คนต่างด้าวและคนเร่ร่อนอย่างน้อย 500 คน ถูกเคลื่อนย้ายออกจากเมืองหลวง ไปยังพื้นที่ห่างไกลแะเมืองเล็กๆในฝรั่งเศส ในขณะที่กรุงปารีสกำลังเร่งมือเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ในเดือนกรกฏาคมและสิงหาคมที่จะถึงนี้ ความเคลื่อนไหวที่พวกนักกิจกรรมด้านมนุษยธรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางส่วน มองว่าเป็นเพียงความพยายามปิดซ่อนปัญหาคนเร่ร่อนก่อนถึงโอลิมปิกเกมส์เท่านั้น
พวกนายกเทศมนตรีท้องถิ่นในบางแคว้น แสดงความกังวลต่อการย้ายเข้ามาใหม่ของพวกคนเร่ร่อนในพื้นที่ของพวกเขา ในนั้นรวมถึง Serge Grouard นายกเทศมนตรีเมืองออร์ลีนส์ ทางตอนกลางของฝรั่งเศส ซึ่งมีประชากรราวๆ 100,000 คน ที่ยืนยันในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันจันทร์(25มี.ค.) ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวลือว่าความเคลื่อนไหวนี้มีเป้าหมาย "ปัดกวาดเช็ดถูเมืองหลวง" ก่อนถึงกีฬาโอลิมปิก
Grouard บอกว่าคนต่างด้าวไร้ที่อยู่อาศัยสูงสุด 500 คน ถูกส่งเข้ามาในเมืองของเขา โดยที่เขาไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้ามาก่อนเลย "ผมไม่แน่ใจ แต่ความบังเอิญเช่นนี้มันน่ากระวนกระวายใจอย่างยิ่ง" เขากล่าว พร้อมเผยว่าคนเร่ร่อนรายใหม่ได้รับข้อเสนอให้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยที่ภาครัฐเป็นคนจ่ายชดเชยให้ แต่หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกทิ้งไว้ให้ต้องพึ่งพาตนเอง
ทาง Floriane Varieras นายกเทศมนตรีเมืองสตาร์บูร์ก บอกกับเอเอฟพีว่า เมืองของเธอก็กำลังเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน โดยเรียกมันว่าเป็นสถานการณ์คลุมเครือไม่โปร่งใส
บรรดานักเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรมบางส่วน ก็เชื่อมโยงความเคลื่อนไหวดังกล่าวกับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังมาถึงเช่นกัน โดยอ้างว่ารัฐบาลได้เริ่มยุทธการทำให้เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่าเดิม "ถ้าความคิดนี้เป็นแค่การปกปิดความทุกข์ยากและปัญหาคนไร้บ้าน เพื่อเคลียร์อากาศบริสุทธิ์ก่อนหน้าโอลิมปิก เมื่อครั้งมันก็คงไม่ได้ผลอย่างแท้จริงในระดับของมนุษยธรรม" Paul Alauzy จากกลุ่มเอ็นจีโอ Medecins du Mond ให้สัมภาษร์กับยูโรนิวส์
สำนักงานความมั่นคงระดับภูมิภาคของรัฐบาล เมื่อวันอังคาร(26มี.ค.) ระบุว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเมื่อเร็วๆนี้ เป็นผลจากสถานการณ์ ณ ศูนย์พักพิงฉุกเฉินมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และอ้างว่ามาตรการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใดๆกับกีฬาโอลิมปิก
ฝรั่งเศส ได้รับคำร้องขอลี้ภัย 167,000 รายในปี 2023 สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอียู โดยที่คนต่างด้าวส่วนใหญ่มาจากแอฟริกา เอเชียใต้และตะวันออกกลาง
ด้วยความต้องการที่พักฉุกเฉินในระยะสั้นมากกว่าอุปทานมากมายหลายเท่า ดังนั้นจึงพบเห็นค่ายพักพิ่งชั่วคราวผุดขึ้นทั่วเมืองหลวงแทบเป็นปกติ และบ่อยครั้งที่มันถูกจู่โจมและเข้ารื้อถอนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทั้งนี้ ฝรั่งเศส ไม่ใช่เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกชาติแรก ที่เลือกใช้มาตรการลักษณะนี้ โดยเมื่อปี 2008 กีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ พบเห็นขอทานและคนเร่ร่อนหลายร้อยคนถูกเคลื่อนย้ายออกจากท้องถนน จำนวนมากถูกส่งตัวกับภูมิภาคบ้านเกิดเมืองนอน ขณะที่คนเร่ร่อนในรีโอเดจาเนโร ถูกบีบบังคับให้ออกจากพื้นที่ท้องเที่ยว ครั้งที่บราซิล เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2016
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)