(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Trump invites Chinese to build US auto plants
By DAVID P. GOLDMAN
20/03/2024
สัญญาณของความเป็นไปได้ที่วอชิงตันกับปักกิ่งจะกลับมามีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน เมื่อตัวเก็งเป็นผู้สมัครชิงทำเนียบขาวของรีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ยื่นข้อเสนอต่อจีนซึ่งมีเนื้อหาอย่างเดียวกันกับดีลที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ยื่นให้แก่ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980
ข้อเขียนชิ้นนี้ ถือเป็นบทเกริ่นนำของรายงาน Global Risk-Reward Monitor ของเอเชียไทมส์ประจำสัปดาห์
โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯปลายปีนี้ของพรรครีพับลิกัน พูดระหว่างกล่าวปราศรัยหาเสียงเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เชื้อเชิญพวกผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนให้มาสร้างโรงงานในสหรัฐฯ เป็นการเสนอดีลให้แก่จีนซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกันกับที่ โรนัลด์ เรแกน (ประธานาธิบดีของสหรัฐฯในตอนนั้น) ได้เคยยื่นให้แก่ญี่ปุ่นเมื่อช่วงทศวรรษ 1980
อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศก้องว่าจะบังคับเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น 100% รวดจากประดารถยนต์จีนนำเข้า ทั้งพวกที่นำเข้าโดยตรงมาจากแผ่นดินใหญ่ และพวกที่ผ่านคนกลางอย่างเช่นเม็กซิโก แต่เขากล่าวต่อไปว่า “ถ้าพวกเขาต้องการที่จะสร้างโรงงานขึ้นในมิชิแกน ในโอไฮโอ ในเซาท์แคโรไลนา พวกเขาก็สามารถทำได้ ใช้คนงานชาวอเมริกัน พวกเขาก็สามารถทำได้ พวกเขาไม่สามารถส่งคนงานจีนมาทำงานที่นี่นะ นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาบางทีก็ทำอยู่ แต่ถ้าพวกเขาต้องการทำอย่างที่ผมว่ามานี้ เราก็ยินดีต้อนรับ ใช่ไหม?”
ทรัมป์ยังพูดฝากไปถึงผู้นำจีน สี จิ้นผิง โดยบอกว่า “คุณกับผมเป็นเพื่อนกัน”
ข้อเสนอที่ทรัมป์ยื่นแก่จีนนี้ ไม่ได้รับการรายงานเลยในทางเป็นจริง ในสื่อทุกๆ สื่อไม่ว่าเจ้าไหน พวกสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯนั้นพากันโจมตีอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ที่ใช้คำว่า “เลือดอาบ” (bloodbath) ในเวลาบรรยายถึงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นจากรถยนต์จีนนำเข้า ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน เป็นการบ่งชี้อย่างอ้อมๆ ว่าเขาได้ข่มขู่คุกคามว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอย่างแน่แท้ ถ้าหากเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง
แต่เมื่อพิจารณาจากสำเนาถอดเสียงคำปราศรัยของเขา ณ การรณรงค์หาเสียงที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ มันก็เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า เขากำลังหมายความถึงอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันจะต้องลำบากเดือดร้อนถึงขึ้นเลือดอาบ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rev.com/blog/transcripts/donald-trump-speaks-at-rally-in-ohio)
ทรัมป์บอกกับผู้คนที่มาฟังการปราศรัยของเขาในเมืองเดย์ตัน ดังนี้:
ผมขออนุญาตพวกคุณฝากบอกอะไรไปถึงจีนหน่อย ถ้าคุณกำลังฟังอยู่นะ ท่านประธานาธิบดีสี คุณกับผมเป็นเพื่อนกัน แต่เขาเข้าใจดีถึงวิธีการที่ผมจัดการกับปัญหา เจ้าพวกโรงงานทำรถยนต์ปีศาจใหญ่โตมโหฬารพวกนั้นที่คุณกำลังสร้างขึ้นมาในเม็กซิโกอยู่ตอนนี้ แล้วคุณก็คิดว่าคุณกำลังจะได้สิ่งที่ต้องการแล้ว คุณจะไม่จ้างงานคนอเมริกัน แต่คุณกำลังจะขายรถยนต์นั่นให้แก่พวกเรา คราวนี้ เราจะขึ้นภาษีศุลกากร 100% รวดกับรถทุกๆ คันที่ข้ามเส้นแดนเข้ามา คุณจะไม่สามารถขายรถพวกนั้นได้หรอก ถ้าผมได้รับเลือกตั้ง ... แล้วผมจะบอกกับพวกเขาว่า ถ้าพวกเขาต้องการที่จะสร้างโรงงานขึ้นในมิชิแกน ในโอไฮโอ ในเซาท์แคโรไลนา พวกเขาก็สามารถทำได้ ใช้คนงานชาวอเมริกัน พวกเขาก็สามารถทำได้ พวกเขาไม่สามารถส่งคนงานจีนมาทำงานที่นี่นะ นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาบางทีก็ทำอยู่ แต่ถ้าพวกเขาต้องการทำอย่างที่ผมว่ามานี้ เราก็ยินดีต้อนรับ ใช่ไหม? แต่พวกเขาจะต้องไม่ไปทำรถในเม็กซิโก พวกเขาจะต้องไม่ทำอย่างนั้น
การใช้ระบบอัตโนมัติในทางอุตสาหกรรมกำลังเร่งตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในประเทศจีน แต่กลับกำลังล้าหลังถูกทิ้งห่างในสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของ จาง เว่ยเว่ย (Zhang Weiwei) อาจารย์มหาวิทยาลัยฟูตั้น (Fudan University) นครเซี่ยงไฮ้ จีนมีการประยุกต์ใช้ 5จี กับอินเทอร์เน็ตทางอุตสาหกรรมไปเรียบร้อยแล้ว 10,000 ราย เปรียบเทียบกับที่มีไม่ถึง 10 รายในสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามการนับอย่างไม่เป็นทางการของตัวผมเอง
(ดูเพิ่มเติมการเปิดเผยของ จาง เว่ยเว่ย ได้ที่ https://www.guancha.cn/ZhangWeiWei/2024_03_17_728665_s.shtml)
จีนเวลานี้มีการติดตั้งใช้งานหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมากกว่าที่ติดตั้งอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกัน และก็มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาเป็นวิศวกรมากกว่าในส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกันเช่นเดียวกัน ในปี 2023 จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรถซับคอมแพคต์ BYD Seagull ที่ได้รับคำชมมากจากพวกนักรีวิวรถ มีราคาต่ำเพียงแค่คันละ 9,700 ดอลลาร์ – ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับรถยนต์ ฟอร์ด โมเดล ที (Ford Model T) ของปี 1908 ในเรื่องของราคาที่อยู่ในระดับซึ่งผู้คนจำนวนมากสามารถซื้อหาได้ และในเรื่องของการมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนจำนวนมาก – ทั้งนี้ BYD Seagull กำลังสร้างตลาดใหม่ๆ ให้แก่วงการรถยนต์ในอาณาบริเวณซีกโลกใต้ (Global South)
เวลาเดียวกันนั้น จีนยังกำลังเพิ่มขยายฐานะความเป็นผู้นำของตนในด้านการสื่อสารไร้สาย บรอดแบนด์ 5จี (อาจารย์)จาง รายงานเอาไว้ว่าจีนเวลานี้มีสถานีฐาน 5จี จำนวน 3.37 ล้านสถานี จากตลอดทั่วโลกที่มีรวมทั้งสิ้น 4 ล้านสถานี – นั่นคือประมาณ 85% ของศักยภาพที่มีการติดตั้งแล้วของโลก
สหรัฐฯอาจจะไม่มีทางไล่ตามทันจีน ซึ่งสามารถผสมผสานเข้าด้วยกันทั้งด้วยการมีบุคลากรที่มีทักษะ, โครงสร้างพื้นฐาน, และความได้เปรียบเนื่องจากการประหยัดอันเกิดจากขนาดอันใหญ่โตมโหฬาร มันจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะปล่อยให้พวกบริษัทจีนนำเอาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมเข้ามายังสหรัฐฯ แทนที่สหรัฐฯจะพยายามไล่ตามสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว นี่คือหนทางที่จะประสบแรงต้านน้อยที่สุด และก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทรัมป์เพิ่งเปิดขึ้นมา
วิธีการของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการรับมือกับจีนนั้น ไม่เคยเป็นวิธีการที่คละคลุ้งไปด้วยอุดมการณ์ ระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2023 ทรัมป์พูดเป็นนัยๆ ถึงความเป็นไปได้ของการทำดีลกับประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรายนี้ ในลักษณะเปิดประตูทิ้งเอาไว้สำหรับการเจรจาต่อรองกันต่อไปในอนาคต เมื่อถูกผู้สัมภาษณ์ คือ จอห์น โซโลมอน (John Solomon นักหนังสือพิมพ์ผู้มีความสนิทสนมกับทรัมป์) ถามถึงยุทธศาสตร์สำหรับการหย่าร้างแยกขาด (decoupling) จากจีน คำตอบของทรัมป์ก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนแบบมุ่งผลในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ ดังนี้:
“อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการหย่าร้างแยกขาดจากกันเป็นบางส่วน –เราจะต้องติดตามดูกันต่อไป มันอาจจะออกมาดีมากกลายเป็นเรื่องที่ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับคะแนนนิยมมากในทางการเมืองนะ—“เรากำลังจะหย่าร้างแยกขาด (จากจีน)!” --แต่ผมคิดว่าผมนะมีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ เลยกับจีน”
อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องการหย่าร้างแยกขาดจากจีน ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะบรรลุถึงได้ง่ายๆ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐฯเวลานี้นำเข้าสินค้าทุนมากกว่าที่พวกเขาสามารถผลิตสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้เองภายในประเทศด้วยแล้ว ความพยายามใดๆ ที่จะหย่าร้างแยกขาด ก็จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ จึงจะช่วยทำให้การผลิตทางอุตสาหกรรมภายในประเทศสูงขึ้นมาได้ ตัวทรัมป์เองทราบดีว่าการประกาศเดินหน้าหย่าร้างแยกขาดจากจีนนั้นมีความเย้ายวนใจทางการเมืองขนาดไหน ทว่าขณะเดียวกันนั้น เรื่องนี้ก็มีความไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจนอยู่ด้วย
วิธีการที่ทรัมป์ใช้ในการรับมือกับจีนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความตระหนักถึงความหนักเบาของแต่ละเรื่องราว เมื่อตอนที่ แซดทีอี ผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอมรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นที่สหรัฐฯประกาศใช้กับอิหร่านในปี 2018 ทรัมป์ได้เข้าแทรกแซงเพื่อรักษาบริษัทนี้เอาไว้ให้ไม่ต้องถึงขั้นล้มครืน ด้วยการเปิดทางให้แซดทีอีสามารถจ่ายค่าปรับจำนวนมหึมาแต่ยังรักษาช่องทางเข้าถึงชิปสหรัฐฯเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของทรัมป์ต่อหัวเว่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจำกัดกีดกันไม่ให้ซื้อหาชิปนั้น มีความผันผวนไม่แน่นอน ซึ่งในท้ายที่สุดก่อให้เกิดผลพ่วงต่อเนื่องที่ร้ายแรงมากต่อธุรกิจสมาร์ตโฟนของหัวเว่ย ทว่าส่งกระทบน้อยที่สุดต่อทิศทางโคจรทางด้านเทคโนโลยีในวงกว้างของประเทศจีน
ถึงแม้ทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าของจีน โดยส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจจากความปรารถนาของเขาที่จะลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่แล้วการขาดดุลนี้กลับยังคงเพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก เมื่อมาถึงสมัยคณะบริหารไบเดน พวกเขาก็ยังคงรักษามาตรการขึ้นภาษีศุลกากรเหล่านี้เอาไว้ แล้วยังเพิ่มพวกมาตรการควบคุมทางเทคโนโลยี โดยรวมไปถึงการสั่งห้ามการส่งออกพวกเซมิคอนดักเตอร์ระดับไฮเอนด์ให้แก่บรรดาผู้ซื้อชาวจีน และการโน้มน้าวชักจูงเหล่าชาติพันธมิตรให้ระงับการขายเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้จีนอีกด้วย
ถ้าหากพวกบริษัทรถยนต์จีนไปตั้งโรงงานผลิตรถอีวีกันในสหรัฐฯ มันก็จะเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นสำหรับวอชิงตันที่จะปิดล้อมสกัดกั้นอุตสาหกรรมชิปขงจีน รถยนต์อีวีนั้นต้องการใช้ชิปที่มีระดับประณีตซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกที โดยที่แต่ละคันอาจจะต้องใช้เป็นจำนวนสูงถึง 4,000 ชิ้นทีเดียว ผลก็คือ รถอีวีแต่ละคันมีสภาพเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีล้อวิ่งได้ ดีลเรื่องรถยนต์เช่นนี้จึงอาจเป็นเครื่องหมายบอกเหตุล่วงหน้าถึงสภาพของความมีมิตรไมตรีระดับกว้างขวางยิ่งขึ้นในสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน