xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ช็อกโลก! ‘ไอเอส’ กราดยิงคอนเสิร์ต ‘รัสเซีย’ ตาย 139 ศพ ทำเนียบเครมลินโบ้ย ‘ยูเครน-ตะวันตก’ มีเอี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุการณ์ที่กลุ่มมือปืนอิสลามิสต์บุกกราดยิงคอนเสิร์ตวงร็อคที่ชานกรุงมอสโกจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 139 คนเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ขณะที่มอสโกออกมากล่าวหายูเครนและชาติตะวันตกว่ามีส่วนพัวพันกับปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดที่รัสเซียเผชิญในรอบ 20 ปี

ในการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับรัสเซียนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่พวกอิสลามิสต์จับครูและนักเรียนกว่า 1,000 คนเป็นตัวประกันที่โรงเรียนเบสลัน (Beslan School) เมื่อปี 2004 กลุ่มมือปืนได้สาดกระสุนเข้าใส่ประชาชนที่เข้าชมคอนเสิร์ตวง “ปิกนิก” ซึ่งเป็นวงร็อกยุคสหภาพโซเวียต ภายใน “โครคัส ซิตี ฮอลล์” (Crocus City Hall) ซึ่งเป็นฮอลล์คอนเสิร์ตทางตะวันตกของกรุงมอสโกที่จุผู้เข้าชมได้ถึง 6,200 คน

พนักงานสอบสวนรัสเซียระบุว่า หลังจากที่ใช้ปืนคาลาชนิคอฟ AK-47 กราดยิงเข้าใส่ผู้ชมคอนเสิร์ตแล้ว กลุ่มคนร้ายได้ราดน้ำมันจุดไฟเผาอาคาร และยังขับรถพุ่งชนครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ 2 คนขณะที่หลบหนีออกจากลานจอดรถ

สำนักข่าวอามัก (Amaq) ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้แถลงยืนยันผ่านเทเลแกรมว่า นักรบไอเอสอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีคอนเสิร์ตที่ชานกรุงมอสโก โดยได้ “สังหารและทำให้ผู้คนบาดเจ็บไปหลายร้อยคน รวมถึงสร้างความเสียหายรุนแรงต่อสถานที่ ก่อนจะถอนกำลังกลับสู่ที่ตั้งอย่างปลอดภัย”

นอกจากผู้เสียชีวิต 139 คนแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัสเซียยังอัปเดตตัวเลขผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็นอย่างน้อย 182 คน โดย 101 คนยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และมีอย่างน้อย 40 คนที่อาการอยู่ในขั้น “วิกฤต”

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังถือว่าเป็นเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในยุโรปที่ไอเอสประกาศอ้างความรับผิดชอบ

ทางการรัสเซียได้จับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 11 คน ในจำนวนนี้รวมถึงกลุ่มชายฉกรรจ์ 4 คนที่เชื่อว่าเป็นมือยิง ได้แก่ มูฮัมมัดโซบีร์ ฟายซอฟ (Muhammadsobir Fayzov), ชัมซิดิน ฟาริดูนี (Shamsidin Fariduni) ไซดาครามี มูโรดาลี ราชาบาลิโซดา (Saidakrami Murodali Rachabalizoda) และดาเลอร์จอน บาโรโตวิช มิร์โซเยฟ (Dalerdzhon Barotovich Mirzoyev) โดยทั้งหมดเป็นพลเรือนทาจิกิสถาน และ 2 คนในนั้นยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา

ชายทั้ง 4 คนถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ซึ่งมีโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

ต่อมารัสเซียได้ควบคุมตัวชายเชื้อสายคีร์กีซสถานอีก 1 คนที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิง และยังได้ส่งพนักงานสอบสวนไปยังทาจิกิสถานเพื่อสอบปากคำครอบครัวของมือปืน 4 คนที่ถูกจับก่อนหน้าด้วย

ระหว่างการพิจารณาคดีในช่วงกลางดึกซึ่งลากยาวจนถึงเช้าวันจันทร์ที่ 25 มี.ค. ผู้ต้องสงสัย 4 คนถูกลากตัวเข้าสู่ศาลแขวงบาสมานนีในกรุงมอสโกในสภาพที่เต็มไปด้วยบาดแผลและใบหน้าบวมเป่ง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า พวกเขาถูก "ทรมาน" ให้ยอมรับสารภาพหรือไม่

ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวและคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นถึงการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยที่ถึงขึ้นเลือดตกยางออก ขณะที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนรัสเซียออกมาย้ำเตือนว่า การควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องสงสัยควรยึดหลักกฎหมาย หลังปรากฏคลิปวิดีโอที่ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกตัดใบหูขาดไปบางส่วน

"มันเป็นเรื่องรับไม่ได้เลยที่จะใช้การทรมานกับผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ตกเป็นจำเลย" ทัตยานา มอสกัลโควา กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับ TASS

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศต่อชาวรัสเซียทั้งประเทศในวันเสาร์ (23) ว่าจะนำตัวผู้ก่อเหตุทั้งหมดมาลงโทษให้จงได้ และต่อมาในวันจันทร์ (25) ปูติน ก็ได้เอ่ยยอมรับเป็นครั้งแรกว่า กลุ่มคนร้ายที่ลงมือกราดยิงคอนเสิร์ตนั้นเป็นพวก "อิสลามิสต์สุดโต่ง"

อย่างไรก็ดี ผู้นำรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า การที่คนร้ายกลุ่มนี้พยายามหลบหนีเข้าไปในยูเครนหลังก่อเหตุเป็นเรื่องที่น่าสงสัย และยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่า พวกอิสลามิสต์จะเลือกลงมือโจมตีรัสเซียในเวลานี้ด้วยเหตุผลใด --- หากไม่มีมือที่สามยุยง

"เราทราบว่าอาชญากรรมครั้งนี้เป็นฝีมือพวกอิสลามิสต์สุดโต่งที่ยึดถือค่านิยมซึ่งโลกมุสลิมพยายามต่อต้านมานานหลายศตวรรษ" ปูติน กล่าว "แต่เราอยากทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการ"

Islamic State Khorasan หรือ ISIS-K ซึ่งเป็นเครือข่ายไอเอสในอัฟกานิสถาน ได้ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีคอนเสิร์ตในมอสโก โดยเครือข่าย IS กลุ่มนี้มีเป้าหมายสถาปนารัฐคอลีฟะห์ที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามขึ้นในพื้นที่แถบอัฟกานิสถาน ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และอิหร่าน และมีการปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคคาลูกา (Kaluga) ของรัสเซียด้วย

ปมขัดแย้งสำคัญระหว่างไอเอสกับรัสเซียนั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ ปูติน ได้ทำให้สงครามกลางเมืองในซีเรียเปลี่ยนทิศทางด้วยการเข้าแทรกแซงในปี 2015 โดยช่วยหนุนหลังรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ต่อสู้กับพวกฝ่ายค้านรวมถึงกลุ่มไอเอสด้วย

คอลิน คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ Soufan Center ระบุว่า “ISIS-K จ้องหาโอกาสโจมตีรัสเซียมาตลอด 2 ปี และสื่อโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาก็มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ปูติน ด้วยเสมอ”

กลุ่มควันจากเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารโครคัสซิตีฮอลล์ ชานกรุงมอสโก หลังเกิดเหตุคนร้ายบุกกราดยิงประชาชนและวางเพลิงเผาอาคาร เมื่อวันที่ 22 มี.ค.
แม้ว่าไอเอสจะประกาศอ้างผลงาน ทว่า อเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงกลางของรัสเซียหรือ FSB ซึ่งรับสืบทอดภารกิจด้านข่าวกรองมาจากหน่วยสายลับ KGB ในยุคสหภาพโซเวียต กลับออกมากล่าวในวันอังคาร (26) ว่าตนเชื่อแน่ว่ายูเครน รวมถึงสหรัฐฯ และอังกฤษ น่าจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับเหตุกราดยิงครั้งนี้

"เราเชื่อว่าการกระทำนี้ถูกเตรียมการทั้งจากพวกอิสลามิสต์สุดโต่งเอง และก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสืบราชการลับของชาติตะวันตกด้วย" บอร์ตนิคอฟ แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์

ผอ. FSB ยังอ้างต่อไปอีกว่า "หน่วยสืบราชการลับยูเครนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้โดยตรง" ด้วยการตระเตรียมแผนร่วมกับกลุ่มอิสลามิสต์ในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่ระบุชี้ชัดว่าเป็นประเทศไหน

บอร์ตริคอฟ วัย 72 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ FSB มาตั้งแต่ปี 2018 ยอมรับว่ารัสเซียยังไม่ได้ตัดสินฟันธงว่าใครเป็นผู้สั่งการโจมตีครั้งเลวร้ายบนแผ่นดินหมีขาวในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ยืนยันว่ามอสโกจะมีมาตรการแก้แค้นอย่างแน่นอน

นับตั้งแต่ประธานาธิบดี ปูติน ส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 ทำเนียบเครมลินก็ออกมาตราหน้าชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และอังกฤษ ว่าเป็นฝ่ายศัตรูที่ให้การสนับสนุนเคียฟ และถือว่าชาติเหล่านี้มีส่วนร่วมในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย

มอสโกยังออกมาย้ำหลายครั้งว่าเหตุวินาศกรรมท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมในทะเลบอลติกในเดือน ก.ย. ปี 2022 เป็นฝีมือของสหรัฐฯ และอังกฤษ ทว่าทั้ง 2 ประเทศยืนกรานปฏิเสธ

สำนักข่าว SHOT ของรัสเซียมีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ นิโคไล พาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุโจมตีคอนเสิร์ตครั้งนี้น่าจะเป็นฝีมือ ISIS หรือยูเครนกันแน่? พาทรูเชฟ ก็ตอบชัดเจนว่า "ยูเครนแน่นอน" แถมยังอ้างถึง "ข้อบ่งชี้หลายอย่าง" ที่พุ่งเป้าไปยังยูเครนด้วย

ยูเครนยืนกรานปฏิเสธความเชื่อมโยงกับเหตุกราดยิงในรัสเซีย และชี้ว่ามอสโกกำลังพยายามกุเรื่องเพื่อโยนความผิดให้เคียฟ

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดการแถลงข่าวภายหลังเกิดเหตุกราดยิงคอนเสิร์ตที่โครคัสซิตีฮอลล์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.
นอกจากคำถามว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ลงมือกันแน่แล้ว การที่กลุ่มคนร้ายสามารถก่อเหตุอย่างอุกอาจใกล้ศูนย์กลางการปกครองของรัสเซียก็ยังทำให้ทั่วโลกเกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านงานข่าวกรองของมอสโกด้วย

เหตุกราดยิง โครคัส ซิตี ฮอลล์ ซึ่งอยู่ห่างจากทำเนียบเครมลินไปเพียง 20 กิโลเมตร เกิดขึ้นเพียงราวๆ 2 สัปดาห์หลังจากที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมอสโกได้ออกคำเตือนว่าจะมีเหตุโจมตีเกิดขึ้น และขอให้ชาวอเมริกันรีบเดินทางออกจากรัสเซีย หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่อเมริกัน 2 รายยืนยันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (22) ว่า สหรัฐฯ ได้รับข่าวกรองที่ยืนยันว่า ISIS อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีรัสเซียจริง ขณะที่ เอเดรียนน์ วัตสัน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ก็เผยว่าวอชิงตันแบ่งปันข่าวกรองให้ฝ่ายรัสเซียทราบตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. ว่าพวกหัวสุดโต่งกำลังวางแผนก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่ในกรุงมอสโก

บอร์ตนิคอฟ ออกมาตอบโต้ข้อมูลจากฝ่ายสหรัฐฯ โดยระบุว่ามอสโกไม่เคยได้รับข้อมูลที่มีหลักฐานหนักแน่นน่าเชื่อถือจากอเมริกาแต่อย่างใด

การที่รัสเซียสามารถกวาดล้างและจับกุมบรรดาศัตรูทางการเมืองของ ปูติน ได้อย่างเด็ดขาด แต่กลับไม่สามารถป้องกันเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นใกล้ๆ เมืองหลวง ทำให้หลายฝ่ายอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าหน่วยข่าวกรอง FSB ทำงานหละหลวมผิดพลาดถึงขั้นนี้ได้อย่างไร?

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การได้รับมอบหมายภารกิจให้เฝ้าระวังกลุ่มสนับสนุนยูเครนที่จ้องก่อเหตุบ่อนทำลายในรัสเซีย และยังต้องเฝ้าติดตามกิจกรรมของพวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านเครมลิน รวมถึงสกัดกั้นปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองตะวันตก ทำให้หน่วยงานความมั่นคงกลาง FSB เรียกได้ว่ามี “งานล้นมือ” อยู่แล้ว และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมภัยคุกคามในด้านอื่นๆ จึงถูกละเลยไป

“คุณทำทุกอย่างไม่ไหวหรอก” แดเนียล ฮอฟฟ์แมน อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาวุโสของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งดูแลฝ่ายงานเกี่ยวกับมอสโก ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

“เมื่อคุณไปกดดันคนท้องถิ่นมากๆ เข้า บางครั้งอาจทำให้ไม่ได้รับข่าวกรองที่สำคัญเกี่ยวกับแผนก่อการร้าย นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาพลาดพลั้ง”

เมื่อถูกตั้งคำถามในวันจันทร์ (25) ว่าเหตุโจมตีคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดพลาดในด้านข่าวกรองหรือไม่ ทำเนียบเครมลินก็ให้คำตอบว่า การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกทำให้การแชร์ข่าวกรองไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะที่ควรจะเป็น

“เป็นความโชคร้ายที่โลกได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีเมืองใดหรือประเทศใดที่จะปลอดภัยจากภัยคุกคามก่อการร้ายได้อย่างสมบูรณ์” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าว พร้อมยืนยันว่าหน่วยข่าวกรองรัสเซียยังคงทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อป้องกันความปลอดภัยของแดนหมีขาว

ชายชาวทาจิกิสถาน 4 รายซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุกราดยิงโครคัสซิตีฮอลล์ ได้แก่ มูฮัมมัดโซบีร์ ฟายซอฟ (Muhammadsobir Fayzov), ชัมซิดิน ฟาริดูนี (Shamsidin Fariduni) ไซดาครามี มูโรดาลี ราชาบาลิโซดา (Saidakrami Murodali Rachabalizoda) และดาเลอร์จอน บาโรโตวิช มิร์โซเยฟ (Dalerdzhon Barotovich Mirzoyev)

ชาวรัสเซียนำช่อดอกไม้ไปวางแสดงการไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่โครคัสซิตีฮอลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น