพื้นฐานระดับเท่าเทียมกันในเยอรมนีแห่งไหนที่สมควรจะเข้าถล่มโจมตีให้พินาศจึงจะสาสมสำหรับการตอบโต้ (ในเยอรมนีนั้นไม่มีสะพานที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันเอาเลย) บางทีอาจจะเป็นพวกสะพานข้ามแม่น้ำเอลเบ (Elbe River) ที่เมืองเดรสเดน (Dresden) กระมัง ซึ่งอยู่ในเส้นทางสำหรับลำเลียงพวกวัสดุทำสงครามข้ามเข้าไปในโปแลนด์และยูเครน


การไล่คนเหล่านี้ออก ไม่มีทางเพียงพอไปได้ พวกเขาควรที่จะถูกนำตัวขึ้นศาลทหารและถูกพิจารณาตัดสินกันอย่างรวดเร็วด้วย โชคร้ายที่ในเยอรมนีนั้นไม่มีระบบยุติธรรมของฝ่ายทหาร กระนั้น ศาลอาญาของฝ่ายพลเรือนก็น่าจะเพียงพอสำหรับจัดการกับเรื่องอย่างนี้ได้

กระแสคลื่นในสงครามยูเครนไม่เพียงแต่เปลี่ยนทิศทางไปแล้วนับตั้งแต่ความล้มเหลวอย่างน่าสังเวชของการบุกใหญ่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาของฝ่ายยูเครน เวลานี้ฝ่ายยูเครนยังกำลังขยับเข้าไปใกล้ที่จะตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งชายและหญิงที่กำลังจนตรอกทั้งในฝ่ายนาโต้และในฝ่ายยูเครน จึงต่างกำลังพิจารณาถึงมาตรการแบบจนตรอกทั้งหลายกันใหญ่

สหรัฐฯไม่ได้ต้องการสันติภาพ เนื่องจาก โจ ไบเดน จะถูกตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ และมันจะทำให้เขาต้องประสบความปราชัยในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับโวโลดิมีร์ เซเลนสกี นั้น ได้ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งในยูเครนซึ่งมีกำหนดต้องจัดขึ้นในช่วงระยะนี้ไปแล้ว และแสดงท่าทีจะไม่ยอมเจรจาใดๆ ขณะที่นาโต้คิดว่าพวกเขาจะต้องแสดงตัวว่ามีความเข้มแข็งเหนียวแน่น และต้องทำท่าทำทางว่าตนยังคงมีความสามารถที่จะชนะสงครามครั้งนี้ได้ –ถึงแม้ทุกๆ คนต่างทราบกันดีว่านาโต้ไม่ได้มีทั้งกำลังทหาร หรืออาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องกระสุนที่จะกระทำเช่นนั้นได้

นี่คือสถานการณ์อันสมบูรณ์แบบสำหรับการหมักบ่มทางการเมือง ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ส่งเสียงพูดจาเกี่ยวกับการส่งกำลังทหารภาคพื้นดินของนาโต้เข้าไปในยูเครน หรือการที่เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เสนอให้จัดส่งกองทหารภาคพื้นดินของนาโต้ไปที่ชายแดนติดต่อระหว่างยูเครนกับเบลารุส เพื่อบรรเทาภาระของกองทหารชายแดนฝ่ายยูเครนที่บริเวณนั้น ถึงแม้เรื่องเช่นนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของเพลิงสงครามขนาดใหญ่โหมฮือไปทั่วทั้งยุโรป

ช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไปจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แล้วเนื่องจากมันเป็นระยะเวลาของการรณรงค์หาเสียง (ในอเมริกา) จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะสามารถพบเห็นเจอะเจอคนที่มีสติคนที่มีสมองอันหนักแน่นแจ่มใส

ข้อเท็จจริงทางการเมืองประการหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือว่า ชาวเยอรมันคัดค้านการจัดส่งขีปนาวุธทอรัสไปประจำการที่ยูเครน ในระดับ 56% ต่อ 35% สำหรับที่เหลือนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจ การที่นายกรัฐมนตรีชอลต์ยังคงคัดค้านไม่ต้องการให้จัดส่งทอรัสไปยูเครน อาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งพวกผู้ออกเสียงชาวเยอรมันส่วนข้างมากเห็นพ้องต้องกันกับตัวเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น