เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่น ออกคำเตือนเกี่ยวกับหลังพบจำนวนคนติดเชื้อแบคทีเรียอันตราย "สเตรปโตคอคคัส" ที่ก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating-disease) ในกรุงโตเกียว เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 3 เท่า
ทั่วประเทศ มีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ส่งผลกระทบต่อลำคอ ต่อมทอนซิล และอาจส่งผลต่อกล่องเสียง (หลอดเสียง) เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากช่วง 5 ปีหลังสุด จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา
จนถึงวันที่ 10 มีนาคม ญี่ปุ่นพบผู้มีอาการจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (STSS) ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตสูงสุดถึง 30% แล้ว 747 ราย ขณะที่โรคนี้เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะภายในล้มเหลว
ฮิโตชิ ฮอนดะ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยสาธารณสุขฟูจิตะ กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคระบบทางเดินหายใจ เหมือนกับโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโควิด-19 ดังนั้นมันจึงไม่น่าจะนำไปสู่สถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่ "มันเป็นการติดเชื้อผ่านละอองฝอย" ฮอนดะกล่าว "การล้างมือให้สะอาดจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับปกป้องการรุกรานของเชื้อสเตรปโตคอคคัส
รายงานข่าวเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทีมฟุตบอลทีมชาติเกาหลีเหนือ ตัดสินใจไม่ลงทำการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับญี่ปุ่น อย่างกะทันหัน เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เมื่อวันที่อาทิตย์ที่แล้ว(24มี.ค.) กรุงโตเกียวประกาศแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวัง พร้อมแนะวิธีป้องกันการติดเชื้อ และสังเกตอาการที่เข้าข่าย
ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้นั้น โรคแบคทีเรียกินเนื้อสามารถเกิดได้ในทุกเพศและวัย แต่จากสถิติช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในญี่ปุ่นพบว่าในแต่ละปีผู้ป่วย 90% จะเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และในปี 2023 ที่ผ่านมาพบการติดเชื้อในกลุ่มอายุ 40-50 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เจ้าหน้าที่แนะนำให้ประชาชนไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการป่วย เช่น ปวดและบวมที่แขนขา หรือมีไข้สูง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การติดเชื้อ พร้อมกับรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และดูแลบาดแผลให้ดี
(ที่มา:ซีเอ็นเอ/เอเจนซี)