เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซน วันอังคาร (9 เม.ย.) ออกมาโต้เสียงวิจารณ์โครงการ Funan Techo (Funan Techo canal) มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์นั้นจะเปิดทางให้เรือกองทัพจีนเข้าสู่แม่น้ำโขงแม่น้ำนานาชาติที่มีไทยอยู่ฝั่งตะวันตกได้โดยสะดวก กระทรวงคมนาคมกัมพูชาไม่ตอบคำถามผลกระทบสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขงที่จะเห็นคลองกัมพูชากลายเป็นเขื่อนทำน้ำในแม่น้ำไหลลงสู่ด้านล่างน้อยลงกระทบหนักสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานวันนี้ (9 เม.ย.) ว่าสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อนรักอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกแถลงการณ์โต้บนแพลตฟอร์มวันอังคาร (9) มีใจความว่า
“ทำไมกัมพูชาต้องเอาทหารจีนเข้ามาในประเทศของตัวเอง ที่มันจะเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ? และทำไมจีนต้องเอากองกำลังตัวเองเข้ามาที่กัมพูชาที่ซึ่งจะตรงกันข้ามกับหลักการของการเคารพอิสรภาพของกัมพูชาด้วยเล่า?”
และในการทวีตของสมเด็จฮุนเซน ในตอนท้ายยังอ้างว่าได้ทำตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 และ "ได้โปรดถามคณะกรรมการแม่น้ำโขงเพราะเราได้แจ้งต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงในข้อตกลงนี้แล้ว"
"เราขอเรียกร้องต่อพวกคุณไม่หมิ่นพวกเราเพื่อการต่อต้านจีนที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การเมืองเชิงภูมิศาสตร์โลก พวกเราคิดถึงผลประโยชน์ของชาติพวกเราเหมือนเช่นที่คุณ และไม่ได้หมายความว่าสมองของพวกคุณนั้นดีกว่าพวกเรา ช่างโชคดีที่พวกคุณเกิดในประเทศที่ร่ำรวยและพวกเราเกิดในประเทศที่ยากจน และเป็นเหตุผลทำไมที่พวกคุณดูหมิ่นต่อพวกเรา" รายงานจากการทวีตของสมเด็จฮุนเซน
สมเด็จฮุนเซนซึ่งเคยเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาเยี่ยมอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้าเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งในเวลานี้ไทยและกัมพูชากำลังมีปัญหาเขตแดนพิพาททางทะเลที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติโดยมีเกาะกูดเป็นเดิมพัน
เดอะดิพโพลแมทสื่อด้านการต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ไทยและกัมพูชากำลังตกอยู่ในความขัดแย้งข้อพิพาททางทะเลในพื้นทับซ้อน OCA (The Overlapping Claims Area) ร่วม 27,000 ตารางกิโลเมตร ประเมินว่าก๊าซธรรมชาติร่วม 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตซุกซ่อนอยู่
ซึ่งการกลับเข้าสู่อำนาจของพรรคเพื่อไทยของทักษิณ และลูกชายฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีเปิดทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาเปิดการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอีกครั้ง
กัมพูชาที่เปิดประเทศให้ปักกิ่งเข้ามาลงทุน อ้างอิงจากเรดิโอฟรี RFA เอเชียรายงานเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ต้นปีว่า เรือรบจีนเพิ่งเดินทางออกไปจากฐานทัพเรียมที่ฮุนเซนเคยปฏิเสธว่า ไม่ได้สร้างเพื่อให้จีนสามารถเข้ามาใช้ทางการทหาร โดย RFA รายงานเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ว่ามีเรือรบจีนเดินทางเข้ามาที่ฐานทัพเรือแห่งนี้เพื่อฝึกซ้อมรบ
เดอะดิพโพลแมทรายงานว่า มีข่าวลือที่เชื่อถือได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชามีการตกลงระดับสูงสุดแล้วเกี่ยวปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและจะบรรลุขั้นสุดท้ายก็ต่อเมื่อบุตรสาวทักษิณ 'แพทองธาร ชินวัตร' จะไปเยือนกัมพูชาภายในเดือนมีนาคม
สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า โปรเจกต์คลองกัมพูชา หรือโครงการ Funan Techo (Funan Techo canal) นั้นกลายเป็นปัญหาที่วิตกต่อ เวียดนาม ที่มีการวิเคราะห์ว่า โปรเจกต์อาจถูกใช้ใน 2 ด้านทั้งการทหารและการพลเรือน และยังอาจกระทบต่อการเพาะปลูกบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง โดยชี้ว่า
“โครงการ Funan Techo สามารถพัฒนาให้กลายเป็นท่าเรือน้ำลึกให้เรือรบทางการทหารที่จะสามารถเข้ามาจากทางอ่าวไทย หรือจากฐานทัพเรือเรียม และจะสามารถเดินทางลึกเข้าสู่ภายในกัมพูชาและเข้าถึงพรมแดน (กัมพูชา-เวียดนาม)” อ้างอิงจากงานวิจัยตีพิมพ์บนเว็บไซต์สถาบันการเมืองความมั่นสาธารณะของประชาชน (People’s Public Security Political Academy) เมื่อวันที่ 18 มี.ค.
เป็นผลงานของ Dinh Thien และ Thanh Minh นักวิจัยเวียดนาม 2 คนจากสถาบันการวิจัยพัฒนาตะวันออกภายใต้สมาพันธ์แห่งสหภาพเวียดนามเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Vietnam Union of Science and Technology Associations)
โครงการนี้เป็นที่น่าวิตกเพราะแม่น้ำโขงที่ถือเป็นพรมแดนทางธรรมชาติของไทยที่มีต่อลาวและกัมพูชา สื่อสิงคโปร์ชี้ว่า อ้างอิงจากเอกสารที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อสิงหาคมปี 2023 เปิดเผยว่า โครงการคลองกัมพูชาที่จะเชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงและอ่าวไทยจะอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนนานร่วม 50 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้ไม่เกินปี 2028
โครงการนี้ใช้เงินทุนจีนจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์ คลองมีความยาว 180 กม. เชื่อมท่าเรือแม่น้ำกัมพูชาไปยังชายฝั่งที่จังหวัดแกบ (Kep) ใกล้พรมแดนเวียดนาม คลองนี้จะสามารถทำให้กัมพูชาส่งสินค้าได้โดยที่ไม่ต้องผ่านท่าเวียดนาม
บริษัทจีนซึ่งเป็นผู้สร้าง บริหาร และเก็บเกี่ยวผลกำไรจะเป็นผู้ควบคุมคลองทางยุทธศาสตร์ยาว 180 กม. มีความลึกไม่ต่ำกว่า 4.7 เมตร และกว้าง 50 เมตร การก่อสร้างจะเริ่มในปี 2024 และจะเสร็จสิ้นภายในปี 2028
2 นักวิจัยเวียดนามชี้ถึงอันตรายของโครงการคลองกัมพูชาที่จะเปิดทางให้จีนนำกำลังทหารผ่านเข้าแม่น้ำโขงนี้จะเป็นอันตรายทางความมั่นคงของภูมิภาคได้ จากปัจจุบันฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาติดใกล้กับจังหวัดตราดนั้นถูกพัฒนาด้วยความช่วยเหลือจากปักกิ่งซึ่งมีปัญหาทางดินแดนพิพาททะเลจีนใต้กับเวียดนาม
“โครงการคลอง Funan Techo ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โครงการเศรษฐกิจเชิงสังคม (Social Economy) แต่ยังมีคุณค่าสูงทางการทหาร ที่ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างแรงทางด้านการป้องกันประเทศและสถานการณ์ความมั่นคงของทั้งภูมิภาค”
นอกจากนี้ จะมีคำเตือนจากนักวิจัยว่า โครงการคลองกัมพูชาจะสร้างปัญหาต่อการเกตรต่อสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม
สอดคล้องกับการรายงานของเอชียไทม์สรายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ล่าสุดระบุว่า
"แม่น้ำโขงไหลลงจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากจีนและลาวมาที่กัมพูชา และผ่านทางใต้ของเวียดนามลงสู่ทะเลจีนใต้" ซึ่งหากคลองขุดสำเร็จ "อาจส่งกระทบในทางลบต่อพื้นที่การประมงบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ระบบชลประทาน และระบบนิเวศวิทยา"
ไบรอีน ไอเลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธิงแท็งก์ที่มีฐานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ชี้ว่า โครงการ Funan Techo จะเป็นเสมือนฝายที่จะกั้นน้ำเข้าถึงพื้นที่สำคัญของสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง
“คลองจะทำหน้าที่เหมือนเขื่อน น้ำ (ในแม่น้ำโขง) ที่ตามปกติจะไหลลงสู่ด้านล่างนั้นจะชนกับคลองเข้าและจะเริ่มเคลื่อนมุ่งหน้าสู่มหาสมุทรในภายหลังด้วยแรงโน้มถ่วงและเนินลาดของพื้นที่ ซึ่งมันจะทำให้เกิดพื้นที่แห้งทางใต้ของคลองและพื้นเปียกกว่าทางเหนือของคลอง”
สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า กระทรวงงานสาธารณะและคมนาคมกัมพูชาปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากสเตรทไทม์สถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากโครงการคลอง Funan Techo