เวลานี้คือช่วงเวลาแห่งเทศกาลน้ำในไทย สำหรับหลายคนแล้วนี่คือวันฉลองเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีของประเทศ ผู้คนจะออกมาใช้ปืนฉีดน้ำและขันสาดน้ำเข้าใส่กัน ในงานเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยความครึกครื้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคน แม้ในปีนี้จะมีความกังวลเกี่ยวกับอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม ตามรายงานของอินดิเพนเดนท์ สื่อมวลชนอังกฤษ
อินดิเพนเดนท์ ระบุว่า เทศกาลนี้ที่มีชื่อเรียกในไทยว่า "สงกรานต์" ครอบคลุมระยะเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ (13 เม.ย.) และไปจบลงในวันจันทร์ (15 เม.ย.) แต่อย่างไม่เป็นทางการนั้น การเล่นสงกรานต์ลากยาวไปตลอดทั้งสัปดาห์ เปิดทางให้ผู้คนเดินทางไปเฉลิมฉลองกับครอบครัว ขณะที่รายงานข่าวของอินดิเพนเดนท์ระบุว่า เทศกาลคล้ายกันนี้มีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน อย่าง พม่า กัมพูชา และลาว แต่มีชื่อเรียกต่างกันออกไป
สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ประมาณการว่าในปีนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่า 500,000 คน และก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 24,000 ล้านบาท อ้างอิงจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของรัฐ ในขณะที่อินดิเพนเดนท์ ระบุว่าด้วยเหตุนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงลังเลที่จะเรียกร้องให้ลดระดับความสนุกสนานลง แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อย่างเช่นภัยแล้งและโรคระบาดใหญ่
สื่อมวลชนอังกฤษแห่งนี้ระบุว่า สำหรับประเพณีดั้งเดิมนั้น เทศกาลสงกรานต์คือหนทางสำหรับขอพรให้มีฝนตก ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงพืชผลในช่วงฤดูร้อน และในนั้นรวมถึงกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นการทำความสะอาดเช็ดถูพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวผู้สูงวัย อย่างไรก็ตามช่วงเวลา 3 วันของสงกรานต์ในปัจจุบัน บ่อยครั้งเกี่ยวข้องกับการเมามายในที่สาธารณะ ฉวยโอกาสล่วงละเมิดทางเพศ และยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นในอุบัติเหตุบนท้องถนน จนได้รับฉายาว่า "7 วันอันตราย"
ปกติแล้วในช่วงเทศกาลนี้มักมีฝนตกลงมาในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี ครั้งที่อุณหภูมิพุ่งขึ้นเหนือระดับ 40 องศาเซลเซียส แต่ในปีนี้ คลื่นความร้อนผิดปกติ ท่ามกลางความคาดหมายว่าอุณหภูมิจะทุบสถิติต่อไปอีกหลายเดือน ได้ก่อความกังวลเป็นอย่างมาก ในขณะที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เตือนในวันพฤหัสบดี (11 เม.ย.) ว่าสภาพอากาศอันร้อนระอุอาจทำให้ชีวิตของเด็กๆ หลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นจึงเรียกร้องให้บรรดาผู้ปกครองครอบดูแลบุตรหลายเป็นพิเศษ ตามรายงานของอินดิเพนเดนท์
องค์กรยูนิเซฟระบุในถ้อยแถลงว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก "เด็กๆ ราว 243 ล้านคนอ่อนแอต่อคลื่นความร้อนที่ร้อนขึ้นและยาวนานกว่าเดิม ทำให้เด็กๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศร้อนจัดต่างๆ และแม้กระทั่งเสียชีวิต"
คลื่นความร้อนบางครั้งอาจทำให้เสียชีวิต เนื่องจากมันส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการหายใจ ซึ่งเด็กๆ และคนชราอ่อนแอต่อความเสี่ยงนี้มากที่สุด
เบนจามิน ฮอร์ทอน ผู้อำนวยการสถาบันสังเกตการณ์โลกแห่งสิงคโปร์ ซึ่งศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ อย่างเช่นโลกร้อน เผยว่ามี 3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคลื่นความร้อน ได้แก่ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งก็คืออุณหภูมิบางส่วนของแปซิฟิกอุ่นขึ้นชั่วคราว การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
ทั่วทั้งดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงเวียดนาม เช่นเดียวกับ พม่า ลาว ไทยและกัมพูชาต้องเผชิญอากาศร้อนจัด โดยบางพื้นที่ของลาวและไทยพบเห็นอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5-7 องศาเซลเซียส ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายนที่ผ่านมา อินดิเพนเดนท์อ้างอิงข้อมูลจากโครงการตรวจสอบเขื่อนแม่น้ำโขง (Mekong Dam Monitor) แห่งศูนย์สติมสัน ในวอชิงตัน ดี.ซี.
(ที่มา : อินดิเพนเดนท์)