xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มไกลสันติ! ญี่ปุ่นคลายกฎเปิดทางส่งออก ‘เครื่องบินขับไล่ล้ำสมัย’ ที่พัฒนาร่วมกับอังกฤษ-อิตาลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหารอีกครั้งในวันนี้ (26 มี.ค.) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งที่ 2 ในเวลาไม่ถึง 4 เดือน เพื่อเปิดทางส่งออกเครื่องบินขับไล่รุ่นล้ำสมัยที่พัฒนาร่วมกับอังกฤษและอิตาลี

รัฐบาลโตเกียวระบุว่า การผ่อนคลายกฎครั้งนี้มีผลเฉพาะกับการส่งออกเครื่องบินขับไล่ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่านั้น และจะจำกัดการส่งมอบให้เพียง 15 ประเทศที่มีข้อตกลงเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมกับญี่ปุ่น และแถลงจุดยืนสนับสนุนการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยสันติวิธีตามกฎบัตรสหประชาชาติ

ญี่ปุ่นย้ำว่า การส่งออกไปยังประเทศที่พัวพันความขัดแย้งยังคงถือเป็นสิ่งต้องห้าม

แม้จะมีการวางข้อจำกัดเอาไว้ ทว่าความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นก็ถือได้ว่าเป็นการปรับนโยบายด้านการส่งออกอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมุ่งขจัดอุปสรรคให้โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ดังกล่าว

ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Global Combat Air Programme (GCAP) ญี่ปุ่น อังกฤษ และอิตาลี ได้จัดตั้งองค์กรร่วมและกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งนำโดยบริษัท บีเออี ซิสเต็มส์ พีแอลซี บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ และบริษัท ลีโอนาร์โด โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาและประจำการเครื่องบินขับไล่รุ่นล้ำสมัยภายในช่วงทศวรรษถัดไป

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นยังคงมีกฎห้ามการส่งออก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขายเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ไปยังต่างประเทศและทำให้ผลิตได้น้อยลง ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

การเปลี่ยนกฎครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงไม่น้อยในญี่ปุ่นซึ่งยังคงใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่แสดงเจตนาฝักใฝ่สันติภาพมาตั้งแต่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้แก้กฎหมายควบคุมการส่งออกอาวุธมาแล้วรอบหนึ่ง โดยอนุญาตให้ส่งออกอาวุธสำเร็จรูป (finished goods) ไปยังประเทศที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตผลิต ซึ่งก็รวมถึงระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต ที่มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ผลิตภายใต้ใบอนุญาตจากล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นบริษัทกลาโหมรายใหญ่ของสหรัฐฯ

ทำเนียบขาวได้ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นการช่วยเติมเต็มคลังแสงของสหรัฐฯ และเปิดทางให้อเมริกาสามารถส่งอาวุธของตนเองให้ยูเครนได้มากขึ้น

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น