สงครามอิสราเอลถล่มล้างผลาญสุดโหดในฉนวนกาซาย่างเข้าสู่เดือนที่ 7 ในวันอาทิตย์ (7 เม.ย.) ขณะที่มีการฟื้นความพยายามเจรจาหยุดยิงขึ้นอีกครั้งที่กรุงไคโร เวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลรัฐยิวก็ถูกกดดันหนักทั้งจากนานาชาติสืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารที่ทำให้พลเรือนปาเลสไตน์ ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ล้มตายไปกว่า 3 หมื่นคน และจากภายในประเทศซึ่งมีประชาชนเรือนแสนชุมนุมในเทลอาวีฟและเมืองอื่นๆ เรียกร้องให้นายกฯ เนทันยาฮูลาออก และจัดการเลือกตั้งใหม่ทันที
การปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมถึงระดับหายนะ กำลังส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับพันธมิตรรายสำคัญๆ กระทั่งอเมริกา มีอันเสื่อมถอยลง ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางก็เดือดพล่านมากขึ้นอีก หลังจากอิหร่านที่เป็นพันธมิตรของฮามาสย้ำจะแก้แค้นที่สถานกงสุลของตนในเมืองหลวงซีเรียถูกโจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นฝีมือรัฐยิว
อิสราเอลยังถูกประณามจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากการโจมตีทางอากาศที่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ขององค์กรการกุศลซึ่งตั้งฐานอยู่ในอเมริกา อย่างเวิลด์ เซ็นทรัล คิตเชน เสียชีวิตไป 7 คน ในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครสัญชาติตะวันตก 6 คน เมื่อวันที่ 1 ที่ผ่านมา
เมื่อวันพฤหัสฯ (4 ) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ หารือทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เรียกร้องอิสราเอลเปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือเข้าสู่กาซาเพิ่มขึ้น รวมทั้ง “หยุดยิงทันที” พร้อมส่งสัญญาณว่า การสนับสนุนของอเมริกาจะอิงกับความพยายามของอิสราเอลในการหลีกเลี่ยงการสังหารพลเรือนและปรับปรุงเงื่อนไขด้านมนุษยธรรม
ด้านสหราชอาณาจักรที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอิสราเอลอีกรายหนึ่ง นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ก็ปรับท่าทีออกมาเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งในกาซา โดยกล่าวว่า แม้สหราชอาณาจักรยังคงสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการจัดการการคุกคามจากผู้ก่อการร้ายฮามาสและปกป้องความมั่นคงของชาติ แต่คนสหราชอาณาจักรทั่วประเทศต่างช็อกกับสงครามอันนองเลือดในกาซา
สงครามกาซาที่เข้าสู่เดือนที่ 7 เมื่อวันอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่จำนวนมากในดินแดนนี้เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ประชาชนติดกับดักวิกฤตมนุยธรรมท่ามกลางการปิดล้อมของอิสราเอล
ชาวปาเลสไตน์ในกาซาได้รับความช่วยเหลือประปรายจากการจัดส่งด้วยขบวนรถทางบกผ่านจุดผ่านแดนติดกับอียิปต์ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของกาซา การหย่อนความช่วยเหลือทางอากาศ และการจัดส่งทางทะเล 2 รอบ ซึ่งหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระบุว่า ความช่วยเหลือเหล่านั้นน้อยกว่าปริมาณที่จำเป็นมากมายนัก
ภายใต้การกดดันของอเมริกา อิสราเอลประกาศยินยอมให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือทางบกผ่านจุดผ่านแดนอีเรซ ทางด้านเหนือของกาซาเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ดี เวลานี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในกาซาอยู่ในสภาพไม่สามารถให้บริการได้ เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า อัล-ชีฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในกาซา ขณะนี้ส่วนใหญ่เหลือเพียงซากและกลายสภาพเป็นสุสาน
ในส่วนการเจรจาหยุดยิงที่เริ่มๆ หยุดๆ มาหลายครั้ง ภายหลังจากการหยุดยิงนานหนึ่งสัปดาห์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่มีการปล่อยตัวประกันอิสราเอลบางส่วนแลกกับนักโทษปาเลสไตน์นั้น ล่าสุดมีความพยายามฟื้นการเจรจาอีกครั้ง
สำนักข่าวอัล-กาเฮราของอียิปต์รายงานว่า บิลล์ เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และนายกรัฐมนตรีชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มาน บิน จัสซิม อัล-ทานี ของกาตาร์ บินไปไคโรเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่อียิปต์ รวมทั้งตัวแทนของอิสราเอลและฮามาสในวันอาทิตย์
ทว่า ฮามาสยังคงยืนยันข้อเรียกร้องหลักของตนที่จะให้มีการหยุดยิงอย่างกว้างขวางทั้งหมด และให้กองทัพอิสราเอลถอนออกจากกาซา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่อิสราเอลปฏิเสธก่อนหน้านี้
ที่ผ่านมา วอชิงตันโทษว่าการที่ฮามาสไม่ยอมปล่อยตัวประกันที่ป่วยหรือมีความเสี่ยงอื่นๆ เป็นต้นเหตุให้การเจรจาล้มเหลว แต่กาตาร์กลับมองว่า อุปสรรคหลักมาจากการที่อิสราเอลคัดค้านการอนุญาตให้ชาวกาซาที่ต้องพลัดบ้านจากสงครามได้กลับสู่ถิ่นพำนัก
ด้าน จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผยว่า ก่อนการเจรจา ไบเดนได้ส่งข้อความถึงผู้นำอียิปต์และกาตาร์เรียกร้องให้ขอคำมั่นจากฮามาสว่า จะเห็นพ้องและปฏิบัติตามข้อตกลง นอกจากนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังโทรศัพท์คุยกับเนทันยาฮู กำชับให้ผู้นำอิสราเอลให้อำนาจคณะเจรจาในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
ในอีกด้านหนึ่ง เนทันยาฮูกำลังถูกกดดันภายในประเทศจากครอบครัวตัวประกันและกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล
วันเสาร์ (6 เม.ย.) มีชาวอิสราเอลราว 100,000 คนชุมนุมในเทลอาวีฟและอีกหลายเมือง เรียกร้องให้เนทันยาฮูลาออกและจัดการเลือกตั้งทันที
(ที่มา : เอเอฟพี, เอเจนซีส์)