xs
xsm
sm
md
lg

ห้าวจัด! น้องใหม่นาโตเห็นด้วยกับ ปธน.ฝรั่งเศส ส่งทหารตะวันตกเข้ายูเครนสู้รบกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ให้ความเห็นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสทำในสิ่งที่ถูกต้องในความพยายามธำรงไว้ซึ่ง "ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์" เพื่อให้รัสเซียยังคงอยู่ในความสับสนว่าตะวันตกร่วมจะประจำการทหารในยูเครนจริงหรือไม่

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สเมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) เอลีนา วัลโตเนน รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ สนับสนุนท่าทีของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เกี่ยวกับการประจำการทหารเพื่อค้ำยันยูเครนจากการรุกคืบของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าในความเป็นจริงแล้วยังไม่มีความจำเป็นต้องกดดันเร่งส่งทหารตะวันตกเข้าไปช่วยเคียฟ

"ตอนนี้ยังไม่ใช้เวลาส่งกำลังพลเข้าไปสมรภูมิ และในขั้นนี้ เราไม่แม้กระทั่งจะมีความตั้งใจพูดคุยหารือกัน อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าในระยะยาวเราไม่ควรตัดความเป็นไปได้ใดๆ" วัลโตเนนกล่าว

รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้กล่าวต่อว่าแนวทางคลุมเครือที่เสนอโดยปารีส เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากมันจะทำให้มอสโกสับสนต่อบริบทที่ตะวันตกให้การสนับสนุนยูเครน และต่อเจตนาที่แท้จริงของบรรดาชาติสมาชิกนาโต ว่าประสงค์เข้าสู่ความขัดแย้งกับรัสเซียจริงหรือไม่

"ทำไมเราต้องเปิดไพ่ทุกใบในมือของเราล่ะ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราไม่รู้ว่าสงครามนี้จะไปในทิศทางไหนและอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ฉันไม่รู้จริงๆ" เธอกล่าวอ้าง

ส่วน ลิทัวเนีย อีกชาติและชาติเล็กๆ ในพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ แสดงความเห็นคล้ายกัน โดยนายกรัฐมนตรี อิงกริดา ซิโมไนต์ กล่าวชื่นชมข้อเสนอของ มาครง ในความพยายามคงไว้ซึ่ง "ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์" กับรัสเซีย

"สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับถ้อยแถลง 2 ครั้งของประธานาธิบดีมาครงเมื่อเร็วๆ นี้ คือที่เขาบอกว่าทำไมเราต้องขีดเส้นตายตัวเอง ในเมื่อ ปูติน ก็ไม่ได้ขีดเส้นสำหรับตัวเองเช่นกัน" เธอกล่าว

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มาครง ก่อคลื่นความช็อกไปทั่วพันธมิตรนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ เน้นย้ำถ้อยแถลงชวนทะเลาะ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการส่งทหารเข้าไปยังยูเครนเพื่อสู้รบกับรัสเซีย ประธานาธิบดีรายนี้พุดถึงเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนก่อน โดยบอกว่า "เราไม่อาจตัดความเป็นไปได้ใดๆ" และ "ตะวันตกจะต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อขัดขวางรัสเซียจากการได้รับชัยชนะในสงคราม"

คำพูดของมาครง กระตุ้นให้บรรดารัฐสมาชิกนาโตส่วนใหญ่รุดออกมาปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว เช่นเดียวกับ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่ของทางกลุ่มเอง ที่ออกมาปฏิเสธแนวคิดนี้ ไม่นานหลังจาก มาครง เผยแพร่ถ้อยแถลงในครั้งแรก ขณะที่บรรดาผู้นำตะวันตกทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ปฏิเสธเช่นกัน โดยระบุว่าแผนการลักษณะนี้ไม่มีอยู่จริง

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น