อินโดนีเซียสั่งซื่อเรือดำน้ำโจมตีชั้น "สกอร์ปีเน (Scorpene)" หรือ "สกอร์เปียน" จำนวน 2 ลำ จากกลุ่มบริษัทนาวาล กรุ๊ปของฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่ลงนามร่วมกับปารีส เมื่อปี 2021 จากการเปิดเผยของบริษัทในวันอังคาร (2 เม.ย.)
คำแถลงนี้มีขึ้น 2 สัปดาห์ หลังจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เลือกนาวาล กรุ๊ป สำหรับข้อตกลงเรือดำน้ำฉบับหนึ่ง มอบอีกหนึ่งแรงหนุนแก่บริษัทแห่งนี้ หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อน ถูกออสเตรเลียยกเลิกสัญญาสำคัญฉบับหนึ่งอย่างไม่ทันตั้งตัว
ท่ามกลางความตึงเครียดที่โหมกระพือหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทางอินโดนีเซียได้ลงนามในหลายข้อตกลงกับบรรดาบริษัทกลาโหมของฝรั่งเศสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับฝรั่งเศสในปี 2021 อินโดนีเซียยังสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ราฟาล 42 ลำ มูลค่ารวม 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สกอร์ปีเน เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ซึ่งมีศักยภาพบรรทุกตอร์ปิโดและขีปนาวุธ 18 ลูก จะถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ PT PAL ในอินโดนีเซีย จากการเปิดเผยของนาวาล กรุ๊ป และถ้อยแถลงระบุว่าภายใต้ข้อตกลง ทาง นาวาล กรุ๊ปจะถ่ายโอนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี ในขณะที่การบริหารจัดการ ปฏิบัติการและการบำรุงรักษาจะดำเนินการโดยบุคลากรของอินโดนีเซีย ในอินโดนีเซีย
นาวาล กรุ๊ป เปิดเผยว่าข้อตกลงนี้จะสร้างตำแหน่งงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในระนะยาวหลายพันอัตรา "นาวาล กรุ๊ป รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปฐมบทใหม่นี้ ในความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซียกับฝรั่งเศส" ปิแอร์ เอริค พอมเมลเลต์ ซีอีโอของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสกล่าว
"เรือดำน้ำจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่อำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตของประเทศ และสนับสนุนกองทัพเรืออินโดนีเซีย บรรลุเป้าหมายความเหนือกว่าในภูมิภาคในด้านทะเล" พอมเมลเลต์กล่าว และระบุต่อว่า "นอกเหนือจากเรือดำน้ำแล้ว ความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างเรากับ PT PAL ยังจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซีย ที่เตรียมการอย่างกระตือรือร้นสำหรับรับมือสงครามทางทะเลในอนาคตในประเทศแห่งนี้"
เรือดำน้ำสกอร์ปีเน ซึ่งบรรทุกลูกเรือได้ 31 คน สามารถดำลงไปลึกสุด 300 เมตร และดำอยู่ใต้นำได้เป็นเวลานานกว่า 12 วัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ทาง นาวาล กรุ๊ป ได้ขายเรือดำน้ำรุ่นนี้ 6 ลำแก่อินเดีย บราซิล 4 ลำ ชิลี 2 ลำและมาเลเซีย 2 ลำ
ถ้อยแถลงของนาวาล กรุ๊ป อ้างคำกล่าวของ คาฮารัดดิน เจโนด ประธานกรรมการบริหารของ PT PAL ระบุว่าข้อตกลงเรือดำน้ำ แสดงให้เห็นถึง "ความมุ่งมั่นอย่างสูงและความเชื่อมั่นของรัฐบาลอินโดนีเซียในศักยภาพของเหล่าวิศวกรท้องถิ่น ในด้านเทคโนโลยีป้องกันตนเองอันล้ำสมัย" เขากล่าว "ในอนาคต อินโดนีเซียคาดหมายว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำ"
ฝรั่งเศสกำลังหาทางยกระดับความเป็นพันธมิตรกับบรรดาคู่หูอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามหลังข้อตกลงเรือดำน้ำกับออสเตรเลียถูกขัดขวาง
ออสเตรเลียก่อความขุ่นเคืองแก่ฝรั่งเศส หลังฉีกข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำต่อสู้ชั้นบาร์ราคูดา จำนวน 12 ลำ จากนาวาล กรุ๊ป แล้วหันไปหาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรแทน
(ที่มา : เอเอฟพี)