เอเจนซีส์ - สภาผู้แทนราษฎรวันพุธ (27 มี.ค.) ลงมติด้วยเสียง 400 จาก 415 ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของชาว LGBTQ หากได้รับไฟเขียวจากวุฒิสภาและได้รับการลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะส่งผลให้ไทยกำลังจะกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตามหลังไต้หวันและเนปาลที่นำหน้าในเรื่องนี้
เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานวันพุธ (27 มี.ค.) ว่า มติเสียง 400 จากทั้งหมด 415 ภายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธ (27) ไฟเขียวร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้สิทธิเบื้องต้นกลุ่ม LGTQ อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถหมั้น-สมรสได้
โดยภายในสภาหลังการออกเสียงมีการเฉลิมฉลองการผ่านทั้ง 2 ฝั่งยืนขึ้นและปรบมือแสดงความยินดี
ซึ่งมีภาพข่าวต่างประเทศปรากฏ 3 ส.ส. พรรคก้าวไกลถือธงสีรุ้งซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของคนกลุ่ม LGBTQ หรือกลุ่มเพศทางเลือกเพื่อการเฉลิมฉลองถึงการขยายสิทธิให้ไกลออกไป
ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการวิสามัญ ดนุพร ปุณณกันต์ แถลงผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “สิทธิเพื่อความเท่าเทียมในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ววันนี้ มันกำลังเริ่มต้น และกฎหมายอื่นเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกำลังจะตามมา”
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้โพสต์ว่า “วันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มันจะเป็นการยกระดับไทยในสายตาของทั่วโลก”
เดอะการ์เดียนชี้ว่า หากร่างกฎหมายได้รับไฟเขียวจากวุฒิสภาและได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์แล้ว ตามกระบวนการกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาและกลายเป็นกฎหมายภายใน 60 วันหลังจากนั้น จะส่งให้ไทยกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตามหลังไต้หวันและเนปาลที่นำหน้าในเรื่องนี้
ในแถลงการณ์ที่ออกมาก่อนการโหวตออกเสียง มุกดาภา ยั่งยืนภราดร จากกลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้กล่าวว่า “ไทยกำลังใกล้จะเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักชาว LGBTI+ ที่เป็นเหตุผลเพื่อการเฉลิมฉลอง แต่อย่างไรก็ตาม การไปไม่ถึงในบางส่วนของเนื้อหาของร่างกฎหมายปัจจุบันต้องได้รับการตอบสนองเพื่อให้หลักประกันต่อทุกสิทธิที่ก้าวไปถึงบุคคล LGBTI+”
ทั้งนี้ มีหลายร่างของกฎหมายฉบับนี้ที่มีการอภิปรายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาตั้งแต่ธันวาคมก่อนที่คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภา
เดอะการ์เดียนรายงานว่า มาถึงขั้นนี้ทำให้ไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าชาติใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องการสมรสของชาวสีรุ้ง ขณะที่เวียดนามได้ยกเลิกการลงโทษสำหรับการจัดการสมรสชาว LGBTQ+ เมื่อปี 2013 แต่ทว่ายังไม่มีการรับรองทางกฎหมายสำหรับการสมรสเพศเดียวกันเหมือนเช่นไทย
ส่วนทั้งมาเลเซีย พม่า และบรูไนที่ระบบกฎหมายเข้มงวดนั้นต่างลงโทษในอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชาวเกย์